ไฟเขียว คนไทยใช้ "ชุดตรวจเอชไอวี"คัดกรองติดเชื้อด้วยตนเอง
คกก.เอดส์ชาติ เห็นชอบใช้ชุดตรวจ HIV Self-Test คัดกรองด้วยตนเอง เจาะเลือดปลายนิ้ว ทราบผลไว เข้าสู่ระบบป้องกันและรักษาที่รวดเร็ว
วันนี้ (15 มิถุนายน 2565) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ ครั้งที่ 1/2565 โดยมี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมประชุม ทั้งแบบออนไซต์และออนไลน์
ดร.สาธิต กล่าวว่า ในวาระที่ประเทศไทยเป็นประธานคณะกรรมการบริหารโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS Programme Coordinating Board: PCB) ปี 2565 มีประเด็นสำคัญที่จะต้องเน้นขับเคลื่อนในเรื่อง เยาวชน การลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติ โดยกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ และ UNAIDS ซึ่งมีแผนจัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนบทบาทประเทศไทยในเวทีนานาชาติ โดยกำหนดการประชุม 2 ครั้ง คือ การประชุม UNAIDS PCB ครั้งที่ 50 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-24 มิถุนายน 2565 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมประชุมและทำหน้าที่ประธาน มีผู้เข้าร่วมประชุม 22 ประเทศ และครั้งที่ 51 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 ธันวาคม 2565 ซึ่งจัดที่ประเทศไทย นับเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญของพลังภาคีเครือข่ายประชาคมโลกที่จะร่วมกันขับเคลื่อนการยุติการตีตราและยุติปัญหาเอดส์ให้ได้ภายในปี 2573
ดร.สาธิต กล่าวต่อว่า สำหรับที่ประชุมวันนี้มีการพิจารณาและเห็นชอบ 2 เรื่อง คือ 1.ให้ชุดตรวจ HIV Self-Test เป็นเครื่องมือส่งเสริมให้ประชาชนทราบสถานะการติดเชื้อเอชไอวีโดยเร็ว เพื่อเข้าสู่ระบบการป้องกัน เช่น เพร็พ (PrEP) ยาป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อเอชไอวี และการรักษาด้วยยาต้านไวรัส โดยให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงการตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเอง โดยสมัครใจ เป็นความลับ สะดวก รวดเร็ว ไม่มีค่าใช้จ่าย หรือหาซื้อเองได้ ในราคาที่เหมาะสม โดยให้ทุกภาคส่วนนำกลยุทธ์การตลาดเพื่อสังคม หรือแนวทางอื่น ๆ เพื่อให้ราคาของชุดตรวจลดลง และส่งเสริมการเข้าถึงได้กว้างขวางและรวดเร็ว ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีชุดตรวจที่ผ่านการขึ้นทะเบียนจำนวน 2 แบบ คือ การเจาะเลือดที่ปลายนิ้วมือ ซึ่งรู้ผลภายใน 1 นาที และการใช้สารน้ำในช่องปาก อ่านผลได้ใน 20 นาที แต่ยังมีข้อจำกัดในการจำหน่ายที่ร้านขายยาซึ่งยังไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ
2. ร่างแผนปฏิบัติการที่มีงบประมาณกำกับ เพื่อลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากเอชไอวีและเพศสภาพทุกรูปแบบ บนความร่วมมือของโครงการ “ประเทศไทยสานพลัง : ยุติการตีตราและการเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากเอชไอวีทุกรูปแบบ” พ.ศ. 2565 - 2569 เพื่อใช้เป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะเร่งรัดสู่การยุติปัญหาเอดส์ของประเทศไทย ในอีก 9 ปีข้างหน้า ในที่ประชุมได้ให้หน่วยงานภาครัฐเป็นตัวอย่างในการดำเนินงานตามแนวปฏิบัติแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและบริหารจัดการด้านเอดส์ในสถานที่ทำงาน ภายใต้แนวคิดองค์กร “ดูแล ห่วงใย ใส่ใจป้องกันเอดส์ในที่ทำงาน” นำหลักการ U=U (Undetectable = Untransmittable) หรือ ตรวจไม่พบเชื้อ = ไม่ถ่ายทอดเชื้อ ส่งเสริมให้ผู้มีเชื้อเอชไอวีคงอยู่ในระบบการรักษา ถือเป็นมาตรการสำคัญที่นำมาใช้ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ และเร่งสื่อสารสร้างความตระหนักและความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับหลักการ U=U เพื่อลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากเอชไอวีและเพศสภาพทุกรูปแบบ
ทั้งนี้ จากการคาดประมาณสถานการณ์เอชไอวีในประเทศไทย พบว่า ปี 2565 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวี จำนวน 520,345 คน และมีผู้ติดเชื้อที่รู้สถานะ จำนวน 491,017 คน สอดคล้องกับผลการเฝ้าระวังพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มนักเรียน กองระบาด พ.ศ. 2562 พบว่า มีอัตราการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งในนักเรียน ยังคงต่ำกว่าเป้าหมาย ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ทำให้ติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ รวมถึงยังมีบางส่วนที่ไม่ทราบสถานะการติดเชื้อของตนเอง เนื่องจากส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีในระยะแรก ไม่แสดงอาการ จะทราบได้ก็ต่อเมื่อได้ตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีเท่านั้น ปัจจุบันเทคโนโลยีการตรวจรักษาการติดเชื้อเอชไอวีก้าวหน้ามากขึ้น
โดยมีการตรวจแบบทราบผลในวันเดียว (same day result) และการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเอง (HIV self test) ส่งผลให้การเข้าถึงการตรวจคัดกรองหาการติดเชื้อเอชไอวีมากขึ้น และเมื่อผู้ติดเชื้อรู้สถานะการติดเชื้อของตนเองเร็ว แล้วเข้าสู่ระบบการรักษาได้เร็ว กินยาอย่างต่อเนื่อง สามารถกดปริมาณเชื้อไวรัสลดลงได้จนตรวจไม่พบเชื้อ ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และอีกทางเลือกหนึ่งในการป้องกันเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ด้วยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์