ปี 65 พบ "เครื่องดื่มแอลกอฮอล์" บนสื่อออนไลน์ แล้ว 2,684 โพสต์

ปี 65 พบ "เครื่องดื่มแอลกอฮอล์" บนสื่อออนไลน์ แล้ว 2,684 โพสต์

สสส. – ศวส. เผย สถานการณ์การตลาด "เครื่องดื่มแอลกอฮอล์" บนสื่อสังคมออนไลน์ หวัง เด็กและเยาวชน รู้เท่าทันกลยุทธ์การตลาดยุคใหม่ นักกฎหมาย ชี้ พรบ.คุมน้ำเมา ล้าสมัย การบัญญัติกฎหมาย ม.32 ไม่ชัดเจน

ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาวิชาการออนไลน์ “รู้เท่าทันกลยุทธ์การตลาดยุคใหม่ของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” เผยสถานการณ์การตลาด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บนสื่อสังคมออนไลน์ หวังให้เด็กและเยาวชนรู้เท่าทันปัญหาและปัจจัยเสี่ยง เพื่อสุขภาวะที่ดี

 

นางสาวกนิษฐา ไทยกล้า อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เน้นสร้างประสบการณ์ให้ผู้บริโภค ผสมผสานระหว่างการตลาดแบบออฟไลน์และออนไลน์ จากการเฝ้าระวังการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนสื่อสังคมออนไลน์ วันที่ 1 มกราคม ถึง 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 พบว่า

  • ผู้โพสต์เกี่ยวกับการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 857 บัญชีรายชื่อ
  • กระจายอยู่ในพื้นที่ 54 จังหวัด
  • จำนวนโพสต์ทั้งหมด 2,684 โพสต์

 

แพลตฟอร์มที่มีการโพสต์โฆษณามากที่สุด 

  • เฟซบุ๊ก
  • ติ๊กต๊อก
  • ไลน์

ประเภทการโพสต์ 

  • ร้อยละ 26.2 มาจากร้านขายส่ง/ปลีก
  • ร้อยละ 24.5 รีวิว/บล็อกเกอร์/อินฟลูเอนเซอร์
  • ร้อยละ 20 Official
  • ร้อยละ 17.3 ร้านอาหารและเครื่องดื่ม

 

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีการโพสต์มากที่สุด 

  • เบียร์ไทย
  • โซจู
  • สุราสีในประเทศ
  • น้ำผลไม้ผสมแอลกอฮอล์ - RTD
  • สุราสีต่างประเทศ

นางสาวกนิษฐา กล่าวต่อว่า จากการศึกษาสะท้อนการเดินทางของลูกค้ารูปแบบใหม่ 5 ขั้นตอน คือ

1.การสร้างการรับรู้ด้วยข้อความ ตรายี่ห้อ ภาพนิ่ง คลิปวิดีโอ การจัดกิจกรรมการตลาด

2.การให้ข้อมูลพิจารณา การรีวิวจากอินฟลูเอนเซอร์ คอนเทนต์เปรียบเทียบเครื่องดื่ม วิธีการดื่ม การผสมเครื่องดื่มแบบใหม่

3.การซื้อผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เว็บไซต์ E-market Place การจัดส่งถึงประตูบ้าน และการบอกสถานที่จำหน่าย

4.การรักษาลูกค้าด้วยการลด แลก แจก แถม ส่งฟรี สะสมแต้ม

5.การสนับสนุนและบอกต่อด้วยการแชร์โพสต์สาธารณะ การรีวิว การส่งข้อความทางตรง

 

แต่ละขั้นตอนมีกลุ่มเป้าหมายต่างกัน เช่น กลุ่ม Gen Z (อายุ 13-25 ปี) กลุ่ม Gen Y (อายุ 26-41 ปี) เน้นการสนับสนุนและบอกต่อ มากกว่าสร้างการรับรู้ การรักษาลูกค้า การพิจารณาหาข้อมูลและการซื้อ ขณะที่กลุ่ม Gen X (อายุ 42-57 ปี) เน้นสนับสนุนและบอกต่อ มากกว่าการพิจารณาหาข้อมูล การซื้อ สร้างการรับรู้ การรักษาลูกค้า และการซื้อ

 

นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการบริหารศูนย์กฎหมาย สุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เป็นกฎหมายบังคับใช้มานานกว่า 14 ปี มีเนื้อหาที่ไม่ทันต่อสถานการณ์ กลไกคณะกรรมการจังหวัดขาดประสิทธิภาพ หลายจังหวัดขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน การควบคุมการ โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามมาตรา 32 เป็นบทบัญญัติที่มีปัญหาการตีความและ การบังคับใช้กฎหมาย เนื่องจากความไม่ชัดเจนในการบัญญัติตัวบทกฎหมาย

รวมถึง ขาดแนวปฏิบัติในการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ เช่น ปัญหาการใช้กลยุทธ์ Brand DNA ป้ายโฆษณาน้ำแร่ น้ำดื่ม น้ำโซดา หรือการใช้ถ้อยคำที่สื่อให้ผู้บริโภคหรือประชาชนจูงใจให้หรือทำให้นึกถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นการโฆษณาแฝงของเครือข่ายธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  อีกทั้งยังพบการโฆษณาหรือทำตลาดผ่านสื่อออนไลน์เพิ่มขึ้น จึงควรมีการเสนอปรับปรุงมาตรา 32 และควรเพิ่มเติมบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง

 

ดร.ภญ.อรทัย วลีวงศ์ นักวิจัย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กล่าวว่า กิจกรรมการตลาดและการโฆษณาข้ามพรหมแดนของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (Cross-border alcohol marketing) เป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีความซับซ้อนมากขึ้นในการกระตุ้นการดื่มและดึงดูดนักดื่มหน้าใหม่ จัดเป็นความท้าทายของการทำงานเพื่อลดปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในโลกยุคดิจิทัลท่ามกลางกระแสการค้าเสรีและการเติบโตของอุตสาหกรรมแอลกอฮอล์ข้ามชาติและเกินอำนาจของประเทศใดประเทศหนึ่งในการควบคุม

 

องค์การอนามัยโลก ได้แนะนำให้ประเทศสมาชิกพัฒนากฎหมายประเทศเพื่อควบคุมการโฆษณาและกิจกรรมการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยสิ้นเชิงหรือครอบคลุมมิติต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุด โดยใช้กฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมด้วย อาทิ

  • กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค กฎหมายการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการสื่อต่าง ๆ
  • การกำหนดเงื่อนไขของใบอนุญาตจำหน่าย/บริหาร
  • มาตรการทางภาษี
  • กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนตัว

 

"ในขณะที่ประชาคมโลกควรสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในการพิจารณากฎหมายระหว่างประเทศเพื่อควบคุม ดังความสำเร็จกรณีของอนุสัญญากรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ (Framework Convention on Tobacco Control) และ หลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ (International Code of Marketing of Breast-Milk Substitutes)" ดร.ภญ.อรทัย กล่าว