มองรอบด้าน "ปัญหาสิ่งแวดล้อม" ที่ทั่วโลกและไทยต้องเผชิญ

มองรอบด้าน "ปัญหาสิ่งแวดล้อม" ที่ทั่วโลกและไทยต้องเผชิญ

ปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นปัญหาระดับโลกที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไข ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่การสร้างความตระหนักใน "วันสิ่งแวดล้อมโลก" 5 มิถุนายน ของทุกปีเท่านั้น แต่ทุกภาคส่วน ต้องช่วยกันลงมือทำ เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อม มีหลายมิติ และไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะเวลาอันสั้น

เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 65 กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดกิจกรรมวันสิ่งแวดล้อมโลก 2565 ในธีม Only one earth เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธุ์ความรู้ กลไก ด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม กระตุ้น ส่งเสริม หน่วยงานภาครัฐ เอกชน องค์กรที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชน ตระหนักรู้ เฝ้าระวัง ป้องกัน สุขภาพตนเองอย่างถูกต้อง เหมาะสม เกิดสมดุลชีวิตและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

 

“รุ่งอรุณ ญาติบรรทุง” ผู้อำนวยการกลุ่มพลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวในช่วงเสวนา Only one earth โลกยั่งยืน กับสมดุลชีวิตที่ยั่งยืน โดยระบุว่า สถานการณ์ปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลกในปัจจุบัน แม้จะเจอกับโรคระบาดปี 2562 ปัญหาสิ่งแวดล้อม ก็ไม่ได้หยุดยั้ง และยังดำเนินต่อไป

 

ปัญหาสำคัญตอนนี้ คือ “ความหลากหลายทางชีวภาพ” ของโลกลดลง มีรายงานการศึกษาหลายแห่ง พบว่า ปัจจุบัน มีการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในหลายพื้นที่ และมีเรื่องของต้นไม้ที่ถูกทำลาย สัตว์หายากบางอย่างยิ่งหายากลงไปอีก ทั้งการกระทำของมนุษย์และธรรมชาติ สอดรับกับเรื่องการขาดแคลนอาหารในอนาคต เป็นปัญหาที่ตามมาได้ในอนาคต

 

อีกหนึ่งปัญหา คือ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” หรือ โลกร้อน กระทบทั่วโลกรวมถึงไทย ปัญหาเกิดจากทั้งภัยธรรมชาติ และปัจจัยสำคัญ ที่สุดคือ การกระทำของมนุษย์ที่ต้องดูแลต่อไป

ขณะที่ ปัญหาเก่าแก่ของโลกที่มีมาอย่างยาวนาน คือ “ขยะพลาสติก” จากที่เห็นทั้งในภาพข่าวทั้งในและต่างประเทศที่เกลื้อนกลาด ทั้งผืนน้ำ ผืนดิน ขยะพลาสติกใช้เวลาย่อยสลายหลายร้อยปี หากกำจัดโดยการเผา เผาและไม่มีการจัดการที่ดี ไม่มีระบบควบคุมก็จะมีปัญหาเรื่องมลพิษทางอากาศตามมา จึงเป็นเรื่องที่ทั่วโลกรวมถึงไทยให้ความสำคัญกับปัญหาเหล่านี้

 

ปัญหาฝุ่น PM2.5 ไทย ลดลงจากปี 63

 

ปัจจุบัน จากที่ได้ยินข่าวประจำ คือ ปัญหามลพิษอากาศ โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาว ฝุ่นละออง PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ในกรณีที่มีความเข้มข้นเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัย หากคนที่หายใจเข้าไป ด้วยความเป็นฝุ่นขนาดเล็ก สามารถเข้าปอดและส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจของมนุษย์ได้ด้วย

 

จากสถิติรายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่ สผ. ได้ทำขึ้นปี 2564 เทียบกับปีเก่าๆ สถานการณ์แนวโน้มดีขึ้น ค่าความเข้มข้นโดยเฉลี่ยของประเทศลดลง 4% จากปี 2563 จากหลายปัจจัย นอกจากแหล่งกำเนิดที่อาจจะลดลงจากโรคระบาดโควิด-19 เพราะมีการจราจรลดลง ทำงานที่บ้าน อาจเป็นปัจจัยหนึ่ง

 

และปัจจัยที่สำคัญมาก คือ สภาพภูมิอากาศ หากมีความเหมาะสม มีการแพร่กระจายได้ดี ปัญหาก็จะเกิดได้น้อย แต่หากอากาศปิด ก็อาจทำให้ความเข้มข้นของฝุ่นเพิ่มขึ้นได้ จากสถิติในปี 2564 ใน กทม. ปริมณฑล พบว่า จำนวนวันที่พบค่าฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานลดลง จากปี 2563 เคยเกิน 70 วัน ปี 2564 เกินอยู่ที่ 64 วัน

โควิด-19 ขยะพลาสติกพุ่ง 

 

นอกจากเรื่องของฝุ่นแล้ว ปัญหาขยะก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาของไทย โดยเฉพาะขยะชุมชน ที่เรียกว่า “ปัญหาขยะล้นเมือง” จากสถิติที่รวบรวมของทุกหน่วยงานพบว่า ปริมาณขยะที่เกิดขึ้นภาพรวมของประเทศ 2562 – 2564 มีแนวโน้มลดลง จากการกักตัวในช่วงโรคระบาดโควิด และการ WFH ทำให้ขยะเกิดน้อยลง อย่างไรก็ตาม หากดูปัญหาขยะพลาสติก แม้ขยะโดยรวมลดลง แต่ขยะพลาสติกมากขึ้น จากการจัดส่งอาหารเดลิเวอลี่ ใช้พลาสติกที่ครั้งเดียวทิ้ง เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นองค์ประกอบของขยะชุมชนในปัจจุบัน

 

ขยะติดเชื้อ เพิ่ม 87%

 

สำหรับ ขยะติดเชื้อ นับเป็นปัญหาของประเทศ ในช่วงโควิด-19 ขยะติดเชื้อ หากดูสถิติมากขึ้นมหาศาล ในปี 2563 รายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อม พบว่า มีขยะติดเชื้อ 4.8 หมื่นตันต่อปี และในปี 2564 เพิ่มขึ้นถึง 9 หมื่นตันต่อปี หรือเพิ่มขึ้น 87% เป็นภาระที่ต้องกำจัดอย่างถูกต้อง โดยปัจจุบัน หน่วยงานรัฐ มีการร่วมมือกันจำกัดโดยการเผา หรืออบไอน้ำฆ่าเชื้อโรคด้วย แต่ตอนนี้แนวโน้มโรคดีขึ้น คาดว่าปัญหานี้จะค่อยๆ ลดลง

 

เคลื่อนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม

 

ปัญหาที่พูดถึงอย่างฝุ่น PM2.5 ซึ่งพบในทุกฤดูหนาว เป็นประเด็นระดับรัฐบาลให้ความสำคัญ เป็นวาระแห่งชาติ มีการจัดตั้งศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ มีอำนาจหน้าที่ติดตาม เฝ้าระวัง แจ้งเตือนสถานการณ์มลพิษทางอากาศและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดการ และเผยแพร่กับประชาชน เพื่อให้ปัญหานี้ลดน้อยลงที่สุด

 

นอกจากตั้งศูนย์ฯ ดังกล่าว ยังมีเรื่องของการประสานงาน ประเทศเพื่อนบ้าน เพราะฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่ได้เกิดที่ไทยแค่ที่เดียว แต่มีเรื่องหมอกควันข้ามแดน การเผาในที่โล่ง ไฟไหม้ป่า จึงมีการประสานงานให้เขาควบคุมดูแลเพื่อให้กระทบไทยน้อยที่สุด

 

จัดทำ พ.ร.บ ความหลากหลายทางชีวภาพ

 

สำหรับปัญหาเรื่องโลกร้อน ทส. มีนโยบายในการใช้ทรัพยากรเป็นไปอย่างยั่งยืน เช่น เศรษฐกิจชีวภาพ เพราะปัญหาหนึ่งของโลก คือ ความหลากหลายทางชีวภาพที่เปลี่ยนแปลงไป โดยอยู่ระหว่างการจัดทำพระราชบัญญัติ ความหลากหลายทางชีวภาพ ขึ้นมา เพื่ออนุรักษ์ ดูแล ใช้ประโยชน์ให้คงความสมบูรณ์และแบ่งปันอย่างไรให้เท่าเทียมในการใช้

 

พ.ร.บ. จัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ 

 

ในส่วนเรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียน อยู่ระหว่างจัดทำ พระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เรียกว่าเป็น ขยะอิเล็กทรอนิกส์ อนาคตต้องมีการจัดเก็บ คัดแยก และนำกลับมาใช้ เพื่อควบคุมในอนาคต

 

อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ของประเทศ คือ ขยะชุมชน รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยมีโรดแมปการจัดการขยะชุมชน และขยะอันตราย โดยเน้นในเรื่องของการใช้ประโยชน์ ทางกระทรวงให้ความสนับสนุนเต็มที่ และ โรดแมปการจัดการขยะพลาสติก โดยมีการรณรงค์จริงจังในการลดการใช้พลาสติก เห็นผล เช่น ในห้างสรรพสินค้างดแจกถุงพลาสติก ใช้ถุงผ้า ถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดี

 

พัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว 

 

รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจยั่งยืน คือ เศรษฐกิจสีเขียว โดย ทส. ขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน เป้าหมายให้สังคมมีการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างสมดุลและมีประสิทธิภาพมากที่สุด

 

สำหรับ พื้นที่อุทยานแห่งชาติ ใช้นโยบายตามมาตรฐานสากล โดยปิดอุทยานปีละ 3 เดือน ในการฟื้นฟูธรรมชาติ รวมถึง การจัดซื้อจัดจ้าง ภายใน ทส. รณรงค์จัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

เป้าหมาย Net Zero ปี 2065

 

รุ่งอรุณ กล่าวต่อไปว่า ปัญหาโลกร้อนเป็นปัญหาสำคัญ ประเทศไทยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ทส. มีนโยบายที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศเจตนารมย์ไว้ โดยในปี ค.ศ. 2050 ไทยจะต้องบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และ ในปี ค.ศ. 2065 ต้องมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์"

 

การปลูกต้นไม้ เป็นปัจจัยสำคัญ ตามเป้าหมายระยะยาว รวมถึง การแก้ไขปัญหาทั้งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาคพลังงาน ภาคขนส่ง และภาคเกษตรกรรม และการดูดกลับก๊าซเรือนกระจก

 

"การปลูกต้นไม้ ทำให้เมืองมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น เป็นส่วนหนึ่งในการดูดกลับก๊าซเรือนกระจก ดังนั้น นโยบายกระทรวงนอกจากการฟื้นฟู ปลูกป่าธรรมชาติ ยังส่งเสริมการปลูกป่าเศรษฐกิจ เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่าย” รุ่งอรุณ กล่าว 

 

สร้างความรอบรู้ ตระหนัก

 

“พญ.อุบลพรรณ วีระโจง” กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในส่วนของกรมควบคุมโรค พยายามสร้างความรอบรู้และตระหนักปัญหาสิ่งแวดล้อม เพราะไม่ใช่ปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นปัญหาของเราทุกคน หากจะแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ ก็จะลดปัญหาสุขภาพได้ด้วย โดยเริ่มจากตัวเรา ต้องมีความรอบรู้ด้านสุขภาพว่า สิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีจะส่งผลต่อเราอย่างไร

 

เรื่องของ PM2.5 ทำให้เกิดการระคายเคือง เข้าไปถึงปอดและเข้ากระแสเลือดได้ อาจจะทำให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมามากมาย เช่น โรคหลอดเลือด หัวใจวายเฉียบพลัน หอบหืด หรือมะเร็งได้ โดยแหล่งของ PM2.5 หากจากธรรมชาติ คือ ไฟป่า จุดความร้อนเพิ่มขึ้น หรือ การเผาป่า เช่น เชียงใหม่ มีจุดเผาและสภาพอากาศปิด ผลของ PM2.5 ก็จะมากกว่าพื้นที่อื่น นอกจากนั้น จากการจราจร ภาคอุตสาหกรรม ภาคการขนส่ง และภาคการเกษตร

 

ที่ผ่านมา กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม มีการออกพระราชบัญญัติโรคจากการประกอบอาชีพ และโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2562 ซึ่งจะมีการดูแลประชาชนครบวงจร ทั้งในส่วนของมลพิษ การแจ้งการสอบสวน ลงไปดูแลประชาชน นอกจากนี้ ยังมีการออกประกาศโรคจากสิ่งแวดล้อม ได้แก่ โรคจากตะกั่ว เช่น มีอาการซีด เด็กพัฒนาการช้า ฯลฯ และ โรคจาก PM2.5 ซึ่งเพิ่งประกาศโรคและอาการสำคัญ จะมีกลไกที่จะสอบสวน ดูแลประชาชนได้อย่างครบวงจรมากขึ้น ผ่านกลไก หน่วยงานระดับจังหวัดในพื้นที่

 

ดิน น้ำ ส่งผลตลอดห่วงโซ่

 

ขณะเดียวกัน ดิน ที่ปลูกพืช หากดินฝังขยะลงไป เกิดไมโครพลาสติก ขยะเป็นพิษ ต้นไม้ดูดขึ้นมาเป็นพิษ ฝนตกลงมาชะดินลงแหล่งน้ำ และเราเอาปลามากิน เป็นห่วงโซ่อาหารที่มีไมโครพลาสติก เราอาจจะเห็นว่าไม่เกี่ยวข้องกับเราและไม่ต้องทำอะไรแต่ความจริงเกี่ยวข้องกับเราทั้งหมด ขณะเดียวกัน สิ่งที่เราลืมนึกไปว่า อากาศ อาหาร โลกร้อนในตอนนี้ แล้วลูกหลานของเราที่จะเติบโตขึ้นไป เราจะมอบมรดกแบบนี้ให้เขาหรือไม่

 

ปลูกต้นไม้ใหญ่ มรดกทางสิ่งแวดล้อม 

 

พญ.อุบลพรรณ กล่าวต่อไปว่า มรดกทางสิ่งแวดล้อม ที่อยากให้ทำ คือ ปลูกต้นไม้ รวมถึงดูแล เพิ่มร่มเงา การคิดเปอร์เซ็นพื้นที่สีเขียวไม่ได้คิดว่ามีต้นไม้กี่ต้น แต่ดูผ่านดาวเทียมและดูร่มเงาของต้นไม้ว่ามีพื้นที่เท่าไหร่ ดังนั้น ต้องดูต้นไม้ใหญ่ทั้งในเมือง และต้นไม้ในป่า ดูแลอย่างไรให้สมดุล มีการจัดรุกขกร ดูแลต้นไม้ ตัดแต่งอย่างถูกวิธี จะเป็นมรดกสิ่งแวดล้อมต่อไปในอนาคต ทุกคนทำได้ ไม่ต้องรอหน่วยงานไหนปลูก เริ่มที่ตัวเรา

 

ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรค มีการจัดทำหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินเรื่องฝุ่น จะมีทั้งในส่วนของการเฝ้าระวังฝุ่น คาดการณ์ฝุ่น และการสื่อสารความเสี่ยงเรื่องฝุ่น เน้นการสื่อสารประชาชนให้เข้าใจ อยู่กับฝุ่นอย่างไรและเมื่อไหร่ที่มีปัญหาสุขภาพ โดยประชาชนสามารถสอบถามผ่านสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 หรือ เว็บไซต์กรบควบคุมโรค ซึ่งมีข้อมูลโรคที่เกี่ยวกับอากาศ รวมถึงเรื่องของอาหารปลอดภัย ส่งเสริมผักออแกนิค ส่งเสริม Green Market เป็นต้น