"ฝีดาษลิง" โรคที่ยากต่อการควบคุมเมื่อเทียบกับ HIV
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หรือ "หมอยง" โพสต์เฟซบุ๊กประเด็นโรค "ฝีดาษลิง" หรือ ฝีดาษวานร หลังจากที่พบผู้ป่วยรายที่ 2 ของประเทศไทยชี้ เป็นโรคที่ยากต่อการควบคุมเมื่อเทียบกับ HIV
ประเด็นโรค "ฝีดาษลิง" หรือ ฝีดาษวานร หลังจากที่พบผู้ป่วยรายที่ 2 ของประเทศไทยในพื้นที่ กทม. ด้าน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หรือ "หมอยง" หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กชี้ เป็นโรคที่ยากต่อการควบคุม
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ไทยเจอผู้ป่วย "ฝีดาษลิง" รายที่ 2 ใน กทม.
- เพิ่มเติม! ชายไทยรายแรกติด"ฝีดาษลิง" ย้ำเสี่ยงรีบรักษาหายได้
- ออกแล้ว ผลตรวจ "ฝีดาษลิง" ชายไทยวัย 40 ปี พร้อมผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 19 ราย
ฝีดาษวานร (ฝีดาษลิง) โรคที่ยากต่อการควบคุม
นับตั้งแต่การระบาดของโรคนอกทวีปแอฟริกา มีการกระจายเพิ่มขึ้นและมียอดผู้ป่วยสูงขึ้นมาโดยตลอด ยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ปัจจุบันมีผู้ป่วยมากกว่า 17,000 รายมากกว่า 75 ประเทศ แต่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในยุโรปและอเมริกา
เป็นที่น่าสังเกตว่า การรายงานผู้ป่วยเข้าสู่องค์การอนามัยโลก จะไม่ยอมบอกเพศ ที่บอกเพศมีไม่ถึงครึ่งหนึ่ง และเป็นในเพศชายถึง 98% เพศหญิงแค่ 1% ไม่มีผู้เสียชีวิตนอกแอฟริกา ที่เสียชีวิตจะอยู่ในทวีปแอฟริกาเพียง 5 ราย
การติดต่อนอกทวีปแอฟริกา เกี่ยวกับกิจกรรมทางเพศสัมพันธ์ ส่วนใหญ่จะเป็นเพศเดียวกัน และเกือบ 40% มีรอยโรคเกิดขึ้นที่อวัยวะเพศ
โรคนี้จึงยากต่อการควบคุม เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับ HIV ในระยะแรกเมื่อ 40 ปีก่อน การเริ่มต้นก็แบบเดียวกัน HIV ไม่แสดงอาการของโรคในระยะแรก กว่าจะแสดงอาการก็มีการแพรกระจาย ติดต่อไปมากพอสมควร
ฝีดาษวานร ก็เช่นเดียวกัน อาการส่วนใหญ่ไม่มาก เมื่อมีอาการไม่มากจึงยากในการควบคุม โดยเฉพาะบางรายอาจจะไม่มีอาการ หรือตุ่มขึ้นเพียงเม็ด 2 เม็ดก็ได้ แต่ข้อดีของฝีดาษวานรมากกว่า HIV คือ ผู้ป่วยโรคนี้จะไม่เรื้อรัง เป็นอยู่ประมาณ 2-4 อาทิตย์ ก็หายขาดเป็นปกติ ไม่เป็นพาหะของโรค
ในอนาคตถ้าควบคุมไม่ได้ การกระจายโรค จะไม่อยู่ในเฉพาะเพศชายเท่านั้น จะกระจายเข้าสู่คนใกล้ชิด และเข้าสู่ระบบ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทำให้ควบคุมได้ยาก
สิ่งที่น่าเป็นห่วงต่อไปก็คือ แต่เดิมเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยเฉพาะสัตว์จำพวกพันธุ์แทะ เช่น หนู (giant gambian rat) ในแอฟริกา แต่ขณะนี้เป็นการติดต่อระหว่างคนสู่คน และต่อไปถ้าคนเอาเชื้อนี้ข้ามไปยังสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยง หรือสัตว์ท้องถิ่น เช่น หนู แล้วสัตว์จะเป็นพาหะอยู่ในสัตว์ก็จะยิ่งยากในการควบคุมและการติดต่อจากสัตว์จะข้ามมาสู่คนได้อีก โดยเฉพาะสัตว์ฟันแทะที่อยู่ในเมือง ก็จะทำให้เกิดเป็นโรคประจำถิ่นที่ยากต่อการกำจัดหรือควบคุม