รมว.แรงงาน สั่ง กสร. "จัดทำมาตรการด้านความปลอดภัย" ในการทำงาน
รมว.แรงงาน ห่วงลูกจ้างประสบอันตราย สั่ง กสร.จัดทำมาตรการด้านความปลอดภัยในการทำงาน เผยสถิติการประสบอันตรายจากการทำงานกรณีร้ายแรงลดลงเป็นลำดับ โดยลดลงจาก 27,942 คน ในปีงบประมาณ 2563 เป็น 25,116 คน ในปีงบประมาณ 2564
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เรื่องความปลอดภัยในการทำงาน กระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญและกำหนดให้นโยบายความปลอดภัยในการทำงานเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องดูแลไม่ให้เกิดความสูญเสียในชีวิตของผู้ใช้แรงงาน เพราะอุบัติเหตุเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ จากสถิติการประสบอันตรายจากการทำงานในปี 2565 เทียบกับปี 2563 ปี2564 พบว่า การประสบอันตรายจากการทำงานกรณีร้ายแรงลดลงเป็นลำดับ โดยลดลงจาก 27,942 คน ในปีงบประมาณ 2563 เป็น 25,116 คน ในปีงบประมาณ 2564 โดยมีอัตราการประสบอันตรายจากการทำงานที่ลดลงคิดเป็นร้อยละ 9.96 และในปีงบประมาณ 2565 มีอัตราการประสบอันตรายจากการทำงานที่ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2564 ในช่วงเวลาเดียวกัน (ตค. - พค.) ลดลงร้อยละ 10.75
อย่างไรก็ตาม ด้วยความห่วงใยลูกจ้างที่อาจได้รับอันตรายจากการทำงาน ผมจึงได้สั่งการให้ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ดำเนินการเชิงรุกเพื่อเป็นการป้องกันโดยนอกเหนือจากการบังคับใช้กฎหมายแล้ว ให้มีมาตรการด้านความปลอดภัยในการทำงาน และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์มาตรการดังกล่าว เพื่อเป็นสร้างการรับรู้ให้แก่นายจ้าง ลูกจ้าง ให้ตระหนักถึงเรื่องความปลอดภัยในการทำงานมากขึ้น อันจะทำให้เกิดอุบัติเหตุลดน้อยลงไปอีกได้ รวมถึงขอให้นายจ้างปฏิบัติตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2544 รวมทั้งกฎกระทรวงหรือประกาศกรมที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดด้วย
ด้านนายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า กรมได้มีแนวทางการดำเนินการลดการประสบอันตรายจากการทำงานโดยกำหนดเป็นตัวชี้วัดของผู้บริหารกรม กำหนดให้หน่วยปฏิบัตินำข้อมูลสถิติการประสบอันตรายจากการทำงานมาวิเคราะห์เพื่อจัดทำแผน หรือกำหนดเป้าหมายสถานประกอบกิจการที่จะเข้าตรวจ การจัดทำรายงานสารสนเทศการประสบอันตรายจากการทำงาน การดำเนินกิจกรรมสนับสนุนการลดการประสบอันตราย นอกเหนือจากการบังคับใช้กฎหมาย โดยได้จัดทำมาตรการด้านความปลอดภัยในการทำงานตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานสั่งการ เพื่อมาใช้สร้างความตระหนักรู้แก่นายจ้าง และลูกจ้าง เช่น
- มาตรการการป้องกันอุบัติเหตุ/อุบัติภัยจากสารเคมีอันตรายด้วยหลัก 3จ 1ป
- การป้องกันอัคคีภัยในสถานประกอบกิจการด้วยหลัก 3ต
- การป้องกันอันตรายจากการทำงานในที่อับอากาศด้วยหลัก 1ต 2ป 3อ
- การป้องกันอันตรายจากการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้าด้วยหลัก 1อ 2ต 3ป เป็นต้น
ซึ่งการแก้ปัญหาความปลอดภัยในการทำงานต้องเกิดจากความร่วมมือและร่วมใจจากทุกฝ่าย โดยการสร้างความตระหนักรู้และคำนึงถึงความปลอดภัยในการทำงานด้วย ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ กองความปลอดภัยแรงงาน 0 2448 9128 - 39 ต่อ 603 – 610 สายด่วน หมายเลข 1506 กด 3 และ หมายเลข 1546