เพิ่มเติม! ชายไทยรายแรกติด"ฝีดาษลิง" ย้ำเสี่ยงรีบรักษาหายได้
กรมควบคุมโรค ลงพื้นที่สอบสวนผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงที่กรุงเทพฯ ชายไทยรายแรก และเป็นรายที่ 2 ที่พบการติดเชื้อในประเทศไทย เน้นย้ำกลุ่มเสี่ยงลดการสัมผัสใกล้ชิดกับคนแปลกหน้า
วันนี้ (28 กรกฎาคม 2565) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 65 ได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เขตดุสิต กรุงเทพฯ พบผู้ป่วยสงสัยโรคฝีดาษวานร จึงมอบหมายให้สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค ลงพื้นที่สอบสวนโรคทันที จากการสอบสวนเบื้องต้นพบว่า ผู้ป่วยเป็นชายไทย อายุ 47 ปี ประวัติมีเพศสัมพันธ์กับชายต่างชาติ ไม่ทราบสัญชาติ และให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เริ่มมีอาการปวดเมื่อยตามตัวเมื่อ 1 สัปดาห์ก่อน และมีตุ่มหนองที่อวัยวะเพศ ได้แยกตัวจากคนในบ้านซึ่งมีผู้สัมผัสร่วม 10 ราย ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจหาเชื้อ และให้สังเกตอาการ 21 วัน
ต่อมาผู้ป่วยไปซื้อยามาทา ทำให้ตุ่มหนองแห้ง แต่เริ่มขึ้นใหม่บริเวณแขน ขา ใบหน้า ศีรษะ และได้เข้ามารักษาที่โรงพยาบาลด้วยอาการผื่นและอวัยวะเพศบวม เจ็บ แสบ ได้เก็บตัวอย่างส่งตรวจ หาเชื้อก่อโรค โดยห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และห้องปฏิบัติการที่คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผลการตรวจ PCR ทั้งสองที่ตรงกัน พบเชื้อ Monkeypox virus ขณะนี้ให้ผู้ป่วยรักษาในห้องแยกเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ซึ่งผู้ป่วยรายดังกล่าวเป็นชายไทยรายแรกของประเทศ และเป็นรายที่ 2 ที่ตรวจพบการติดเชื้อฝีดาษวานรในประเทศไทย (รายแรกเป็นชายชาวไนจีเรีย)
สถานการณ์โรคฝีดาษวานรทั่วโลก (ข้อมูล ณ วันที่ 27 ก.ค. 65) ผู้ป่วยยืนยันทั่วโลก 20,849 ราย พบผู้ป่วยยืนยันเพิ่มขึ้นเป็น 74 ประเทศ โดยพื้นที่การแพร่ระบาดส่วนใหญ่พบอยู่ในแถบทวีปยุโรป ประเทศที่มีผู้ป่วยสูง 5 ลำดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 4,639 ราย สเปน 4,001 ราย เยอรมัน 2,459 ราย สหราชอาณาจักร 2,367 ราย และฝรั่งเศส 978 ราย ส่วนใหญ่เป็นเพศชายเกือบทั้งหมด
นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ได้ส่งทีมไปสอบสวนโรคเพิ่มในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง พร้อมค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูง และเร่งติดตามตัวชายชาวต่างชาติแล้ว และเน้นย้ำว่า โรคฝีดาษวานรไม่ได้ติดต่อกันได้ง่ายๆ ซึ่งจะติดต่อได้จากการสัมผัสใกล้ชิดมากๆ จึงขอให้กลุ่มเสี่ยงเพิ่มความระมัดระวัง และลดการสัมผัสใกล้ชิดกับคนแปลกหน้า เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อฝีดาษวานรและลดการ และป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นอีกด้วย ทั้งนี้ หากประชาชนมีอาการสงสัยว่าตนเองมีอาการป่วยเข้าได้กับโรคฝีดาษลิง สามารถติดต่อสถานพยาบาลใกล้บ้านเพื่อรับการตรวจหาเชื้อได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422