ดราม่า "ลางาน" พาพ่อแม่ไปหาหมอ แต่เจอหัวหน้าตอบกลับมาแบบนี้ทำโซเชียลเดือด
ดราม่า "ลางาน" พาพ่อแม่ไปหาหมอ แต่เจอหัวหน้าตอบกลับ "อย่าหัดให้พ่อแม่เป็นคนอ่อนแอ" จนโซเชียลวิจารณ์สนั่น! ล่าสุดเพจดัง กฎหมายแรงงาน ได้ออกมาให้ความเห็นกรณีดังกล่าวแล้ว
จากกรณีดราม่าเดือด พนักงานรายหนึ่งได้ "ลางาน" เพื่อพาพ่อกับแม่ไปหาหมอ แต่เจอหัวหน้าตอบกลับมาว่า "อย่าหัดให้พ่อแม่เป็นคนอ่อนแอ" ซึ่งเรื่องนี้ทำเอาชาวโซเชียลต่างพากันวิพากษ์วิจารณ์กันเป็นจำนวนมาก
ล่าสุดวันนี้(16 มิถุนายน 2565) เพจเฟซบุ๊ก "กฎหมายแรงงาน" ได้ออกมาตอบในประเด็นดังกล่าวโดยระบุว่า ดราม่าเดือด "ลางาน" พาพ่อแม่ไปหาหมอ เจอหัวหน้าตอบกลับ "อย่าหัดให้พ่อแม่เป็นคนอ่อนแอ"
ต้องเข้าใจว่ากฎหมายให้สิทธิมาตรา 34 ที่ให้ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นได้ ปีละไม่น้อยกว่า 3 วันทำงาน โดยได้รับค่าจ้างตลอดระยะเวลา
เมื่อลูกจ้างขอใช้สิทธิ นายจ้างหรือหัวหน้างานก็ควรพิจารณาไปตามสิทธิของเขา โดยพิจารณาว่าเป็น "กิจธุระอันจำเป็น" หรือไม่
ในกรณีนี้ลูกจ้างอ้างการพาพ่อแม่ไปหาหมอก็น่าจะถือว่าจำเป็นและต้องดำเนินการด้วยตนเอง ซึ่งการ "ลากิจ" สามารถลาเพื่อไปทำกิจธุระอันจำเป็นของครอบครัวก็ได้ เช่น การไปร่วมงานสมรส หรืองานบวชของบุตร หรืองานศพของบุคคลในครอบครัว หรือจะลาเพื่อไปทำกิจการของตัวเอง เช่น ทำบัตร ทำใบขับขี่ จดทะเบียนสมรส เป็นต้น
การทำหน้าที่พาพ่อแม่หรือพาบุตรไปพบแพทย์ พาไปฉีดวัคซีน ย่อมถือเป็นกิจอันจำเป็น เพราะการดูแลผู้บุพการี หรือบุตร กฎหมายได้กำหนดให้เป็นพันธะทางศีลธรรม (Moral Obligation) ที่ต้องทำ
ส่วนที่ว่า "อย่าหัดให้พ่อแม่อ่อนแอ" น่าจะมีการศึกษาเรื่องนี้ไม่ถ่องแท้ เพราะคนแก่ไม่ต้องหัด เขาก็อ่อนแอ แต่จะอ่อนแอมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับการสะสมและล้างผลาญสุขภาพ ซึ่ง TDRI ได้ศึกษาเอาไว้ดูท้ายโพสต์
โดยสรุปเรื่องนี้ : การลาพาพ่อแม่ไปพบแพทย์ถือเป็นกิจอันจำเป็นตามกฎหมาย อีกทั้งยังเป็นไปตามนโยบายภาครัฐที่เรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
สิ่งที่นายจ้างหรือหัวหน้างานพึงระลึกอยู่เสมอว่า มาตรา 34 ให้ลาได้ปีละ 3 วันทำงาน หากลูกจ้างใช้สิทธิลาหมดแล้ว สิทธิของลูกจ้างก็หมดไป ดังนั้นนโยบายการ "ลากิจ" จึงไม่จำเป็นต้องเคร่งครัดหรือตึงมาก
ส่วนลูกจ้างเมื่อ "ลากิจ" หมด แต่หากมีกิจธุระอันจำเป็นก็อาจใช้สิทธิวันหยุดพักผ่อนประจำปี ซึ่งกฎหมายให้สิทธิได้ 6 วันต่อปีโดยได้รับค่าจ้าง
- TDRI การวิจัยเรื่อง ระบบการดูแลระยะยาว ข้อเสนอทางเลือกสิทธิประโยชน์ของหลักประกันการดูแลระยะยาว (คลิก)
- คำชี้แจงกระทรวงแรงงาน เรื่อง พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 หน้า 4-5