ความมั่นคงด้านพลังงาน VS ความเป็นกลางทางคาร์บอน สู่ความสมดุลที่ยั่งยืน

ความมั่นคงด้านพลังงาน VS ความเป็นกลางทางคาร์บอน สู่ความสมดุลที่ยั่งยืน

ทุกประเทศมีความต้องการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่จะเติบโตได้ต้องใช้พลังงานและพลังงานไฟฟ้า ดังนั้น ในมุมหนึ่งเราต้องมีพลังงานสำหรับใช้ และอีกด้านต้องเดินหน้าสู่ "ความเป็นกลางทางคาร์บอน" จึงจำเป็นต้องสร้างความสมดุลที่ยั่งยืนทั้งสองส่วน

เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 65 “บุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร” ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวในช่วงเสวนา "เสริมพลังไทยสู่ความยั่งยืนด้านสภาพภูมิอากาศ (Powering Thailand for Climate Resilience and Sustainability)" หัวข้อ ความมั่นคงด้านพลังงาน VS ความเป็นกลางทางคาร์บอน – ความสมดุลที่ยั่งยืน (Energy Security vs. Carbon Neutrality) ในการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย (TCAC Opening Plenary) ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยระบุว่า การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน สู่ความสมดุลทางคาร์บอน เทรนด์ของโลกมุ่งไปสู่ Net Zero เช่น การลงทุน พลังงานสะอาด เทคโนโลยีสะอาดที่มีประสิทธิภาพ และลดการใช้พลังงานลง เปลี่ยนไปใช้ EV มากขึ้น ลดการใช้ โรงไฟฟ้าถ่านหิน และถูกแบนไปทั่วโลก

 

“ขณะเดียวกัน ในช่วงนี้ก๊าซ น้ำมัน แพง มีหลายประเทศหันกลับมาใช้ถ่านหินแต่เป็นการใช้ชั่วคราว เมื่อหันกลับมามองที่ประเทศไทย ด้วยเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลง 40% ในปี 2030 เดินหน้าสู่ ความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2050 และ Net Zero ในปี 2065 ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan : PDP) ที่กำลังจะออกมาใหม่ จะเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนจากเดิม 30% เป็น 50% และมองว่ายังเพิ่มได้อีก มีการส่งเสริมการใช้ EV มากขึ้น รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานให้มากกว่า 30% พร้อมกับใช้ดิจิทัลผลิตไฟฟ้ามากขึ้น”

 

ยุทธศาสตร์ 4D1E

 

อีกทั้งยังมียุทธศาสตร์ 4D1E ได้แก่

1.DIGITALIZATION นำดิจิทัลเข้ามาใช้ในการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น

2.DECARBONIZATION ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ชีวภาพ ชีวมวล

3.DECENTRALIZATION ไม่ได้ผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ส่งไปตามที่ต่างๆ เท่านั้น แต่อาจจะเป็นการผลิตไฟฟ้าด้วยโรงไฟฟ้าเล็กๆ หรือแม้กระทั่งบนหลังคาบ้าน ที่เหลือขายคืนระบบ

4.DE-REGULATION ตอบสนอง 3 เรื่องข้างบน ต้องมีการปรับเปลี่ยน กฎระเบียบต่างๆ

1.ELECTRIFICATION หันมาใช้ไฟฟ้าให้มากขึ้น และลดการใช้ฟอสซิลลง

 

กลยุทธ์ “Triple S”

 

บุญญนิตย์ กล่าวต่อไปว่า กฟผ. ในฐานะผู้ผลิตไฟฟ้าเพื่อความมั่นคง และกลายเป็นคนที่ถูกมองว่า ปล่อยคาร์บอน เพราะใช้ฟอสซิลในการผลิตไฟฟ้ามาตลอด ไม่ว่าจะเป็นก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน น้ำมัน อย่างไรก็ตาม เทรนด์ของโลกมาแบบนี้ อย่างที่ทราบว่าการปล่อยคาร์บอนจะส่งผลต่อโลกของเราในอนาคต ดังนั้น ในการทำงานของ กฟผ. และหน่วยงานของพลังงาน ของกระทรวงพลังงาน มีการปรับเปลี่ยน โดยกฟผ. มีการประกาศ ความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2050 หรือ 28 ปี จากนี้ไป ผ่าน 3 วิธีการ หรือที่เรียกว่า กลยุทธ์ “Triple S”

 

1. Sources Transformation

ปรับเปลี่ยนสัดส่วนการผลิต เพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ ร่วมกับเขื่อนพลังน้ำ และระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ การพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid modernization) และการนำเทคโนโลยีทันสมัยและพลังงานทางเลือกมาใช้ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าในอนาคต

2. Sink Co-Creation

เพิ่มแหล่งกักเก็บ ดูดซับคาร์บอน ทำงานร่วมกับกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่า และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ปลูกป่าไปแล้ว 4 แสนไร่ ตั้งเป้าจะเป็น 1 ล้านไร่ ในอีก 9 ปี คาดว่าจะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเฉลี่ย 1.2 ล้านตันต่อปี หรือประมาณ 23-24 ล้านตันตลอดโครงการ ขณะเดียวกัน ยังมีโครงการปลูกป่าล้านไร่อย่างมีส่วนร่วม การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture Utilization and Storage : CCUS) เพื่อกักเก็บคาร์บอนปริมาณ 3.5 - 7 ล้านตัน ในปีพ.ศ.2588

 

3. Support Measures Mechanism

ส่งเสริมให้มีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เกิดการเข้าใจ มีส่วนร่วมในสังคม เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก เช่น ฉลากเบอร์ 5 มีอุปกรณ์ 19 ชนิด ราคาอาจจะสูงขึ้นเล็กน้อย แต่สามารถช่วยเหลือโลกได้ หรือการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ทุกหน่วยงานร่วมมือช่วยกันทั้งในส่วนของตัวรถ และสถานีชาร์ต

 

ผลิตไฟฟ้าจาก โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ

 

ทั้งนี้ กฟผ. ดูแลเขื่อนขนาดใหญ่ของประเทศราว 10 กว่าแห่ง โดยมีราว 9 แห่งทั่วประเทศที่มีความเหมาะสมในการทำแผงโซลาร์ฟฟาร์มลอยน้ำ โดยทำไปแล้วที่ เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี ขนาด 45 เมกะวัตต์ พื้นที่ 450 ไร่ ไม่ถึง 1% ของพื้นที่ผิวน้ำทั้งหมดของเขื่อนสิรินธร

 

ข้อดี คือ เหมือนกับโซลาร์ฟาร์มบนบก แต่ไม่ต้องรบกวนพื้นที่ทางการเกษตร ใช้พื้นที่น้ำที่มีอยู่มหาศาล ใช้สถานีส่งไฟฟ้าที่มีอยู่เดิมในเขื่อนนั้นๆ และมีแผนที่จะทำอีก 2,725 เมกะวัตต์ และมีการเสนอแผนเพิ่มเข้าไปอีก 5,000 – 10,000 เมกะวัตต์ และถือเป็นการสร้างงานภายในประเทศ

 

"โดยกฟผ. ได้ร่วมมือกับ ปตท. และ เอสซีจี ผลิตทุ่นในประเทศ ลดการนำเข้าวัสดุจากต่างประเทศ และลดการนำเข้าก๊าซจากต่างประเทศ รวมถึงปรับปรุงระบบส่งให้สามารถพลังงานทดแทนได้มากขึ้น”

 

“นอกจากนี้ ยังศึกษาเทคโนโลยี ในอนาคต คือ การพัฒนาพลังงานไฮโดรเจน หากราคาเหมาะสม คาดว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่เปลี่ยนโลกได้ คาดว่าจะเป็นประโยชน์ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อยู่ในช่วงการศึกษา ทดลองใช้”

 

ความท้าทาย กับ เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน

 

สำหรับ อุปสรรค และ ความท้าทาย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มองว่า การตั้งเป้าหมายอีก 28 ปีข้างหน้า ต้องใช้ความพยายาม ทั้งเทคโนโลยี การลงทุน Mindset ของคน และความร่วมมือของทุกภาคส่วน ไม่ใช่เรื่องง่าย ทำอย่างไรให้ช่วยกันทำอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ไม่เช่นนั้น สิ่งที่คุยกันวันนี้ หากอีก 28 ปีข้างหน้าเรามองกลับมาดูอาจจะรู้สึกว่าเราตั้งเป้าสูงเกินไปหรือเปล่า หรือเราพยายามน้อยเกินไปหรือไม่ ดังนั้น เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของภาครัฐ เอกชน ขนาดใหญ่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของเราทุกคน ภาครัฐ เอกชน และประชาชน