รมว.เฮ้ง ห่วงลูกจ้าง "JSL" สั่ง กสร. เร่งดูแลช่วยเหลือสิทธิตามกฎหมาย

รมว.เฮ้ง ห่วงลูกจ้าง "JSL" สั่ง กสร. เร่งดูแลช่วยเหลือสิทธิตามกฎหมาย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ห่วงลูกจ้าง บริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด "JSL" ที่จะถูกเลิกจ้าง สั่ง "กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน" และหน่วยงานในสังกัด เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงและช่วยเหลือลูกจ้างให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีที่สื่อมวลชนเสนอข่าวว่า บริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด "JSL" แจ้งเลิกจ้างพนักงาน จำนวน 89 คน โดยให้มีผลการเลิกจ้าง ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมนี้ เป็นต้นไป ตนได้สั่งการให้ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เฝ้าระวังและให้ส่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 4 ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงทันที

 

ในเบื้องต้นได้รับทราบข้อมูลว่า บริษัทฯ มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่เลขที่ 154 ซอยลาดพร้าว 107 ถนนลาดพร้าว แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ประกอบกิจการผลิตรายการโทรทัศน์ สาเหตุการเลิกจ้างนั้นเนื่องจากบริษัทฯ ขาดทุนสะสมมาโดยตลอด เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมสื่อ ทำให้การดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ได้รับผลกระทบอย่างมากจึงจะยุติการดำเนินงานบางส่วนลง

นายสุชาติ ยังกล่าวต่อว่า ผมได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัด กระทรวงแรงงาน เข้าช่วยเหลือลูกจ้างบริษัทดังกล่าว โดยจะเข้าไปให้คำปรึกษา แนะนำ ข้อกฎหมายและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ลูกจ้างพึงได้รับตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและกฎหมายประกันสังคม พร้อมทั้งเตรียมตำแหน่งงานว่างรองรับกรณีลูกจ้างมีความประสงค์จะหางานใหม่ หรือหากลูกจ้างต้องการเปลี่ยนสายงานหรือเพิ่มทักษะด้านอาชีพก็สามารถเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานได้ทันที

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า 
ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าว สามารถยื่นคำร้อง คร.7 กรณี ค่าจ้างค้างจ่าย ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และเงินอื่นตามที่ตกลงกับนายจ้าง และยื่นคำขอรับเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างต่อพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในพื้นที่ 4 (เขตคันนายาว บางกะปิ ลาดพร้าว บึงกุ่ม วังทองหลาง)

 

โทรศัพท์ 0 2510 2806 หรือยื่นคำร้อง คร.7 ผ่านระบบรับคำร้องอิเล็กทรอนิกส์กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หรือโทรสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 3 หรือ 1546 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้