เปิดภาพ "6 ระยะตุ่ม" อาจเป็น "อาการฝีดาษลิง”
สธ.ระบุ WHO ประเมิน “ฝีดาษลิง” ความเสี่ยงปานกลาง แพร่กระจายช้า อาการฝีดาษลิงไม่รุนแรง ยังไม่เป็นภาวะฉุกเฉิน ทั่วโลกยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ยันยังไม่พบฝีดาษลิงในไทย
เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์โรคฝีดาษวานรหรือฝีดาษลิงในไทย ว่า กรมควบคุมโรคได้ติดตาม เฝ้าระวังอยู่ตลอด ก็หวังว่าทุกคนน่าจะดูแลตัวเองได้ ซึ่งเราต้องหลีกเลี่ยงการสัมผัส เราต้องรู้ว่ากลุ่มเสี่ยงอยู่ตรงไหน แล้วหลีกเลี่ยงการนำตัวเองเข้าไปอยู่ในจุดเสี่ยง ส่วนกรณีงาน Pride ที่สีลมนั้น คนที่ร่วมงานก็ต้องเฝ้าระวังตามวิธีปฏิบัติตน ส่วนทาง สธ.ก็ต้องเฝ้าระวังเช่นกัน ทั้งนี้ สธ.ได้แจ้งไปยังสมาคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานถึงวิธีการปฏิบัติตัว และมีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อมาตลอด
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า ฝีดาษวานร(ฝีดาษลิง) ติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยการสัมผัสสารคัดหลั่งหรือแผลของสัตว์ป่วย หรือการกินสัตว์ที่ปรุงไม่สุก และจากคนสู่คน โดยการสัมผัสใกล้ชิด โดยเฉพาะแผลของผู้ป่วย รวมทั้ง เสื้อผ้าและสารคัดหลั่งทางเดินหายใจของผู้ป่วย หรือสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อน ส่วนการติดต่อทางเพศสัมพันธ์นั้นยังเป็นการตั้งสมมติฐาน แต่ยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนเพียงพอ
ข้อมูลทางคลินิกที่สำคัญคือ ระยะฟักตัวค่อนข้างยาว 5-21 วัน อาการที่สำคัญ คือ ไข้ ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว ไม่ค่อยมีน้ำมูก หลังไข้ 1-3 วันจะมีผื่นขึ้นกระจายลำตัว แขน ขา และใบหน้าได้ ส่วนใหญ่หายเองได้ อาจมีภาวะแทรกซ้อน และเสียชีวิตได้ แต่พบไม่บ่อย โดยลักษณะตุ่มจะมีหลายแบบตามระยะ ตั้งแต่แดงๆ ต่อมาใสๆ เป็นหนอง บุ๋ม แห้ง และสะเก็ด อย่างไรก็ตาม การพบตุ่มอย่างเดียวบอกไม่ได้ว่าเป็นฝีดาษลิง เพราะจะคล้ายกับหลายโรค อาการทางคลินิกเป็นตัวช่วยอย่างหนึ่ง แต่การยืนยันต้องใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการ
สถานการณ์ทั่วโลก ข้อมูลวันที่ 5 มิ.ย.2565 มีรายงานใน 43 ประเทศ ผู้ป่วยยืนยัน 900 กว่าคน ข้อมูลนี้บอกว่าแม้กระจายหลายประเทศ แต่ลักษณะการระบาดไม่เร็ว ถ้าเทียบกับโควิด-19 เนื่องจากหลังมีรายงานพบการระบาดเป็นเดือน ถ้าเป็นโควิด-19 จะมีผู้ติดเชื้อหลัก 10 ล้านคนแล้ว ส่วนใหญ่อาการไม่ค่อยรุนแรง ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต โดยประเทศที่พบมาก อาทิ สเปน อังกฤษ โปรตุเกส แคนาดา เยอรมนี
ประเทศไทยมีการเฝ้าระวังฝีดาษลิงในไทย มีระบบคัดกรองผู้เดินทางจากต่างประเทศ กำหนดนิยามวินิจฉัยผู้ป่วย เตรียมพร้อมการตรวจทางห้องปฏิบัติการ การสอบสวน ควบคุมและป้องกันโรค และจัดหาวัคซีนหากจำเป็นต้องใช้ โดยวัคซีนที่ใช้ได้มีเพียงวัคซีนฝีดาษคน แต่มีผู้เริ่มทำการศึกษาวิจัยวัคซีนฝีดาษลิงโดยเฉพาะแล้ว คาดว่าจะรู้ผล และนำมาใช้เร็วๆ นี้ ไทยเองก็มีการติดตาม และประสานอยู่ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังมีวัคซีนฝีดาษคนอยู่ในคลังขององค์การเภสัชกรรมอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบแล้วว่ายังมีชีวิตต้องมาพิจารณาว่าจะใช้อย่างไร รวมถึงประสานไปยังองค์การอนามัยโลกซึ่งมีสต็อกวัคซีนอยู่จำนวนหนึ่งด้วย แต่สถานการณ์ขณะนี้ยังไม่จำเป็นต้องใช้วัคซีน แต่ไม่ได้ประมาท มีการประสานเตรียมความพร้อมเอาไว้
“องค์การอนามัยโรคประเมินความเสี่ยงปานกลาง ยังไม่เป็นภาวะฉุกเฉิน แม้เจอหลายประเทศ แต่กระจายไม่เร็ว อาการไม่รุนแรง ไม่จำกัดการเดินทางของคน เพียงเตือนให้ระมัดระวัง และจัดระบบเฝ้าระวัง ซึ่งประเทศไทยดำเนินการแล้ว และยังไม่พบฝีดาษลิงในไทย เคยมีผู้ต้องสงสัย 6 ราย แต่พบว่าเป็นเชื้อเริม ความเสี่ยงของประเทศไทยอาจพบผู้ป่วยเกิดขึ้น เพราะประเทศไทยปิดรับผู้เดินทางจากทั่วโลก แต่เชื่อว่าถ้าความร่วมมือที่ดี จะสามารถตรวจจับผู้ป่วย และควบคุมโรคไม่ให้แพร่ระบาดออกไปได้ และขอให้ติดตามข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ที่จะนำเรียนเป็นระยะ ถ้าประชาชนท่านใดมีอาการสงสัยสามารถไปปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยต่อไป” นพ.โอภาส กล่าว
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์