อุปสรรค - ความท้าทาย บนเส้นทางสู่ "ความยั่งยืน” สภาพภูมิอากาศ

อุปสรรค - ความท้าทาย บนเส้นทางสู่ "ความยั่งยืน” สภาพภูมิอากาศ

เมื่อไทยตั้งเป้า สู่ "ความเป็นกลางทางคาร์บอน" ปี 2050 และเดินหน้าสู่ Net Zero ปี 2065 กลายเป็นความท้าทาย ท่ามกลางความกังวลทั่วโลกต่อความล้มเหลวในการแก้ปัญหา "Climate Change" จึงจำเป็นต้องอาศัยการร่วมมือทุกภาคส่วน เพื่อให้ไทยบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 65 ดร.พิรุณ ลัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวในช่วงเสวนา "เสริมพลังไทยสู่ความยั่งยืนด้านสภาพภูมิอากาศ (Powering Thailand for Climate Resilience and Sustainability)" หัวข้อ เส้นทางสู่ความยั่งยืนด้านสภาพภูมิอากาศ (Road to Net Zero Emission and Climate-Resilient Thailand) ในการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย (TCAC Opening Plenary) ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ถึงแนวทางของประเทศไทย และกลไกที่จะไปสู่เป้าหมายในอีก 28 ปีข้างหน้า หรือปี 2050 ที่จะเดินหน้าสู่ ความเป็นกลางทางคาร์บอน และสู่การปล่อย คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2065 หรือในอีก 43 ปีข้างหน้า

 

ดร.พิรุณ มองว่า เส้นทางสู่การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ต้องบอกว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ทุกภาคส่วนต้องมามีส่วนร่วม แต่มีทางออก เราสามารถเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสสู่ความยั่งยืนของประเทศไทยได้ ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนต้องร่วมมือกันแก้ปัญหา คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) มีการวิจัย พบว่า หลังจากมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมใน ปี 1850 ตะวันตกมีการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงประเทศกำลังพัฒนา ขณะนี้เราปล่อยคาร์บอนไปแล้วกว่า 2,500 กิ๊กกะตัน เหลือที่สามารถปล่อยได้แค่ 500 กิ๊กกะตันเท่านั้น ภายในปี 2050 ที่ทุกประเทศทั่วโลกจะต้องควบคุมให้ได้ 
 

"ความสำคัญ อยู่ที่ภายใน 500 กิ๊กกะตัน นี้ ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศา ซึ่งอุณหภูมิเพิ่มไปแล้ว 1 องศา ดังนั้น จะเพิ่มได้ไม่เกินอีก 0.5 องศาเซลเซียส ซึ่งมีการประเมินว่ามีโอกาสเพียง 50% เท่านั้น นี่คือความเสี่ยงของมนุษย์โลก"

 

ความเสี่ยงในปี 2022

 

ในการประชุม World Economic Forum มองว่า ความเสี่ยงในปี 2022 สิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือ ความล้มเหลวในการจัดการกับ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก นำมาซึ่งสภาพอากาศที่รุนแรง ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม แผ่นดินถล่ม เป็นประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่มีความสำคัญ ต่อความเป็นอยู่ของประชากรโลก และจัดเป็นความเสี่ยงของโลกในอันดับแรก

 

เกิดอะไรขึ้น เมื่อโลกอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1.5 องศา

  • สภาวะอากาศรุนแรง ความเสี่ยงน้ำท่วมเพิ่มขึ้น 100%
  • ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ประชากร 46 ล้านคน ได้รับผลกระทบจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น 48 เซนติเมตร ภายในปี 2100
  • น้ำที่ใช้ประโยชน์ได้ ประชากร 350 ล้านคน เผชิญภัยแล้ง ภายในปี 2100
  • สายพันธุ์ 6% ของแมลง 8% ของพืช และ 4% ของสัตว์มีกระดูกสันหลังได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง

 

เพราะฉะนั้น เรื่องนี้ประเทศไทย มีทางเลือก 2 ทาง คือ เดินช้ากว่าคนอื่น และ ก้าวนำคนอื่น ดังนั้น สิ่งที่นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเจตนารมณ์ในการประชุม COP26 จะเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ปี 2050 และสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2065

 

เพื่อให้ไปถึงจุดนั้น จำเป็นต้องปรับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกต่อประชาคมโลก (NDC) ลดก๊าซเรือนกระจก 20-25% ปี 2030 เป็น 40% บนพื้นฐานการได้รับการสนับสนุนทางการเงิน เทคโนโลยี และการสร้างขีดความสามารถ

ทั้งนี้ หลังจากการประชุม COP26 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้ร่วมกับทุกหน่วยงาน ปรับปรุงยุทธศาสตร์ระยะยาวในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและ Net Zero ใช้กรอบการทำงานวางเป้าหมายทุก 5 ปี ที่ต้องกำหนดเพิ่มเติม โดยครั้งต่อไปต้องส่งในปี 2025 จะเป็นเป้าหมายในปี 2035

 

ภาคพลังงาน ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 80% 

 

“การจะเข้าสู่ความยั่งยืนทางสภาพภูมิอากาศ “ภาคพลังงาน” ที่ปล่อยเยอะที่สุด อาจจะต้องลดก๊าซเรือนกระจก 80% ขณะที่ "ภาคการเกษตร" ต้องลด 23% ชาวนามี 18 ล้านคน การเปลี่ยนผ่านเรื่องนี้ต้องใช้องคาพยพ ทำอย่างไรที่บริษัทใหญ่เปลี่ยนแปลง และองคาพยพ ซัพพลายเชน ภาคเกษตร ที่จะยกระดับคุณภาพขึ้นมา เพื่อลดการปล่อยมีเทน"

 

"และอีก 40% ต้องฝากทุกองค์กรในประเทศไทย หากจะไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนต้องเริ่มขยับขณะเดียวกัน กระทรวง ทส. จะดูในเรื่องของการดูดกลับคาร์บอนในส่วนของป่าไม้ ราว 120 ล้านตัน"

 

แนวทางการลดการปล่อย ก๊าซเรือนกระจก

 

ปี 2025 ไทยจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุดที่ได้คาดการณ์ไว้ 368 ล้านตัน และหลังจากปี 2030 รูปแบบการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยจะเหมือนกับประเทศพัฒนาแล้ว นี่คือ สิ่งที่จะต้องจับตามองในการบริหารจัดการ โดยมาตรการต่างๆ ได้แก่

 

พลังงาน/ขนส่ง

  • เพิ่มใช้พลังงานทดแทน
  • การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและใช้พลังงาน
  • การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยอียูระบุชัดเจนว่า รถสันดาปภายในปี 2035 จะไม่มีขายอีกต่อไป และไทยก็อยู่ในนโยบายเช่นกัน

ภาคกระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ (IPPU)

  • มาตรการทดแทนปูนเม็ด
  • การปรับเปลี่ยนสารทำความเย็น
  • เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) ในอุตสาหกรรมซีเมนต์

ของเสีย

  • การจัดการขยะและน้ำเสีย ชุมชน รวมถึงน้ำเสียอุตสาหกรรม
  • Waste to Energy

เกษตร

  • การปรับบำรุงการทำนาข้าวเพื่อลดการปล่อยมีเทน มีพื้นที่นำร่อง 6 จังหวัดในไทย
  • ผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์

ป่าไม้

  • การส่งเสริมปลูกป่าธรรมชาติ ป่าเศรษฐกิจ
  • เพิ่มพื้นที่สีเขียวในชนบท

 

กลไกขับเคลื่อนการดำเนินงาน

 

ดร.พิรุณ กล่าวต่อไปว่า ทั้งหมดไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้ ดังนั้น การปรับเปลี่ยนแนวคิดในเรื่องการทำงานร่วมกันเป็นเรื่องสำคัญ กระทรวง ทส. โดย ผส. ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สิ่งที่ยืนยันได้คือ เราทำงาน 200% ในการร่วมกับทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนสิ่งที่เป็นอุปสรรค ไม่ว่าจะสิทธิประโยชน์ ได้แก่

 

ทำงานร่วมกับ BOI

  • มาตรการด้านภาษี
  • ส่งเสริมการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม
  • การนำเข้าเครื่องจักรเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

การสร้างมูลค่าให้กับคาร์บอน

  • สร้างตลาดคาร์บอนโดยกลไกระดับชาติ แนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต โดย สผ.
  • ระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนและการซื้อ การขาย และถ่ายโอนคาร์บอนเครดิต โดย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือน
  • ตลาดคาร์บอน โดย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ กระทรวง ทส.

 

ความท้าทายและปัจจัยหนุนสู่เป้า Net zero

 

ดร.พิรุณ มองว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ทุกประเทศให้ความสำคัญ ประเทศไทยไม่มีทางเลือกที่จะทำงานช้าลง การทำได้เร็วคือ โอกาส สิ่งที่มากดดันอย่างปัจจัยภายนอก เช่น มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ที่บังคับใช้ 5 ผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ ปูนซีเมนต์ ปุ๋ย เหล็ก อะลูมิเนียม และกระแสไฟฟ้า โดยจะเริ่มเก็บภาษีจริงในปี 2026

 

ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว มีมูลค่าการส่งออกกว่า 6,000 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา และอาจจะเพิ่มในเรื่องของกลุ่มสินค้าเคมีภัณฑ์และพลาสติก หรืออาจจะมีสินค้าเกษตรในอนาคต คนที่ก้าวช้า คนที่ไม่พร้อมย่อมได้รับผลกระทบ ดังนั้น ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ทุกภาคส่วน อยากเห็นคือ ความชัดเจนของนโยบายภาครัฐซึ่งวันนี้เรามีแล้ว เพราะเรานำเป้าหมายเข้าไปในแผนนโยบายทุกระดับ เพื่อสร้างความมั่นใจว่า หากวันนี้ประเทศไทยเดินหน้า เราไม่มีถอยหลัง

 

อีกทั้ง โครงการดักจับ และกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ CCS (Carbon Capture and Storage) มีความจำเป็น ถึงวันที่เรามีความเป็นกลางทางคาร์บอน ไม่ได้หมายความว่าเราไม่สามารถใช้ทรัพยากรของตัวเองได้ แต่หากเรานำ CCS นำมาใช้กับโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ เราก็สามารถเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนได้

 

“เรื่องของคาร์บอนเครดิต ขณะนี้มีการขับเคลื่อนอย่างจริงจังและสร้างมูลค่าเพิ่ม ไม่เกินปลายปีจะได้เห็น และสิ่งสำคัญคือ การสร้างความตระหนักรู้ การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือ การเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนในสิ่งที่เราเคยชิน และขอให้เชื่อว่าการขับเคลื่อนของไทยในวันนี้ ของทุกภาคส่วน เริ่มได้จากตัวเรา หากเปลี่ยนพฤติกรรมได้ เราก็สามารถเป็นแรงผลักดันให้คนรอบเริ่มเปลี่ยนเป็นวงกว้าง นำไปซึ่งการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้” ดร.พิรุณ กล่าว