“Start up” เด็กหัวการค้าเน็กซ์เจน แก้ปัญหาสุขภาพ ดูแลสิ่งแวดล้อม
“Start up” ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มของคนรุ่นใหม่ เพราะ Startup ไม่ได้จำกัดเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หากมีไอเดีย มีความคิดสร้างสรรค์ ความสามารถด้านเทคโนโลยี เพื่อช่วยคิดค้นนวัตกรรมช่วยแก้ปัญหา ยกระดับคุณภาพชีวิต
“แคมป์เด็กหัวการค้า ซีซั่น 8 ปี” ในธีม Start Up Camp (สตาร์ทอัพ แคมป์) อีกหนึ่งกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เหล่าน้องๆ มัธยมศึกษาได้เข้าร่วมเดินตามความฝัน เป็น “ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพเน็กซ์เจน” ภายใต้ คอนเซ็ปต์ Design Your Future, Follow Your Dreams
- “Start up”เน็กซ์เจน สร้างนวัตกรรมแก้ปัญหา
“ตี๋ ศุภณัฏฐ์ กิติยายิ่งเจริญ” นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะบริหารธุรกิจ สาขาการเงิน ซีอีโอทีม Infinity เล่าว่าตนอยากเป็นผู้ประกอบการ อยากเป็นนักธุรกิจ Start Upมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมศึกษา เพราะ Start Up ถือเป็นการทำธุรกิจด้วยการคิดค้นนวัตกรรมในการแก้ปัญหาเรื่องต่างๆ ที่เราสนใจต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : เด็กหัวการค้า' ปล่อยหนังสั้นแคมเปญ 'FOLLOW YOUR DREAMS'
:ม.หอการค้าฯ สร้างบัณฑิตสู่โลกการทำงาน รับมือ "Disruption"
เมื่อทางมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้จัดแคมป์เด็กหัวการค้าก็ได้ตัดสินใจเข้าร่วม ซึ่งซีซั่นล่าสุด เป็นครั้งที่ 2 ที่ได้เข้าแคมป์ดังกล่าว และเป็นธีมที่เราสนใจมากๆอยู่แล้ว
“การเข้าร่วมแคมป์หอการค้าในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งอยากจะต่อยอดไอเดียจากการเข้าร่วมแคมป์ครั้งแรก ซึ่งในครั้งนี้ ต้องการทำ Start Up เกี่ยวกับ Re-Coin เพื่อช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับขยะ เพราะตอนนี้ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะถือเป็นปัญหาที่ทุกคนทั่วโลกต้องช่วยกัน ดังนั้น Re-Coin จะเป็น Business Model ในการให้นำขยะหรือวัสดุเหลือใช้ที่ยังสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ซ้ำได้ มาแลกเป็นเหรียญคริปโต” ตี๋ ศุภณัฏฐ์ กล่าว
- Re-Coin เปลี่ยนขยะให้เป็นเหรียญคริปโต
นวัตกรรม Re-Coin จะเป็นการนำขยะวัสดุเหลือใช้กลับมารีไซเคิลใช้ซ้ำ ผ่านตู้รับซื้อขยะที่สามารถตีมูลค่าของขยะชิ้นนั้น ๆ ได้ ซึ่งเมื่อได้มูลค่าที่เหมาะสม ผู้ใช้บริการจะสามารถรับเหรียญคริปโตผ่านแอพลิเคชั่น โดยที่ฝั่งผู้รับซื้อสามารถนำขยะที่ได้ไปใช้ประโยชน์อื่น ๆ ต่อไปในภาคอุตสาหกรรม
“ผมอยากเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม เนื่องจากโลกในขณะนี้ขยะเยอะมาก และขยะเหล่านี้เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คน และปัญหาขยะก่อให้เกิดโลกร้อน ส่งผลต่อทั้งชีวิตของผู้คนเอง และสิ่งมีชีวิตบนโลกนี้ ก่อนจะทำเรื่องนี้ จึงได้ศึกษาเศรษฐกิจหมุนเวียน และแนวคิดของปัจจุบันขยะมันเยอะเกินไป และพึ่งไม่นาน ได้ไปศึกษาเศรษฐกิจหมุนเวียน และแนวทางของ โมเดลเศรษฐกิจใหม่ หรือ BCG Economy เพื่อลดขยะ ช่วยโลกของเรา” ตี๋ ศุภณัฏฐ์ กล่าว
ทีม Infinity มาสมาชิกทั้งหมด 11 คน ซึ่งเป็นการจำลองบริษัท Start Up ที่มีแผนกต่างๆ โดยมี “ตี๋ ศุภณัฏฐ์” เป็นซีอีโอของบริษัท ได้มีการเรียนรู้การเป็นผู้บริหาร และผู้ประกอบการที่ไม่ได้มุ่งเพียงกำไร แต่ต้องการช่วยให้ผู้มาใช้บริการ ใช้นวัตกรรมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
- นวัตกรรมแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ช่วยรักษ์โลก
ตลอดระยะเวลาในการได้เข้า “แคมป์เด็กหัวการค้า ซีซั่น 8 ปี” ทำให้ “ตี้ ศุภณัฏฐ์” ได้เรียนรู้กระบวนการทำงาน การบริหารงาน การทำงานเป็นทีม การแบ่งงาน และมีความรับผิดชอบมากขึ้น เพราะข้อจำกัดของแคมป์ คือเรื่องของเวลาที่มีเพียง 2 วัน 1 คืน แล้วแต่ละทีมต้องทำงานตลอด เป็นเสมือนการทำงานในชีวิตจริงๆ
ตี้ ศุภณัฏฐ์ กล่าวต่อไปว่าการทำงานในชีวิต คงต้องแข่งขันกับเวลา และต้องไม่หยุดสร้างสรรค์ พัฒนา หรือเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ดังนั้น การรับผิดชอบในหน้าที่ของแต่ละคนจึงสำคัญอย่างมาก ตอนนี้กำลังพัฒนาต่อยอดสู่ e-book เพื่อให้ทุกคนได้ช่วยกันแก้ปัญหาขยะ และสิ่งแวดล้อม เข้าถึงทุกคนได้ง่ายขึ้น
“การเข้าค่าย Start Up ครั้งนี้ เป็นเหมือนการเติมไฟให้แก่ตัวเอง เปิดมุมมองใหม่ๆ จากอาจารย์ จากเพื่อน และได้จำลองการทำธุรกิจ Start Upจริงๆ ทำให้เราได้ทดลองทำ สานฝันของตัวเอง โดยเฉพาะในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่งแล้วจะแก้ได้ ทุกคนต้องช่วยกันดูแล รักษา และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่เพิ่มขยะ” ตี้ ศุภณัฏฐ์ กล่าว
Start Up ไม่จำเป็นต้องเป็นแอปพลิเคชั่น เพียงแต่รู้จักการวิเคราะห์ปัญหา และอยากจะแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาการเงิน สิ่งแวดล้อม การบริหาร หรืออะไรก็ตาม สามารสร้างนวัตกรรม และทำธุรกิจ Start Upได้
- “เกราะพยุงสันหลัง” ช่วยดูแลผู้ป่วยกระดูก
เช่นเดียวกับ “แมน วงษสรวง ได้ผล” นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซีอีโอ ทีม We’re Never Give Up ที่ได้เข้าร่วมแคมป์เด็กหัวการค้า Start Up กล่าวว่าสนใจทำธุรกิจ Start Up เพราะอยากจะคินค้นนวัตกรรมในการช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ทำให้คุณภาพชีวิตของทุกคนดีขึ้น รวมถึงเป็นการสานฝันตัวเอง
Start Up ที่ได้ทำร่วมกับทีมครั้งนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพ เพราะได้มีโอกาสพูดคุยกับรุ่นน้องในทีม และพบว่าน้องเป็นกระดูกสันหลังคด เราก็อยากสร้างนวัตกรรมที่จะช่วยให้น้องใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบาย และดีขึ้น
“ผลิตภัณฑ์ชุดเกราะพยุงสันหลัง" สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการทางกระดูกสันหลัง ซึ่งนอกจากจะได้ข้อมูลจากน้องที่เป็นโรคนี้โดยตรงทั้งการใช้ชีวิต การรักษา การดูแลตัวเองต่างๆ ก็ได้มีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคกระดูกสันหลังคดจากทีมแพทย์ และเทคนิคการแพทย์
"เกราะพยุงสันหลังที่จัดทำนั้น จะมีระบบตรวจจับเซนเซอร์หากมีอาการของกระดูกสันหลัง และ เชื่อมต่อและส่งข้อมูลไปกับแอปพลิเคชั่นที่สามารถนำไปสู่การวินิจฉัย เพื่อให้แพทย์ประเมินแนวทางการรักษาต่อไป"แมน วงษสรวง กล่าว
นอกจากนั้น ยังสามารถใช้ได้ในกลุ่มวัยทำงานที่ต้องนั่งทำงานเป็นเวลานานๆ เพื่อป้องกันแก้ปัญหาจากภาวะออฟฟิศซินโดรม สามารถช่วยให้ผู้ที่ยังมีสุขภาวะปกติ สามารถปรับบุคลิกภาพการทำงานที่เหมาะสมได้
แมน วงษสรวง กล่าวต่อว่าการเข้าแคมป์ดังกล่าว ทำให้เราได้จัดทำแผนธุรกิจ และจำลองการเปิดบริษัทจริงๆ ให้เรามีประสบการณ์ในการทำงาน ต้องเรียนรู้การทำงานเป็นทีม มองทัศนคติในการทำงาน เพื่อนำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรม
ทำให้ได้มุมมองของผู้บริหาร มีภาวะผู้นำ และทักษะการสื่อสาร ว่าเมื่อต้องไปคุยกับผู้ใหญ่ต้องคุยอย่างไร แคมป์ Start Up ของเด็กหัวการค้าได้ให้ประสบการณ์ที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตจริง
- ทำธุรกิจ Start Up ต้องลองผิดลองถูกลองพลาด
การจะทำธุรกิจ Start Up ให้ประสบความสำเร็จได้นั้น ต้องมีการลองผิดลองถูก ซึ่งในแคมป์ ทำให้ผมได้ลองผิดลองถูก และลงมือคิด ลงมือพลาด ยิ่งพลาดจะยิ่งเก่ง ทำธุรกิจบนพื้นฐานการสร้างคุณค่าหรือมากกว่ามูลค่า
ผศ.กนกกาญจน์ บัญชาบุษบง ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการสื่อสารการตลาด มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวเสริมว่า กิจกรรม Start Up Camp #แคมป์เด็กหัวการค้า ปีที่ 8 เปิดรับเด็กรุ่นใหม่ ที่มีไฟและใจรักในการก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการ Start Up ซึ่งเต็มเปี่ยมด้วยไอเดียสร้างสรรค์ โดยคัดเลือกจากผู้เข้าสมัครกว่า 500 คน เหลือเพียง 120 คนที่ได้เข้าร่วมกิจกรรม
โดยพิจารณาจากไอเดียธุรกิจที่ตอบโจทย์กับคำว่า “สตาร์ทอัพ” มากที่สุด และได้มีการแบ่งออกเป็น 3 บ้าน ได้แก่ Business House, Digital House และ Creative House เพื่อเปิดพื้นที่สำหรับเด็กทุกคนที่มีความสามารถที่หลากหลาย ให้ได้มีโอกาสได้พัฒนาศักยภาพ และเสริมสร้าง Business Mindset ให้แข็งแกร่ง
กิจกรรมดังกล่าว เป็นจุดประกายฝันผู้ประกอบการรุ่นเล็ก อย่าง Start Up Camp #แคมป์เด็กหัวการค้า จะสมบูรณ์ไม่ได้หากขาดกำลังสำคัญจากกลุ่มพันธมิตรที่คอยให้การสนับสนุนมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในทุกโอกาสเสมอมา
"ในโอกาสนี้ขอขอบคุณ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท สหพัฒนพิบูลจำกัด (มหาชน) ที่ช่วยผลักดันให้เกิดโครงการสร้างสรรค์เพื่อขับเคลื่อนเยาวชนคนรุ่นใหม่ ตลอดจนคณะกรรมการ คณาจารย์ทุกท่าน วิทยากร ขอบคุณทีม Senior Staff ทุกคน และทีมผู้จัดงาน และขอขอบคุณสำหรับทุกความฝันที่มาช่วยกันเติมเต็มเรื่องราวให้ #แคมป์เด็กหัวการค้า ของเรามีเรื่องเล่าสู่น้อง ๆ ในรุ่นถัดไป”ผศ.กนกกาญจน์ กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับกิจกรรม Start Up Camp #แคมป์เด็กหัวการค้า ซีซั่น 8 เป็นโครงการที่ได้รับการพัฒนาต่อยอดมาจากโครงการ “โครงการสร้างผู้ประกอบการรุ่นเล็ก” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดต่อเนื่องทุกปีการศึกษา
ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ปรับปรุงและพัฒนาวิธีการสร้างมุมมองที่เติบโตแก่เยาวชนที่มีวิสัยทัศน์ในการก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการ เพื่อให้มีศักยภาพและเตรียมพร้อมสู่การเป็นนักธุรกิจสตาร์ทอัพ
โดยผู้ร่วมกิจกรรมจะได้สัมผัสกับบรรยากาศที่กระตุ้นให้เกิดการระดมความคิดเพื่อสร้างนวัตกรรมแบบเร่งด่วน หรือ Hackathon ตลอดจนการรวมกลุ่มเพื่อจำลองธุรกิจสตาร์ทอัพที่เข้มข้น และนำเสนอแนวความคิดต่อคณะกรรมการเพื่อให้คณะกรรมการได้พิจารณามอบทุนการศึกษาในระดับปริญญาตรีตลอดหลักสูตรและของรางวัลอื่น ๆ ตามลำดับ