"BCG Model" กุญแจสำคัญรับมือ Climate Change
"การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" หรือ Climate Change ทำให้ โมเดลเศรษฐกิจ BCG เข้ามามีบทบาทสำคัญ และเป็นกลไกหลักสร้างความสมดุลของไทย ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม เพื่อหนุนการทำธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 65 “ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์” ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวในช่วงเสวนา "เสริมพลังไทยสู่ความยั่งยืนด้านสภาพภูมิอากาศ (Powering Thailand for Climate Resilience and Sustainability)" หัวข้อ “สภาพภูมิอากาศไทยกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG” (Climate Change Pathway on Bio-Circular-Green (BCG) Economy) ในการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย (TCAC Opening Plenary) ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยระบุว่า สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ทำงานร่วมกับ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) มาหลายปี โดยส่วนใหญ่จะมองในเทคโนโลยี นวัตกรรม และ Human Resources
สำหรับ โมเดลเศรษฐกิจ BCG คอนเซปต์ใหญ่ คือ B เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-economy) สร้างมูลค่าเพิ่มจากความได้เปรียบทางความหลากหลายทางชีวภาพ , C เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ยืดการใช้ทรัพยากร ใช้หลายครั้งและประหยัด และ G คือ เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ทำให้ยั่งยืน
4 กลุ่มสำคัญ BCG
- เกษตรอาหาร
- พลังงานและวัสดุ
- สุขภาพและการแพทย์
- ท่องเที่ยวและบริการ
ทั้งสี่กลุ่มนี้คิดเป็นประมาณ 21% ของ GDP หรือคิดเป็น 1 ใน 5 และเป็นกลุ่มที่ปล่อย ก๊าซเรือนกระจก จำนวนมาก สิ่งที่พยายามทำ คือ นวัตกรรม เทคโนโลยี ช่วยลดการปลดปล่อย และ นำไปสู่การปรับตัวในการลดผลกระทบโลกร้อนให้ได้
ตัวอย่างการขับเคลื่อนในกลุ่ม “เกษตรอาหาร” เช่น การปลูกพืช ปศุสัตว์ การทำสูตรอาหารที่เหมาะสำหรับสัตว์ หากรู้ลึกไปถึงจุลินทรีย์ในกระเพาะอาหารสัตว์จะลดก๊าซเรือนกระจกได้ หรือในกลุ่ม “ท่องเที่ยวและบริการ” หลายคนมองว่าจะทำได้จริงหรือไม่ แต่ขณะนี้ การจัดประชุม ไมซ์ (MICE) มีการคำนึงถึงตั้งแต่ลงเครื่องบิน รถที่มารับ อาหารที่กิน โรงแรมที่พัก จนกระทั่งขึ้นเครื่องกลับ โดยทำให้เป็น Green หากสามารถทำกันได้ทุกภาคส่วน เป้าหมายที่ยากจะเป็นไปได้
“ขณะเดียวกัน การเชื่อมโยงเศรษฐกิจ BCG กับ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มี 4 ยุทธศาสตร์ 13 มาตรการ ทั้งหมดมีเป้าหมายเพื่อช่วยลดการใช้ทรัพยากรให้ได้ 1 ใน 4 จากปัจจุบัน ภายในปี 2570 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 20 – 25% ภายใน 5 ปี”
หนุนเอกชน สู่เศรษฐกิจหมุนเวียน
ในเรื่องของ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มีกรอบการพัฒนายุทธศาสตร์เศรษฐกิจหมุนเวียน ปี 2030 พร้อมกับทำ Circular Design & Solution Platform สร้างขีดความสามารถให้กับเอกชนออกแบบตั้งแต่เริ่มผลิต วางแผนผลิต ผลิต และขาย และดึงเอาของเสียกลับมา เชื่อมโยงกับแหล่งทุน ธนาคาร ในรูปแบบให้เปล่าและเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ โดยทำงานร่วมกับ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Network Thailand) หรือ GCNT รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีมาจากเนเธอร์แลนด์
ขณะนี้ มีเอกชนที่เข้าร่วมมากกว่า 100 แห่ง ไม่ว่าจะอุตสาหกรรมโรงแรม อาหาร ก่อสร้าง เพื่อให้ทุกคนเข้าใจและขยายต่อไป ตั้งเป้าลดการใช้ทรัพยากรลง 1 ใน 4 ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างน้อย 30 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ สร้างมูลค่าจากเศรษฐกิจหมุนเวียน 3% ของ GDP
ปัจจัยเอื้อและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น
- การพัฒนาขีดความสามารถ
- ระบบการรับรองคุณสมบัติ/มาตรฐาน
- R&D Programs
- กฎระเบียบและแรงจูงใจทางการเงิน/การคลัง
- เครื่องมือการลงทุน
- การส่งเสริม การขาย และการส่งออก
เดินหน้า เกษตรรักษ์โลก
ขณะเดียวกัน เรื่องเกษตร มีการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านเทคโนโลยี เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ในการปรับตัวของภาคการเกษตร เพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นแพลตฟอร์ม ที่จะรู้ข้อมูลด้านการเกษตรทั้งหมด ดิน น้ำ ช่วงเวลากับการปลูก การขาย โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ทำงานร่วมกับ กระทรวงเกษตร งานด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และนโยบาย BCG จะมีส่วนสำคัญในการช่วยในแผนกระทรวง ทส. ได้วางไว้
รวมพลังก้าวข้าม ความท้าทาย
ดร.กิติพงค์ กล่าวต่อไปว่า BCG ชัดเจนว่า เป็นตัวขับเคลื่อนประเทศไปถึงเป้าหมาย การรวมพลังน่าจะเป็นเรื่องสำคัญ ในมุมของเทคโนโลยี และนวัตกรรม ตอนนี้พยายามที่จะทำให้เป็นเครือข่าย และทำงานรวมกันทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคการศึกษา โดยเซ็ตขึ้นมาเป็น CE Innovation Policy Forum โดยร่วมกับภาคอุตสาหกรรม ช่วยทำโรดแมป โดยเชื่อว่ามี Vision ที่จะเดินหน้าไปด้วยกัน
ถัดมา คือ การทำ Eco System รองรับ โดยเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม ผ่านแพลตฟอร์มของทาง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (FTI) รวมถึงการเชื่อมกันระหว่างทั่วโลก เพราะเทคโนโลยีหากไม่เชื่อมโยงกับทั่วโลกก็จะเป็นไปได้ยากมาก
“ประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศ ที่ทำงานจริงจังในเรื่องนี้ และทำงานร่วมกับ United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC มาโดยตลอด หนึ่งในนั้นก็เป็นเรื่องเทคโนโลยี ซึ่งมีทีมงานช่วยขับเคลื่อนในด้านเทคโนโลยีนวัตกรรม” ดร.กิติพงค์ กล่าว