ระบบส่งต่อผู้ป่วย จุดเปราะบาง “กทม.”
กทม. ไม่มีระบบการส่งต่อผู้ป่วย จึงมีความจำเป็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น สธ. กทม. จะต้องหารือร่วมกันจัดระบบการส่งต่อให้ชัดเจน
สถานการณ์ผู้ป่วยโควิด -19 ในกทม. ปริมณฑล และจังหวัดใหญ่ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยปอดอักเสบกำลังรักษาครองเตียงระดับ 2-3 ในรพ.พื้นที่กทม.อยู่ที่ 47.30 % ซึ่งพื้นที่กทม.มีรพ.จำนวนมากหลากหลายสังกัด ทั้งเอกชน มหาวิทยาลัย รพ.สังกัดกทม. และรพ.ภาครัฐอื่นๆ ทั้งสังกัดตำรวจ ทหาร ทว่า กทม. ไม่มีระบบการส่งต่อผู้ป่วย จึงมีความจำเป็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น สธ. กทม. จะต้องหารือร่วมกันจัดระบบการส่งต่อให้ชัดเจน
พื้นที่กทม.มีการฉีดวัคซีนเกิน 100 % และมีการฉีดเข็มกระตุ้นเข็ม 3 มากกว่า 80 % อัตราการครองเตียงพื้นที่กทม. เป็นผู้ป่วยสีเขียวมากถึง 98 % และผู้ติดเชื้อโควิด 19 ไม่จำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัสทุกราย เพราะอาจจะเกิดการดื้อยาและผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้ กรณีมีอาการเล็กน้อย สามารถใช้ยารักษาตามอาการ หรือใช้ฟ้าทะลายโจรได้ ส่วนกรณีมีอาการที่ต้องได้รับยาต้านไวรัส ทั้งยาฟาวิพิราเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ เรมเดซิเวียร์ แพกซ์โลวิด รวมถึงแอนติบอดี LAAB จะขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ตามแนวทางและข้อบ่งชี้ของกรมการแพทย์ ที่จะต้องสั่งใช้โดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเท่านั้น
มีการคาดการณ์ว่าจากนี้ไปความต้องการใช้ยารักษาโควิด-19 ในกทม.อยู่ที่ราววันละ 1 แสนเม็ดจากที่คาดการณ์ว่ามีต้องได้รับยาราว 2,000 รายต่อวัน จึงจำเป็นต้องมีการเพิ่มการสำรองยาให้กทม.จาก 7 วันเป็น 10 วัน ปรับยาฟาวิพิราเวียร์ให้เด็กต่ำกว่าอายุ 18 ปี และให้ยาโมลนูพิราเวียร์เป็นยาหลักมากขึ้นตามข้อบ่งชี้ ตามแนวทางกรมการแพทย์ รวมถึงจะจัดตั้งคณะกรรมการมาดูเรื่องการรักษาเป็นการเฉพาะ ใช้กลไกของศูนย์เอราวัณเป็นผู้ประสานเตียงกับรพ.หลักใน 6 โซน หากอัตราครองเตียงเหลืองแดงถึง 80 % ต่อเนื่อง 2-3 วันและมีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้น จะต้องมีการขยายเตียงเพิ่มขึ้น
แม้ว่าเตียงส่วนใหญ่ในกทม.เป็นของรพ.เอกชน แต่โดยหลักการถ้าผู้ป่วยโควิด มีอาการสีแดงเข้าข่ายสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติถึงแก่ชีวิต มีสิทธิทุกที่หรือ UCEP สามารถเข้ารพ.เอกชนได้ และหากในอนาคตหากมีผู้ป่วยสีเหลืองเพิ่มมากขึ้น ก็มีความจำเป็นต้องประสานรพ.เอกชนในการรับผู้ป่วยเหลืองเหมือนช่วงที่เดลตาระบาดก่อนหน้านี้ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ากิจกรรมทั้งหนังกลางแปลงและดนตรีในสวน ล้วนนำมาซึ่งความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิดในพื้นที่กทม.ได้ แม้ว่าขณะนี้จะยังไม่เห็นคลัสเตอร์ผู้ป่วยโควิดรายใหม่จากการจัดกิจกรรมก็ตาม