กรมการแพทย์ออกแนวทางรักษาโควิด-19 ฉบับใหม่ ปรับยากลุ่มมีปัจจัยเสี่ยง

กรมการแพทย์ออกแนวทางรักษาโควิด-19 ฉบับใหม่ ปรับยากลุ่มมีปัจจัยเสี่ยง

กรมการแพทย์ออกแนวทางรักษาโควิด-19 ฉบับใหม่ ปรับลำดับยากลุ่มมีปัจจัยเสี่ยง อย.ระบุ “โมลนูพิราเวียร์-แพกซ์โลวิด” ยังขึ้นทะเบียนใช้ในภาวะฉุกเฉิน แต่รพ.เอกชนสามารถจัดซื้อเองได้หากผู้ผลิตมีของขายให้ หารือขยายเปิดฮอสพิเทล-สถานพยาบาลชั่วคราวต่อไปอีก 1-2 เดือน

จากกรณีที่ รพ.เอกชนบางแห่งออกแพคเกจรักษาผู้ป่วยโควิด19  โดยระบุให้เลือกรูปแบบการรักษาและมีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกัน อาทิ ยาฟาวิพิราเวียร์ครบโดส 50 เม็ด ราคา 2,900 บาท หรือยาฟาวิพิราเวียร์แบบครบโดสกับปรอทและเครื่องวัดออกซิเจนในเลือด ราคา 3,000 บาท หรือยาโมลนูพิราเวียร์ 20-30 เม็ด ราคา 5,700 บาท เป็นต้น   และกรมสนับสนุบริการสุขภาพ(สบส.) ระบุว่า สามารถดำเนินการได้ แต่จะต้องเป็นยาที่รพ.เอกชนจัดซื้อมาเอง ไม่ใช่ยาที่รัฐจัดให้ไปเพื่อใช้ในการรักษาฟรีให้กับประชาชนนั้น

         เมื่อวันที่ 12 ก.ค.2565  นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า  การขึ้นทะเบียนยาโมลนูพิราเวียร์ และยาแพกซ์โลวิดที่ใช้ในการรักษาโควิด-19นั้น ยังขึ้นทะเบียนใช้ในภาวะฉุกเฉินเช่นเดียวกับทั่วโลก  แต่เมื่อยาได้รับการขึ้นทะเบียนจากอย.แล้ว สถานพยาบาลเอกชนก็สามารถจัดซื้อยาดังกล่าวมาใช้รักษาผู้ป่วยได้ หากบริษัทผู้ผลิตมียาที่ขายให้ได้  อย่างไรก็ตาม การสั่งจ่ายยาดังกล่าวของสถานพยาบาลให้กับผู้ป่วยโควิด-19 จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์ที่เป็นแนวทางการรักษาที่ออกโดยกรมการแพทย์ 

     นพ.สุรโชค กล่าวอีกว่า ในส่วนของวัคซีนโควิด-19 ที่ใช้ในกลุ่มผู้อายุมากกว่า 6 เดือนขึ้นไปถึงน้อยกว่า 5 ปี  ทางอย.ได้ติดตามข้อมูลจากต่างประเทศ ตอนนี้มี 2 บริษัท คือ ไฟเซอร์ และโมเดอร์นา ซึ่งตั้งแต่ที่วัคซีนดังกล่าวมีการขึ้นทะเบียนใช้ในสหรัฐอเมริกา อย.ก็ได้ส่งหนังสือไปเชิญให้นำมาขึ้นทะเบียนในไทยด้วย ขณะนี้ก็รอให้เอาเอกสารมายื่นเพื่อดูความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีน

       ทั้งนี้ วัคซีนที่ใช้ในเด็กจะเป็นยาตัวเดิมแต่ทำให้เจือจางลง แต่ไม่สามารถใช้วัคซีนที่มีในมือได้ ต้องเป็นของใหม่ที่มีการผสมน้ำเกลือใหม่ เบื้องต้น ไฟเซอร์ในเด็กอายุ 6 เดือนถึง 4 ขวบจะเป็นฝาสีชมพูแดง ใช้ขนาด 1 ใน 10 ของผู้ใหญ่ที่ใช้ 0.3 ซีซี โดยเด็กเล็กจะฉีดทั้งหมด 3 เข็มในเวลาที่ห่างกัน ส่วนโมเดอร์น่า ก็จะเป็น 6 เดือนถึง 5 ขวบ ใช้ขนาด 1 ใน 3 ของผู้ใหญ่ โดยจะฉีดใน 2 เข็ม
      “กรมควบคุมโรคได้เปลี่ยนสัญญากับไฟเซอร์ในการจัดซื้อวัคซีนเด็กแล้วเป็นเด็กกลุ่มนี้ 3 ล้านโดส ทางอย.ก็บอกให้มาขึ้นทะเบียน ตอนนี้ก็เหลือแค่เขามาขึ้นทะเบียน หากเอกสารที่นำมายื่นกับอย. เป็นโรงงานผลิตเดิม ยาตัวเดิมก็ใช้เวลาพิจารณาไม่นานก็จะทราบผล อย่างตอนที่มายื่นขยายอายุในเด็กโตก็ใช้ไม่เกิน 2 สัปดาห์” นพ.สุรโชคกล่าว

 

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมการแพทย์ได้ออก แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ฉบับปรับปรุงใหม่ ครั้งที่ 24 วันที่ 11 ก.ค. 2565  โดยความร่วมมือของคณาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่าง ๆ และผู้แทนทีมแพทย์ที่ปฏิบัติหน้างาน ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด ได้ทบทวนและปรับแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วย ตามข้อมูลวิชาการใน ประเทศ และต่างประเทศ

     การรักษาผู้ติดโควิด-19 แบ่งเป็นกลุ่มตามความรุนแรงของโรคและปัจจัยเสี่ยงได้ 4 กรณี ดังนี้

       1.ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือสบายดี  ให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก โดยแยกกักตัวที่บ้านแบบ ให้ดูแลรักษาตามอาการตามดุลยพินิจของแพทย์ ไม่ให้ยาต้ายไวรัส เช่น ฟาวิพิราเวียร์ เนื่องจากส่วนมากหายได้เอง อาจพิจารณาให้ยาฟ้าทะลายโจรตามดุลยพินิจของแพทย์

    2.ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ  ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง/โรคร่วมสำคัญและภาพถ่ายรังสีปอดปกติ อาจพิจารณาให้ฟาวิพิราเวียร์ ควรเริ่มยาโดยเร็ว หากตรวจพบเชื้อเมื่อผู้ป่วยมีอาการมาแล้วเกิน 5 วัน และผู้ป่วยไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยอาจไม่จำเป็นต้องให้ยาต้านไวรัส เพราะผู้ป่วยจะหายได้เองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน 

     3.ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรงหรือมีโรคร่วมสำคัญ หรือ ผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง แต่มีปอดอักเสบเล็กน้อยถึงปานกลางยังไม่ต้องให้ออกซิเจน แนะนำให้ยาต้านไวรัสเพียง 1 ชนิด โดยควรเริ่มภายใน 5 วัน ตั้งแต่เริ่มมีอาการจึงจะได้ผลดี  โดยหากไม่มีปัจจัยเสี่ยงให้ยาฟาวิพิราเวียร์ หากมีปัจจัยเสี่ยง 1 ข้อ โดยมีลำดับการให้ยา คือ  โมลนูพิราเวียร์ ,เรมเดซิเวียร์,เนอร์มาเทรลเวียร์/ริโทนาเวียร์ (แพกซ์โลวิด) และฟาวิพิราเวียร์  หากมีปัจจัยเสี่ยง 2 ข้อขึ้นไป ให้เรมเดซิเวียร์ หรือเนอร์มาเทรลเวียร์/ริโทนาเวียร์ (แพกซ์โลวิด)  หรือโมลนูพิราเวียร์
        ทั้งนี้  การจัดลำดับการให้ยา พิจารณาจากปริมาณยาที่มีในประเทศ ประสิทธิภาพของยาในการลดอัตราการป่วยหนักและอัตราตาย ความสะดวกในการบริหารยา และราคายา  ซึ่งข้อมูลปัจจุบัน เนอร์มาเทรลเวียร์/ริโทนาเวียร์ มีประสิทธิภาพสูงสุด แต่มีราคาสูงที่สุด ส่วนฟาวิพิราเวียร์ ไม่ช่วยลดอัตราการป่วยหนัก แต่ช่วยลดอาการได้ หากได้รับยาเร็วตั้งแต่วันแรกที่มีอาการในกลุ่มที่ไม่มีความเสี่ยง
          ปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคที่รุนแรง ได้แก่  อายุมากกว่า  60 ปีขึ้นไป ,โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง รวมโรคปอดเรื้อรังอื่นๆ โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมโรคหัวใจแต่กำเนิด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ ภาวะอ้วน ตับแข็ง ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ และผู้ติดเชื้อเอชไอวี

     และ4.ผู้ป่วยยืนยันที่มีปอดอักเสบ ปอดอักเสบรุนแรง ไม่เกิน 10 วันหลังจากมีอาการและได้รับออกซิเจน แนะนำให้เรมเดซิเวียร์ โดยเร็วที่สุด เป็นเวลา 5-10 วัน ขึ้นกับอาการทางคลินิก ควรติดตามอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ร่วมกัยให้ยาคอร์ดิโคสเตียรอยด์ (corticosteroid)
         ด้านนพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์  อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กล่าวว่า  จากที่ได้มีการอนุญาตให้เปิดสถานพยาบาลชั่วคราว ตามพ.ร.บ.สถานพยาบาลที่ออกประกาศไว้ ครอบคลุมระบบการรักษาที่บ้าน (HI) ระบบการรักษาในชุมชน (CI) ฮอสพิเทล, โฮเทลไอโซเลชั่น แต่ตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนไป จึงมีแนวทางให้คนไข้ที่ไม่มีอาการ หรืออาการน้อยให้รักษาแบบผู้ป่วยนอก (OPD) ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล  ตอนนี้จึงมีการพิจารณายกเลิกประกาศให้จัดตั้งสถานพยาบาลชั่วคราวเหล่านี้

        “ขณะนี้สถานพยาบาลเอกชนบางแห่งแจ้งว่าคนไข้มากขึ้น เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนเตียงคนไข้ปกติในโรงพยาบาล จึงกำลังขอให้สบส. พิจารณาทบทวนเรื่องยกเลิกประกาศนี้ออกไปก่อน เพื่อรอดูสถานการณ์ 1- 2 เดือน  ซึ่งกำลังเสนอประธานกรรมการสถานพยาบาลว่าจะขยายตรงส่วนนี้ได้หรือไม่”นพ.ธเรศกล่าว     

        นพ.ธเรศ กล่าวอีกว่า  สถานพยาบาลสำหรับดูแลผู้ป่วยโควิด19 ยังเปิดใช้สถานพยาบาลชั่วคราวทุกรูปแบบ ซึ่งมีประมาณ 100 กว่าแห่ง  แต่ขณะนี้กองทุนต่าง ๆ ไม่ได้จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลตรงนี้แล้ว เช่น สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ยกเลิกการจ่ายไปตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค.2565 ดังนั้น รพ.เอกชน อาจจะไม่ได้มีการขยายการเปิดเพิ่มนัก เพราะก็ต้องมีค่าใช้จ่ายในการเช่าโรงแรม และการดูแลผู้ป่วย 

         “การขยายเปิดตรงนี้ของรพ.เอกชน เพื่อให้เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ไม่สะดวกรักษาตัวที่บ้าน แล้วสะดวกที่จะจ่ายเอง ถ้าแพงคนก็ไม่ไปอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม คนไข้ที่อาการสีเขียวไม่ต้องไปโรงพยาบาลก็ได้ เพราะตามเจตนารมณ์เราอยากให้ท่านรักษาในระบบผู้ป่วยนอก”นพ.ธเรศกล่าว 

          ถามย้ำว่าต้องควบคุมราคาด้วยหรือไม่ นพ.ธเรศ กล่าวว่า  สธ.ไม่มีกฎหมายควบคุมราคา กฎหมายกำหนดให้แค่ต้องประกาศราคาให้ทราบตั้งแต่แรก ซึ่งค่ารักษาพยาบาลโรคโควิด19 จะอิงตามประกาศอัตราการจ่ายค่ารักษาของทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือไม่ก็ไม่สามารถบอกได้ แต่สำหรับการควบคุมราคาต่างๆ นั้น อยู่ในกฎหมายการควบคุมราคาสินค้าและบริการของกระทรวงพาณิชย์

      “ก่อนหน้านี้ มีการปรับระบบให้ผู้ป่วยรักษาตามสิทธิ ยกเว้นคนไข้เหลือง แดง ที่สามารถรักษาที่ไหนก็ได้ ดังนั้น หากคนไข้อาการสีเขียว ซึ่งมีรพ.ตามสิทธิอยู่ที่รพ.หนึ่ง แต่เลือกที่จะไปอีกรพ. ก็ต้องจ่ายเงินเอง พอจ่ายเองจะเลือกจ่ายแบบไหน จะจ่ายแบบคนไข้นอก หรือจะไปนอนฮอสพิเทล  รพ. ก็แล้วแต่ แต่โดยรวมรพ.ต้องดูแลท่านตามมาตรฐานวิชาชีพ ห้ามให้ยาเกิน เช่น หากไม่มีอาการแต่ให้ยามาก ถ้าตรวจสอบพบก็ต้องมีความผิดตามมาตรฐานวิชาชีพ”นพ.ธเรศกล่าว