“SENA” เตรียมยื่นสิทธิ์ให้ลูกบ้านโซลาร์ ขายไฟส่วนเกิน ตอบโจทย์ยุคค่าไฟแพง
SENA เดินหน้ายื่นสิทธิ์ให้ลูกบ้านโซลาร์รูฟท็อปขายไฟส่วนเกิน ตามโครงการโซลาร์ภาคประชาชนรอบใหม่ของรัฐ ที่เปิดซื้ออัตรา 2.20 บาทต่อหน่วย มั่นใจมีส่วนช่วยลดการใช้พลังงานให้ไทยวางเป้าพัฒนาธุรกิจ ยึดหลัก ESG ในการพัฒนาธุรกิจยั่งยืนสร้างสังคมสีเขียว
ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SENA ผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำทั้งแนวราบและแนวสูง เปิดเผยว่า จากความสำเร็จในการพัฒนาโครงการหมู่บ้านใช้พลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้านที่อยู่อาศัย (โซลาร์รูฟท็อป) เต็มรูปแบบรายแรกของไทยซึ่งในปัจจุบันได้รับความสนใจจากผู้บริโภคมากขึ้น เนื่องจากช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและลดค่าครองชีพ หลังจากแนวโน้มค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ
- คาดปลายปีค่าไฟปรับขึ้น 40 สตางค์ต่อหน่วย
“คาดว่าจะมีการปรับค่าไฟในช่วงรอบปลายปีขึ้นประมาณ 40 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟขึ้นเป็น 4.40 บาท/หน่วยและมีแนวโน้มจะปรับเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ดังนั้น การติดตั้งโซลาร์ทำให้ทุกบ้านช่วยลดรายจ่าย โดยเฉพาะในส่วนค่าไฟที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังช่วยส่วนนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในยุคพลังงานแพง" ผศ.ดร.เกษรา กล่าว
ปัจจุบันเสนา ได้ติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปทุกโครงการทั้งประเภทบ้านที่อยู่อาศัย คอนโดมิเนียมบริเวณพื้นที่ส่วนกลาง โดยมี บริษัท เสนา โซลาร์ เอเนอร์ยี่ จำกัด บริษัทฯ ในเครือที่ดำเนินธุรกิจเพื่อติดตั้ง ให้คำปรึกษา และการบริการหลังการขายอย่างครบวงจร
มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีในการออกแบบโดยวัสดุมีคุณภาพเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีบ้านที่ติดตั้งโซลาร์แล้วจำนวน 47 โครงการ แบ่งเป็นแนวสูง 22 โครงการ แนวราบ 25 โครงการ รวมกว่า 700 หลังคาเรือน คิดเป็นการผลิตไฟกว่า 2,000 กิโลวัตต์ โดยทำโมเดลเป็นกรณีศึกษาความคุ้มค่าของการติดตั้งโซลาร์
- กลุ่มผู้ใช้ลูกบ้านโซลาร์ฯประหยัดไฟ
โดยใช้กรณีของบ้านที่มีการติดตั้งขนาด 3 กิโลวัตต์ ซึ่งเป็นขนาดมาตรฐานการใช้งานทั่วไป แบ่งกลุ่มเป็นผู้ใช้ 3 กลุ่ม ประกอบด้วย
1.กลุ่มทำงานที่บ้าน (Work From Home) มีอัตราเฉลี่ยการใช้ไฟฟ้า จากโซลาร์ 3.5 ชั่วโมงต่อวัน หรือ 116.5 ชั่วโมงต่อเดือน โดยคำนวณบนพื้นฐานของอายุการใช้งานแผงโซลาร์ 25 ปี และมีสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า 10 ปี ซึ่งได้คำนวณจากค่าไฟฟ้าปัจจุบัน ที่ 4.40 บาทต่อหน่วย โดยคาดการณ์อัตราเพิ่มขึ้นค่าไฟฟ้าปีละ 2% สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้ 742,036 บาท
พร้อมทั้งยังขายไฟฟ้าส่วนที่เหลือ เป็นเวลา 10 ปี ตามสัญญารับซื้อไฟฟ้า ที่ 2.20 บาทต่อหน่วย สามารถสร้างผลตอบแทน 30,492 บาท ซึ่งจะทำให้เกิดความคุ้มค่าโดยรวม ทั้งการประหยัด และรายได้จากการขายไฟฟ้า ทั้งสิ้น 772,528 บาท
2.กลุ่มผู้สูงอายุ เด็ก คนทำงานนอกบ้าน มีอัตราเฉลี่ยการใช้ไฟฟ้า จากโซลาร์ 2.5 ชั่วโมงต่อวัน หรือ 97.5 ชั่วโมงต่อเดือน โดยคำนวณบนพื้นฐานของอายุการใช้งานแผงโซลาร์ 25 ปี และมีสัญญาการซ้อขายไฟฟ้า 10 ปี ซึ่งได้คำนวณจากค่าไฟฟ้าปัจจุบัน ที่ 4.40 บาทต่อหน่วย
โดยคาดการณ์อัตราเพิ่มขึ้นค่าไฟฟ้าปีละ 2% สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้ 621,018 บาท พร้อมทั้งยังขายไฟฟ้าส่วนที่เหลือ เป็นเวลา 10 ปี ตามสัญญารับซื้อไฟฟ้า ที่ 2.20 บาทต่อหน่วย สามารถสร้างผลตอบแทน 45,540 บาท จะทำให้เกิดความคุ้มค่าโดยรวม ทั้งการประหยัด และรายได้จากการขายไฟฟ้า ทั้งสิ้น 666,558 บาท
- อัตราเฉลี่ยใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์
3.กลุ่มคนทำงานนอกบ้าน มีอัตราเฉลี่ยการใช้ไฟฟ้า จากโซลาร์ 1 ชั่วโมงต่อวัน หรือ 63 ชั่วโมงต่อเดือน โดยคำนวณบนพื้นฐานของอายุการใช้งานแผงโซลาร์ 25 ปี และมีสัญญาการซ้อขายไฟฟ้า 10 ปี ซึ่งได้คำนวณจากค่าไฟฟ้าปัจจุบัน ที่ 4.40 บาทต่อหน่วย
คาดการณ์อัตราเพิ่มขึ้นค่าไฟฟ้าปีละ 2% สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้ 401,273 บาท พร้อมทั้งยังขายไฟฟ้าส่วนที่เหลือ เป็นเวลา 10 ปี ตามสัญญารับซื้อไฟฟ้า ที่ 2.20 บาทต่อหน่วย สามารถสร้างผลตอบแทน 72,864 บาท จะทำให้เกิดความคุ้มค่าโดยรวม ทั้งการประหยัด และรายได้จากการขายไฟฟ้า ทั้งสิ้น 474,137 บาท
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดโครงการโซลาร์รูฟท็อปภาคประชาชนรอบใหม่ปี 2565 ประเภทบ้านที่อยู่อาศัย ที่มีขนาดกำลังการผลิตติดตั้งไม่เกิน 10 กิโลวัตต์
โดยจะรับซื้อไฟฟ้ารวมไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) 5 เมกะวัตต์ และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 5 เมกะวัตต์ อัตรารับซื้อราคา 2.20 บาทต่อหน่วยซึ่งลูกบ้านเสนาจะได้ประโยชน์จากการขายไฟฟ้าจากที่เหลือใช้ได้อีกด้วย โดยเสนาเตรียมยื่นขอสิทธิ์ให้ลูกบ้านที่พร้อมเสนอขายไฟส่วนเกินภายใต้โครงการดังกล่าว
“โซลาร์ภาคประชาชนรอบแรกนั้นกำหนดรับซื้อไฟส่วนเกินที่ 1.68 บาทต่อหน่วยซึ่งเสนาได้ยื่นขอสิทธิ์ให้ลูกบ้านเพื่อขายไฟฟ้าให้ 6 โครงการ จำนวนกว่า 216 ราย คิดเป็น 430 กิโลวัตต์ และปี 2565 ได้เปิดโซลาร์ภาคประชาชนรอบใหม่รับซื้ออีกไม่เกิน 10 เมกะวัตต์และเพิ่มอัตรารับซื้อไฟส่วนเกินเป็น 2.20 บาทต่อหน่วยซึ่งจะส่งผลดี ดังนั้นเสนาเตรียมยื่นขอสิทธิ์ให้ลูกบ้านในรอบใหม่อีกเช่นเดิม” ผศ.ดร.เกษรา กล่าว
- มุ่งสร้างสังคมสีเขียวในหมู่บ้านและโครงการ
ทั้งนี้ เสนา มุ่งพัฒนาสร้างสังคมสีเขียวขึ้นในหมู่บ้านและโครงการต่างๆ ทั้งการนำนวัตกรรมเทคโนโลยี การผลิตไฟฟ้าไปใช้ในส่วนกลาง โดยการศึกษาการพัฒนาโซลาร์ลอยน้ำในแหล่งน้ำของโครงการ การติดตั้งโซลาร์บนหลังคาจอดรถในพื้นที่ส่วนกลาง และการให้บริการชาร์จไฟฟ้า กับรถยนต์ไฟฟ้า ภายในหมู่บ้าน
ขณะนี้กำลังเป็นทิศทางของการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในเขตเมืองมากขึ้น โดยโครงการต่างๆ ที่พัฒนาขึ้น เสนาฯได้นำหลักการ ESG หรือ Environment, Social, Governance เข้ามาพัฒนาผลิตภัณฑ์ การบริการที่ควบคู่กับการดูแลสังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาธุรกิจให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน
ภายใต้แนวคิด Made From Her "ถ้าคิดละเอียดกว่า ก็อยู่สบายกว่า" ที่ใช้ความละเอียดในการกลั่นกรอง ใส่ใจในทุกขั้นตอน เพื่อสร้างความแตกต่างในสินค้าและบริการ เพราะเสนาฯ เชื่อว่า "ความละเอียดจะทำให้เราสามารถมอบสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูกค้าได้"