"การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์" ภัยใกล้ตัว กับสัญญาณเตือนที่ห้ามประมาท
"การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์" หรือ Cyber Bullying นั้นส่งผลเสียโดยตรงต่อจิตใจ เพราะฉะนั้นคนรอบข้างและการเตรียมพร้อมรับมือเป็นสิ่งสำคัญ
วันที่ 18 มิ.ย. ของปีนี้นับว่าเป็น "วันหยุดการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์" หรือ "Stop Cyber Bullying Day" ที่เกิดขึ้นโดยมูลนิธิ CyberSmile เมื่อปี 2556 โดยถือเอาวันศุกร์ที่ 3 ของเดือนมิถุนายน โดยปีแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2556
จุดเริ่มต้นของวันหยุดการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ เริ่มขึ้นเมื่อปี 2556 ที่ครูในสหราชอาณาจักรมาถึง 92% เคยถูกกลั่นแกล้งทางอินเตอร์เน็ต ทั้งการใช้ถ้อยคำทำร้ายจิตใจและการสร้างความเกลียดชัง
จึงได้เสนอผ่านรัฐสภาของสหราชอาณาจักร ให้ลงมติให้มีวันนี้ขึ้นมาเพื่อป้องกันการกลั่นแกล้งทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามที่สามารถทำลายคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยของเด็กและคนหนุ่มสาว จึงต้องการให้มีวันนี้ขึ้นมาเพื่อสร้างความปลอดภัยให้ลูกหลานในอนาคต
โดยวันหยุดการกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์ จะถูกเผยแพร่บนโลกออนไลน์ โดยผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั่วโลกจะร่วมกันรณรงค์โดยติดแฮชแท็ก #StopCyberbullyingDay เพื่อให้หยุดการกลั่นแกล้งบนอินเทอร์เน็ต
ความหมายของ Cyber Bullying
Cyber Bullying คือ การกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์ กลั่นแกล้งผ่านเทคโนโลยี ผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ เช่น ภาพ เสียง ข้อความข่มขู่ทางโทรศัพท์หรือแพลตฟอร์มการแชทหลากหลายรูปแบบ นอกจากนั้นยังมีการด่าทอ การโพสต์รูปหรือวิดีโอของเหยื่อลงโซเชียลเพื่อให้เหยื่อเกิดความอับอาย รวมถึงการหลอกลวงโดยปลอมตัวเป็นบุคคลอื่น แน่นอนว่าการถูกกลั่นแกล้งเมื่อนานวันเข้ามักจะส่งผลกระทบต่อตัวเหยื่อ
ผลกระทบที่เกิดจากการที่เหยื่อถูกไซเบอร์บูลลี่ โดยเฉพาะในเด็ก ได้แก่
1. ส่งผลต่อความรู้สึกโดดเดี่ยว
2. ส่งผลกระทบต่อการนอนหลับ
3. ส่งผลต่อการทานอาหาร
4. สูญเสียความสนใจในกิจกรรมที่เคยสนุก
5. ภาวะซึมเศร้าต่อเนื่องถึงวัยผู้ใหญ่
สัญญาณเตือนว่า เด็กอาจกำลังถูกกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์
1. อารมณ์เสียหลังใช้อินเทอร์เน็ต หรือ โทรศัพท์
2. กังวลใช้หลังใช้โทรศัพท์มือถือ หรือ คอมพิวเตอร์
3. แยกตัวจากกลุ่ม หรือครอบครัว ไม่ร่วมกิจกรรมตามปกติ
4. เกรดตก หรือ ไม่มีสมาธิในงานที่ทำ สิ่งที่ต้องรับผิดชอบ
5. มีความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ เช่น พฤติกรรม การนอน ความอยากอาหาร
สำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหา ญาณี รัชต์บริรักษ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. ได้เคยให้คำแนะนำไว้ว่าต้องเริ่มที่ตัวเด็กเองก่อน เมื่อเจอปัญหาต้องรู้จักตั้งสติ อย่าวู่วามและทำตาม ดังนี้
1. STOP ไม่ตอบโต้ด้วยวิธีเดียวกัน
2. BLOCK ปิดกั้นคนที่กลั่นแกล้ง
3. TELL ขอความช่วยเหลือจากคนที่เราไว้ใจ
4. REMOVE ลบข้อความ หรือภาพที่โดนกลั่นแกล้ง
5. BE STRONG เข้มแข็ง อดทน ยิ้มสู้ อย่าให้ใครมาทำร้าย ทำให้เราเศร้าหมองได้
สุดท้ายนี้ "การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์" ยังถือว่าเป็นภัยร้ายใกล้ตัว ไม่ว่าจะกับเด็กหรือผู้ใหญ่ เพราะคนในสังคมส่วนใหญ่มีปฏิสัมพันธ์กันผ่านโลกโซเชียล และด้วยความรวดเร็วของการสื่อสารอาจทำให้เราลืมตระหนักไปว่า ข้อความหรือโพสต์ต่างๆ ที่เราโพสต์ลงไปแล้วนั้นส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมกับใครหรือไม่