รวมทุกเรื่องที่ "Transgender" ต้องรู้ ก่อนผ่าตัด "ข้ามเพศ"  

รวมทุกเรื่องที่ "Transgender" ต้องรู้ ก่อนผ่าตัด "ข้ามเพศ"  

แพทย์ฯ รพ. ยันฮี เปิดเบื้องหลังผ่าตัด "ข้ามเพศ" (Gender Affirming Surgery) กับชีวิตใหม่ที่เลือกได้ รวมทุกข้อที่ "Transgender" ต้องรู้ ก่อนตัดสินใจผ่าตัด และดูแลตัวเองหลังผ่าตัด

ปัจจุบัน สังคมเปิดรับ ความหลากหลายทางเพศ มากขึ้น และมีกว่า 30 ประเทศทั่วโลก ที่ผ่านร่างกฎหมาย สมรสเท่าเทียม จากเดิมที่เราคุ้นเคยกับคำว่า "LGBT" แต่ปัจจุบัน มีความหลากหลายมากกว่านั้น คือ LGBTQIA+

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : เปิดตัวย่อ “LGBTQIA+” คืออะไร มาจากไหน

 

ทั้งนี้ "การผ่าตัดแปลงเพศ" ในกลุ่ม (T) หรือ Transgender ซึ่งหมายถึง คนข้ามเพศ  กลุ่มคนที่มีคนมีอัตลักษณ์ทางเพศหรือการแสดงออกทางเพศที่แตกต่างจากเพศกำเนิด ทำให้ต้องมีใช้กระบวนการเปลี่ยนผ่านทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดแปลงเพศ และการใช้ฮอร์โมนกระตุ้น เพื่อให้เป็นเพศนั้น ๆ ได้อย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

 

และแน่นอนว่า ขั้นตอนกว่าจะเปลี่ยนจาก "หญิงเป็นชาย" หรือ "ชายเป็นหญิง" ไม่ใช่เรื่องง่าย ตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงตอนสุดท้าย สิ่งสำคัญ คือ "การวินิจฉัย" โดยจิตแพทย์เพื่อให้แน่ใจได้ว่า คนๆ นั้นคือกลุ่ม Transgender ที่แท้จริง รวมถึงต้องได้รับการดูแลภายใต้คำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ผลลัพธ์ออกมาปลอดภัยมากที่สุด 

 

"นพ.สุกิจ วรธำรง" แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมตกแต่ง ศูนย์ศัลยกรรมตกแต่ง โรงพยาบาลยันฮี กล่าวในเสวนา หัวข้อ “เปิดเบื้องหลังผ่าตัดข้ามเพศ (Gender Affirming Surgery) กับชีวิตใหม่ที่เลือกได้” ภายในงาน “BANGKOK PRIDE 2022” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จัดโดย โรงพยาบาลยันฮี ร่วมกับ เพจเฟซบุ๊ก SPECTRUM โดยอธิบายว่า แต่ก่อนเราเรียกว่าผ่าตัดแปลงเพศ แต่ตอนนี้มีการพัฒนาคำเรียกเป็น “ผ่าตัดยืนยันสภาพเพศ”  จุดประสงค์คือผ่าตัดเปลี่ยนแปลงร่างกายตรงกับความต้องการ ในกลุ่ม (T)  คือ Transgender  ซึ่งมีความต้องการเปลี่ยนแปลงสภาพร่างกายให้ตรงกับจิตใจ เมื่อโลกพัฒนา ความก้าวหน้าทางการแพทย์ลึกซึ้ง มีแนวทางในการดูแลกลุ่มนี้ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก 

 

รวมทุกเรื่องที่ \"Transgender\" ต้องรู้ ก่อนผ่าตัด \"ข้ามเพศ\"  

ก้าวแรก ผ่าตัดแปลงเพศ

 

ก้าวแรกที่สำคัญของการแปลงเพศ นั่นคือ การประเมินสภาพจิตใจจากจิตแพทย์จำนวน1- 2 ท่านตั้งแต่เริ่มแรก เพื่อประเมินตัวตนให้ชัด จิตแพทย์จะเป็นเพื่อนร่วมทางที่ดีที่สุด เปรียบเหมือนผู้ช่วยที่จะทำให้ผู้เข้ารับการแปลงเพศค้นหาตัวเองได้ และจะเป็นผู้ดูแลเพื่อให้ผู้เข้ารับการแปลงเพศสามารถยอมรับและเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย รวมถึงปรับการใช้ชีวิตประจำวันกับเพศใหม่ได้อย่างเหมาะสม

 

ทำไมจิตแพทย์จึงสำคัญ ?

 

นพ.สุกิจ อธิบายให้ "กรุงเทพธุรกิจ" ฟังว่า กลุ่มที่เข้าสู่ขั้นตอนผ่าตัดแปลงเพศ ต้องเป็นกลุ่ม T เท่านั้น เพราะหากเป็นกลุ่มอื่นไปผ่าตัด โศกนาฎกรรมแน่นอน เพราะจะเป็นการวินิจฉัยที่ผิด 

 

ยกตัวอย่างกลุ่ม L หรือ เลสเบี้ยน (Lesbian) เขาเป็นผู้หญิง แต่ไม่ได้มีความต้องการเปลี่ยนแปลงร่างกายเป็นผู้ชาย บางครั้งอยากผ่าตัดแปลงเพศเพื่อตอบสนองบัดดี้ แต่สุดท้ายหากเลิกกันไป ร่างกายเขาเปลี่ยนกลับมาเป็นผู้หญิงไม่ได้ จะกลายเป็นเรื่องยาก ดังนั้น ช่วงที่เขากำลังตัดสินใจ อาจจะเป็นช่วงที่มีอะไรบดบังอยู่ จิตแพทย์จะแยกตรงนี้ออกได้ 

 

"กลุ่ม T คือ เขามีความต้องการเปลี่ยนแปลงร่างกาย เพื่อให้ตรงกับจิตใจ ซึ่งตรงนี้จะชัดเจน ดังนั้น จิตแพทย์ต้องพูดคุยหลายครั้งเพื่อให้แน่ใจ และทำแบบทดสอบ หากทำแบบทดสอบไม่ผ่าน จะมั่นใจได้ว่าใครที่ไม่ใช่กลุ่ม T ซึ่งในต่างประเทศเจอเยอะ ในอดีตไม่มีการวินิจฉัยเหล่านี้ สุดท้ายเดินไปจนสุดแล้วพบว่าไม่ใช่ ก็กลับมาไม่ได้ แล้วเขาจะอยู่อย่างไรกับร่างกายของเขาไปอีกกว่า 30-40 ปี สุดท้ายก็ฆ่าตัวตาย เป็นประวัติศาสตร์การแพทย์ในสมัยก่อน แต่จากการทำงานที่ รพ.ยันฮี มากว่า 20 ปี ยังไม่พบเคสดังกล่าว"

 

รวมทุกเรื่องที่ \"Transgender\" ต้องรู้ ก่อนผ่าตัด \"ข้ามเพศ\"  

จิตแพทย์ แยกโรคอื่นๆ ด้วย 

 

"นพ.สุกิจ" กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ จิตแพทย์จะสามารถแยกโรคอื่นได้อีกด้วย บางคนมีโรคทางจิตเวชซ่อนอยู่ข้างใน จิตแพทย์จะวินิจฉัยตรงนี้ได้ เช่น ความเครียด พารานอยด์ ไบโพลาร์ ภาวะซึมเศร้า ฯลฯ พวกนี้ไม่เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิต แต่เป็นอุปสรรคต่อการข้ามเพศ เพราะกลายเป็นซึมเศร้าทีหลัง ทั้งๆ ที่เขาเป็นกลุ่ม T ดังนั้น ต้องควบคุมไว้ก่อน จิตแพทย์ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญและดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้โดยเฉพาะ ไม่ใช่จิตแพทย์ทั่วไป ต้องมีแบบทดสอบพิเศษ เปรียบเสมือนกระชอนร่อนว่ากลุ่ม T มีโรคอะไรซ่อนอยู่ข้างใน เพื่อรักษาก่อนผ่าตัด

 

"บางคนไม่รู้ว่าตัวเองเป็นกลุ่ม T หรือไม่ แม้จะวินิจฉัยแล้วว่าเป็นกลุ่ม Transgender จริง แต่ก็ยังไม่แน่ใจ เคสยากจริงๆ ต้องพบจิตแพทย์หลายครั้ง ขณะที่ เคยมีเคสต่างชาติที่ต้องเข้าพบแพทย์กว่า 10-20 ครั้ง เพื่อบำบัด อธิบายให้เข้าใจ ให้ยาช่วย บรรเทาอาการ ก่อนเข้าสู่กระบวนการ"  

 

ควร "เทคฮอร์โมน" ตามคำแนะนำของแพทย์ 

 

อีกจุดหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือ การเทคฮอร์โมนภายใต้การดูแลของแพทย์ เราพบว่า คนส่วนใหญ่จะซื้อฮอร์โมนกินเองตามโฆษณาชวนเชื่อ หรือการบอกต่อในสังคมโซเชียล โดยไม่ปรึกษาแพทย์ เพราะไม่ตระหนักถึงอันตรายที่ตามมา เช่น การใช้ยาฮอร์โมนในปริมาณมากเพื่อเร่งผลลัพธ์ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว หรือใช้ผิดประเภท ผิดขนาด อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด

 

ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในกลุ่มคนข้ามเพศนั่นเอง ดังนั้น การใช้ฮอร์โมนตามคำแนะนำของแพทย์จึงจะปลอดภัยมากกว่า เพราะจะมีการตรวจติดตามสุขภาพ และสามารถตรวจพบความผิดปกติหรือปัญหาสุขภาพได้ทันท่วงที ซึ่งแพทย์อาจมีการปรับยา และ/หรือ สั่งยาเพิ่ม ตามความเหมาะสมของแต่ละคน

 

ข้ามเพศจาก "หญิง" เป็น "ชาย" 

 

นพ.สุกิจ ในฐานะผู้มีความเชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดแปลงเพศจาก หญิงเป็นชาย (FTM) อธิบายต่อไปว่า หลังจากผ่านกระบวนการพบจิตแพทย์ หลังจากนั้น บางคนอาจจะตัดหน้าอกไปก่อน ตัดมดลูกยังไม่ได้เพราะต้องเทคฮอร์โมนอย่างน้อย 1 ปีเป็นมาตรฐานโลก เพื่อให้เปลี่ยนสภาพร่างกาย บางคนผอม พอกินฮอร์โมนผู้ชายเข้าไป กล้ามขึ้น หนวดเคราขึ้นโอเคหรือไม่ เป็นตัวช่วยวินิจฉัยและแยกโรคด้วย 

 

ผู้หญิงถ้าไม่ใช่กลุ่มนี้จริง โดนฮอร์โมนผู้ชายเข้าไป เคราขึ้น สิวขึ้น บางคนรับสภาพร่างกายไม่ได้ เขาจะเปลี่ยนใจ ต้องตรวจใหม่ว่าใช่หรือไม่ใช่ แต่หากเป็นกลุ่มนี้จริง เครา หนวดขึ้น ไม่มีประจำเดือน เขาจะดีใจมาก ทั้งๆ ที่เป็นผู้หญิง ดังนั้น การให้ฮอร์โมนมีประโยชน์ทั้งการวินิจฉัย และคอนเฟิร์มการวินิจฉัย 

 

"สำหรับคนที่ให้ฮอร์โมนไปแล้ว รู้สึกว่าตัวเองไม่ใช่ ก็หยุด ร่างกายจะค่อยๆ กลับมาเป็นเหมือนเดิม แต่หากให้ฮอร์โมนนานหลายปี บางคนก็กลับมาเหมือนเดิมไม่ได้"

 

การผ่าตัด ควรศึกษาให้ถ่องแท้

 

สุดท้าย เมื่อก้าวเข้าสู่กระบวนการผ่าตัดแปลงเพศ ไม่ว่าจะแปลงเป็นชายหรือหญิงก็ตาม ถือเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญที่สุด ควรศึกษากระบวนการให้ถ่องแท้ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกทีมแพทย์ที่มีประสบการณ์มีความชำนาญโดยเฉพาะ วิธีการผ่าตัดที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล สถานพยาบาลที่ได้มาตรฐานความปลอดภัย เพื่อให้เกิดความมั่นใจสูงสุด

 

"หลังจากวินิจฉัยเสร็จเรียบร้อย หลักการที่ผ่าตัดแปลงสภาพ คือ ตัดอวัยวะที่ไม่ต้องการออกและสร้างอวัยวะแทน  การผ่าตัดจากหญิงไปชาย จุดหลักคือ ไม่ต้องการหน้าอก ตัดมดลูก รังไข่เป็นขั้นตอนที่ 1 พักฟื้น 3-6 เดือน"

 

หลังจากนั้น ปิดช่องคลอด ปิดท่อปัสสวะ และทำท่อปัสสาวะให้ยาวขึ้น สร้างอวัยวะเพศชาย สร้างอัณฑะ ใช้เวลา ราว 1 ปี หากทำต่อเนื่องกัน แต่โดยทั่วไป สามารถหยุดขั้นตอนไหนได้ตามที่คนไข้ต้องการ เปลี่ยนมากน้อยแล้วแต่คนไข้ ขั้นตอนที่สำคัญที่สุด คือ การวินิจฉัย

 

ข้ามเพศจาก "ชาย" เป็น "หญิง"

 

ด้าน "นพ.วรพล รัตนเลิศ" ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้าน ศัลยกรรมแปลงเพศจากชายเป็นหญิง อธิบายว่า ในแง่ของการเปลี่ยนชายเป็นหญิง สิ่งสำคัญที่สุด คือ การวินิจฉัย แต่ในไทยร้อยละ 80 ขึ้นไป คนไข้วินิจฉัยตัวเองอยู่แล้ว หากอยู่ในห้องตรวจ คนไข้มาแต่งตัวหญิง ไม่ต้องกัวลว่าวินิจฉัยผิด แต่มาตรฐานทั่วโลกต้องพบจิตแพทย์

 

"การประเมินก่อนผ่าตัดสำคัญ และการเลือกวิธีการผ่าตัด เป็นการจำเพาะบุคคลและแพทย์ เน้นว่าคนไข้ต้องคุยกับแพทย์เยอะ ศึกษาวิธีที่เราเลือก มีรายละเอียดอย่างไร สิ่งที่คนไข้ได้รับอยากให้เป็นการตัดสินใจของผู้ผ่าตัดไม่ใช่หมอเลือกให้ การข้ามเพศ ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแพทย์แต่ละคน ทั้งนี้ แนะนำว่า ให้พบแพทย์เฉพาะทางที่ทำด้านนั้น เชี่ยวชาญด้านนั้นจะมีความปลอดภัยมากที่สุด 

 

"หลังจากแปลงเพศ จะมีการติดตามช่องคลอดที่ต้องขยาย แนะนำว่า ให้พบหมอสม่ำเสมอ เจอปัญหาอะไรให้ปรึกษาแพทย์เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ตรงและอัพเดท บางคนเจอปัญหาที่คาดไม่ถึง คือ ท่อปัสสาวะอักเสบ ต้องดูจากสาเหตุอะไร การขยายช่องคลอด ควรเข้ามาติดตามกับหมออย่างใกล้ชิด" นพ.วรพล กล่าว 

 

รวมทุกเรื่องที่ \"Transgender\" ต้องรู้ ก่อนผ่าตัด \"ข้ามเพศ\"  

 

ผ่าตัดเสร็จ จบเลยหรือไม่ 

 

นพ.สุกิจ อธิบายว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพร่างกายตามเพศที่ต้องการ ไม่จบแค่การผ่าตัด สิ่งที่ต้องดูแลต่อ คือ สภาพร่างกายส่วนอื่น การคงสภาพร่างกายต่อไป ทั้งสองเพศ ต้องสูญเสียแหล่งให้ฮอร์โมนของร่ายกายทั้งสองกลุ่ม หากผู้หญิงตัดมดลูกรังไข่ จะกลายเป็นผู้หญิงวัยทองตั้งแต่อายุยังน้อย ส่วนผู้ชายก็เช่นกัน จากเดิมที่เข้าสู่วัยทอง 50-60 ปี

 

"สิ่งที่ตามมาจากที่เสียฮอร์โมน ร่างกายจะเป็นหญิงชายแก่ทันที ทั้งที่อายุน้อย กระดูกเริ่มพรุน เส้นเลือดหัวใจตีบ ผิวหนังหยาบกราน เปลี่ยนเป็นคนแก่ทันที หากไม่มีฮฮร์โมนจากภายนอกไปทดแทนร่างกายจะเข้าสู่ภาวะที่ไม่ปกติ" 

 

ดังนั้น ต้องได้รับการให้ฮอร์โมนจากภายนอก โดยแพทย์ต้องดูแลไปตลอดช่วงอายุ เช่น หญิงเป็นชาย คนที่ร่างกายแข็งแรง ทำงานหนัก ต้องได้รับในระดับที่สูง แต่หากอายุ 50 ปี ใช้ร่างกายน้อยลง ก็ไม่จำเป็นต้องให้เยอะ ต้องคอยปรับ ขณะที่ ชายเป็นหญิง ก็ต้องมีแพทย์ฮอร์โมนดูแลตลอดชีวิต คอยปรับสภาพร่างกาย ดังนั้น การทำงาน จึงจำเป็นต้องมีแพทย์หลายสาขา ตั้งแต่ผ่าตัดจนถึงระยะยาวหลายสิบปี 

 

จำกัดอายุผ่าตัด "ข้ามเพศ" หรือไม่

 

นพ.สุกิจ กล่าวต่อไปว่า โดยทั่วไป ต้องเดินตามข้อบัญญัติของแพทยสภา กำหนดให้ทำได้ในอายุเกิน 20 ปีขึ้นไป หากต่ำกว่านั้น ต้องมีพ่อแม่เซ็นรับรอง โดยเฉพาะต่ำกว่า 18 ปี ทำไม่ได้ ต้องมีใบวินิจฉัยจากแพทย์ และมีใบรับรองค่อนข้างเยอะ แต่หากอายุ 20 ปี สามารถตัดสินใจด้วยตัวเอง

 

"การผ่าตัดในผู้ที่อายุมาก ต้องดูเรื่องสุขภาพโดยรวม มีโรคประจำตัวที่เป็นอุปสรรคหรือไม่หากชายเป็นหญิง ผ่าตัดไม่ยุ่งยากมาก อายุเท่าไหร่ก็ได้แค่วางยาสลบแล้วไม่เป็นอะไร  และต้องผ่าตัดด้วยความระมัดระวัง การวางยาสลบสมัยนี้ค่อนข้างปลอดภัย โดยอายุมากที่สุดที่มารับการผ่าตัด คือ เกือบ 80 ปี เพราะความคิดของเขาคือต้องการหลุดพ้นจากสภาพร่างกายที่เขาเป็น เป็นความยืนยันจากเขาที่อยากจะเสียชีวิตในร่างกายที่เขาต้องการ"

 

ขณะเดียวกัน การผ่าตัด หญิงเป็นชาย ค่อนข้างยาก เพราะต้องผ่าตัดโดยใช้กล้องจุลทัศน์ช่วย ต้องการเส้นเลือดที่แข็งแรงในการต่อเส้นเลือด ย้ายเนื้อเยื่อ ดังนั้น อายุไม่ใช่อุปสรรคก็จริง แต่ต้องประเมินให้ดี เพราะการต่อเส้นเลือดให้ผู้ที่อายุมากจะมีปัญหา โดยอายุมากที่สุดที่เข้าผ่าตัดจาก หญิงเป็นชาย คือ 60 ปี

 

พบปัญหาหลังผ่าตัด แก้ไขได้หรือไม่

 

จากข้อคำถามที่ว่า หากพบปัญหาหลังผ่าตัดจากที่อื่น สามารถมาแก้ไขที่ รพ.ยันฮี ได้หรือไม่ "นพ.สุกิจ" อธิบายว่า หลังจากที่ผ่าตัด ปัญหาเกิดขึ้นอยู่ที่แต่ละวิธี เช่น ชายเป็นหญิง จะพบปัญหา ช่องคลอดตีบ ปัสสาวะไม่สะดวก ก็ต้องสร้างใหม่ และดูรูปร่างภายนอกด้วยว่าแก้ไขได้หรือไม่ แต่การแก้ให้ได้ผล 100% ก็จะยาก ขณะที่ การผ่าตัดจากหญิงเป็นชายก็จะยากไปอีก ในอดีตจะมีหลายวิธีไม่เหมือนกัน การแก้ไขหากทำไปแล้ว เนื้อเยื้อที่จำเป็นต้องใช้ในการสร้างอวัยวะก็สามารถแก้ไขได้ มีเคสที่ทำจากเกาหลี มารื้อใหม่ ต้องประเมินว่าจะแก้ได้หรือไม่ เพราะเนื้อเยื้อที่จะใช้มันเสียหายไปแล้วก็จะทำไม่ได้

 

แปลงเพศแล้ว เปลี่ยนใจได้หรือไม่ 

 

"ทั้งนี้ ที่ผ่านมา มีเคสจากต่างประเทศ ซึ่งมีการผ่าตัด จากชายเป็นหญิง ผ่านไป 10 กว่าปี อยากกลับเป็นผู้ชาย ถามว่าทำได้หรือไม่ โดยทฤษฎีทำยาก เพราะเนื้อเยื้อถูกทำลายไปหมด การสร้างขึ้นมาใหม่ต้องเลาะเนื้อเก่าออกหมด รื้อช่องคลอดอันเก่าออก และเนื่องจากไม่ใช่ช่องคลอดธรรมชาติ บางทีอาจจะทะลุลำไส้ กระเพาะปัสสาวะ ความเสี่ยงสูงมาก หากเกิดขึ้นจะทำให้แก้ไขยากมาก และโอกาสล้มเหลวเยอะ ไม่อยากให้คนไข้เสี่ยง โดยกรณีดังกล่าว พบบ่อยในอดีต ก่อนที่จะมีมาตรฐานการดูแล หากติดกระดุมติดเม็ดแรกก็จะผิดยาว สุดท้ายก็จะเกิดโศกนาฏกรรมทางการแพทย์ ดังนั้น การวินิจฉัยถูกตั้งแต่แรกสำคัญมาก" นพ.สุกิจ กล่าว

 

ศึกษาข้อมูลละเอียดก่อนตัดสินใจ

 

ด้าน "นพ.สุพจน์ สัมฤทธิวณิชชา" ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยันฮี กล่าวทิ้งท้ายว่า ผู้ที่ตั้งใจแปลงเพศควรเริ่มจากศึกษาข้อมูลให้ละเอียดก่อนตัดสินใจเปลี่ยนกายให้ตรงกับจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มต้นเทคฮอร์โมนเพศ หรือเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศ และควรได้รับการดูแลทางด้านจิตใจอย่างเหมาะสม เช่น การปรึกษาแพทย์ คนรอบข้างที่เข้าใจ คนในครอบครัวสนับสนุน เป็นต้น

 

"ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงในชีวิตที่ยิ่งใหญ่และซับซ้อน ที่สำคัญผลของการเปลี่ยนแปลงนี้จะยังคงอยู่กับเราตลอดไป ด้วยเหตุนี้ก่อนเข้าสู่กระบวนการผ่าตัดแปลงเพศ เราจึงต้องตัดสินใจให้ถี่ถ้วนและรอบคอบที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้สามารถมีชีวิตใหม่ได้อย่างมั่นใจและมีความสุข” นพ.สุพจน์ กล่าว