อภ.เร่งผลิตยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีได้เอง คาดพร้อมใช้จริงต.ค.2565
อภ.เร่งผลิตยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี พร้อมเดินหน้าขึ้นทะเบียนการผลิตจาก อย. คาดใช้จริงเดือน ต.ค. 2565 ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงยา ระบุลดค่ารักษา ภาครัฐจากเดิมคอร์สละ 2 หมื่นบาท
วันนี้ (12 มิ.ย.2565) ภญ.ศิริกุล เมธีวีรังสรรค์ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่าการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี เป็นสิทธิประโยชน์การรักษาในระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศ ซึ่งตามมาตรฐานการรักษา มียาสูตรรวมเม็ด (Sofosbuvir+Velpatasvir) รับประทาน 12 สัปดาห์ สามารถรักษาไวรัสตับอักเสบซีให้หายขาดได้ ซึ่งองค์การเภสัชกรรมรับหน้าที่ผลิตยาดังกล่าว
อภ.ผลิตยา"ไวรัสตับอักเสบซี" คาดใช้จริงต.ค.นี้
ภญ.ศิริกุล กล่าวต่อว่าที่ผ่านมาการจัดหายาไวรัสตับอักเสบซี ให้แก่ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานประกันสังคม (สปส.) นั้นจะมีราคาต่อคอร์สการรักษาอยู่ที่ประมาณกว่า 20,000 บาท โดยผู้ป่วยต้องรับประทานยาติดต่อกันต่อคอร์สประมาณ 3 ขวด ขวดละ 28 เม็ด ซึ่งหากทานติดต่อกันจะหายขาดได้
อย่างไรก็ตาม องค์การเภสัชกรรม สามารถผลิตได้เอง และล่าสุดได้รับทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) แล้ว แต่เนื่องจากอยู่ในขั้นตอนการขึ้นทะเบียนจึงจำเป็นต้องผ่านกระบวนการผลิตตามมาตรฐานที่กำหนด โดยต้องผลิตให้ได้คุณภาพอย่างสม่ำเสมอก็จะสามารถผลิตจำหน่ายได้ คาดพร้อมใช้ภายในเดือนตุลาคม 2565
ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซี ประมาณ 4 แสนราย
ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยจำนวนผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบ ซี ในประเทศไทยมีประมาณ 400,000 ราย ในจำนวนนี้ เกิดภาวะตับแข็งประมาณ 80,000 ราย และมะเร็งตับประมาณ 3,200 รายต่อปี กระทรวงสาธารณสุขจึงเพิ่มยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบ ซี ในบัญชียาหลักแห่งชาติ บัญชี (จ2) เพื่อเป็นสิทธิประโยชน์สำหรับคนไทย และใช้แนวทางการวินิจฉัยด้วยวิธี Test and Treat เพื่อให้ผู้ติดเชื้อได้รับการตรวจวินิจฉัยยืนยันและได้รับยารักษาเร็วที่สุด
โดยให้โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไปดูแลผู้ป่วย และเปิดโอกาสให้แพทย์ทั่วไปที่ผ่านการฝึกอบรม สามารถจ่ายยาและติดตามการรักษาผู้ป่วยได้ โดยมีอายุรแพทย์ด้านระบบทางเดินอาหารหรืออายุรแพทย์ที่ปฏิบัติงานด้านระบบทางเดินอาหารเป็นที่ปรึกษา