2 กลุ่มเตรียมฉีด "ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป" กันโควิด-19 หลังภูมิฯวัคซีนไม่ขึ้น
สธ.เผยสัปดาห์หน้า “ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป”ล็อตแรกถึงไทย เตรียมฉีดให้ 2 กลุ่ม ไตวายเรื้อรังต้องฟอกไต-ปลูกถ่ายอวัยวะ กระจายตามฐานผู้ป่วยรพ.
เมื่อวันที่ 18 ก.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในการแถลงสถานการณ์โควิด-19 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กลุ่มโรคเรื้อรังที่เสียชีวิตมากที่สุด คือผู้ป่วยโรคไต จึงเป็นที่มาในการออกคำแนะนำกลุ่มเสี่ยงให้มีการฉีดเข็มกระตุ้นให้มากที่สุด ขณะนี้ผู้ป่วยปอดอักเสบที่กำลังรักษาในโรงพยาบาลระลอกเดือนม.ค.- 11 ก.ค.2565 มากสุดคือพื้นที่กรุงเทพมหานคร รองลงมาคืออุบลราชธานี นนทบุรี สุพรรณบุรี สมุทรปราการ
หลายกลุ่มแม้ฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วภูมิคุ้มกันขึ้นไม่ดี สธ.จึงได้จัดหาภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (Long Acting Antibody : LAAB) ให้กับผู้ป่วย 2 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ต้องฟอกไต และผู้ที่ผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ จะเป็นกลุ่มที่จะให้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป เพื่อลดการเสียชีวิต โดยเมื่อฉีด 1 เข็มอยู่ได้ 6 เดือน
ข้อมูลทั่วไป ใช้ในกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่อายุ 12 ปีขึ้นไป และมีน้ำหนัก 40 กิโลกรัมขึ้นไป ฉีดเข้ากล้ามเนื้อสะโพกทั้ง 2 ข้าง โดยข้อบ่งชี้สำหรับการใช้เป็นการป้องกันก่อนสัมผัสโรคโควิด-19 เป็นผู้ที่ไม่ได้กำลังติดเชื้อ หรือไม่ได้เป็นผู้เพิ่งสัมผัสเสี่ยงสูงต่อโรคโควิด-19 และเป็นผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อการสร้างภูมิคุ้มกันหลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 หรือไม่สามารถฉีดวัคซีนได้ด้วยความจำเป็นบางประการ เช่น แพ้วัคซีนหรือส่วนประกอบของวัคซีน
“ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปนี้ได้มาจากการปรับลดการจัดซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จากเดิม 60 ล้านโดส ให้เหลือแอสตร้าฯ 35.4 ล้านโดส และเปลี่ยนวัคซีนบางส่วนเป็นภูมิคุ้มกันสำเร็จรุปจำนวน 257,500 ดดส คาดว่าจะได้รับมอบล็อตแรกในสัปดาห์หน้า จำนวน 7,000 โดส ส่วนที่เหลือจะทยอยได้รับมอบภายในปี 2565 ซึ่งการฉีดจะต้องให้บริการในรพ. เพราะเป็นการฉีดให้กลุ่มที่มีโรคประจำตัว โดยจะกระจายไปตามที่มีการขึ้นทะเบียนไว้ จัดส่งไปตามจังหวัดและให้พื้นที่พิจารณากระจายภายในจังหวัด และเปิดกว้างการพิจารณาฉีดให้เป็นดุลยพินิจของแพทย์ที่ทำการรักษาผู้ป่วยแต่ละราย”นพ.โอภาสกล่าว