อัพเดท ! อาหาร "กัญชา" และ "กัญชง" อยากขายต้องทำอย่างไร
ปัจจุบัน "ตลาดกัญชา" กัญชง กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากหลังจากการ "ปลดล็อกกัญชาพ้นยาเสพติด" โดยเฉพาะการนำไปประกอบอาหาร ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการ ต้องทำตามแนวทางที่ถูกต้องเพื่อให้ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ และธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มีการประเมินมูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมกัญชา โดยจากการประมาณการณ์พื้นที่เพาะปลูกกัญชง-กัญชา ล่าสุด ณเดือนเม.ย. 2565 ไทย มีพื้นที่เพาะปลูกกว่า 7,500 ไร่ มีมูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ รวมกว่า 28,000 ล้านบาท แบ่งเป็น
ผลิตภัณฑ์ต้นน้ำ
- มูลค่า 9,615 ล้านบาท
- ช่อดอกแห้ง 8,123 ล้านบาท
- ใบแห้ง 1,128 ล้านบาท
- เมล็ด 140 ล้านบาท
- ส่วนอื่นๆ 224 ล้านบาท
ผลิตภัณฑ์กลางน้ำ
- สารสกัดเข้มข้น 12,410 ล้านบาท
- น้ำมันกัญชา/น้ำมันกัญชง1,383 ล้านบาท
- เส้นใยกัญชง 896 ล้านบาท
ผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ
- ยารักษาโรคและอาหารเสริมมีมูลค่า 1,500 ล้านบาท
- อาหารและเครื่องดื่ม 1,200 ล้านบาท
- เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ 800 ล้านบาท
- เครื่องนุ่งห่มและของใช้ส่วนตัว 250 ล้านบาท
และยังมีการคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดในช่วง 3 ปีข้างหน้า จะโตได้ 10-15% มีมูลค่าสูงถึง 42,800 ล้าน โดยผลิตภัณฑ์ปลายน้ำจะเติบโตเร่งกว่าปัจจุบัน โดยคาดว่าจะสร้างรายได้ให้เกษตรกรสูงถึง 800,000 บาทถึง 1.2 ล้านบาทต่อไร่ต่อปี หรือเฉลี่ย 1 ล้านบาทต่อไร่ต่อปี หากเทียบกับการปลูกข้าว เกษตรกรจะมีรายได้จะอยู่ที่ 10,000-15,000 บาทต่อปี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
คาดตลาด 'กัญชา-กัญชง' ทะลุ 4.2 หมื่นล้าน
กัญชา-กัญชง ความหวัง "เกษตรกร" คาด 3 ปี มูลค่าทะลุ 4.2 หมื่นลบ.
"กัญชง" พืชเศรษฐกิจใหม่ คาดปี 70 ตลาดโลกพุ่ง 1.86 หมื่นล้านดอลล่า
ทั้งนี้ หลังจากที่ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศเกี่ยวกับการควบคุมกัญชา 2 ฉบับเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยระบุถึง หลักเกณฑ์ วิธีการ การควบคุมคุณภาพและการจัดการสุขลักษณะของการจำหน่ายอาหารประเภทปรุงสำเร็จในสถานที่จำหน่ายอาหาร โดยเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมที่เกี่ยวกับการนำ กัญชา หรือ กัญชง มาทำอาหารเพื่อจำหน่าย โดยให้เพิ่มข้อ 6/1 "อาหารประเภทปรุงสำเร็จตามข้อ 5 และข้อ 6 ที่มีการนำกัญชา หรือ กัญชงมาใช้เป็นส่วนประกอบในการทำประกอบ หรือปรุงอาหาร ให้ดำเนินการเพิ่มเติม
ขายอาหาร กัญชา กัญชง ต้องทำอย่างไร
สำหรับผู้ที่ต้องการจำหน่ายอาหารปรุงสุกที่มีส่วนประกอบของ กัญชา และ กัญชง ดำเนินการดังต่อไปนี้
1. แสดงข้อความหรือป้ายสัญลักษณ์ว่าเป็นสถานที่จำหน่ายอาหารที่มีการใช้ "กัญชา" หรือ "กัญชง" เป็นส่วนประกอบในอาหารประเภทปรุงสำเร็จ
2. แสดงรายการอาหารที่มีการใช้ "กัญชา" หรือ "กัญชง" เป็นส่วนประกอบในอาหารประเภทปรุงสำเร็จทั้งหมด
3. แสดงข้อแนะนำความปลอดภัยในการบริโภคอาหารที่มี "กัญชา" หรือ "กัญชง" เป็นส่วนประกอบ ได้แก่
- บุคคลที่มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปี สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตรควรงดเว้นรับประทาน
- ถ้ามีอาการผิดปกติ ควรหยุดรับประทานทันที และถ้ามีอาการรุนแรงให้ปรึกษาหรือพบแพทย์โดยเร็ว
- ผู้ที่แพ้กัญชา หรือกัญชง ควรงดเว้นรับประทาน
- รับประทานแล้วเกิดอาการง่วง ซึม ให้หลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะหรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล
หลักสูตรอบรม ประกอบอาหาร กัญชา กัญชง ปลอดภัย
ขณะเดียวกัน กรมอนามัย ได้กำหนดหลักสูตรใช้กัญชา กัญชง ในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหารที่ปลอดภัย เป็นหัวข้อวิชาหนึ่งใน "การอบรมผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหาร พ.ศ. 2565" เพื่อสร้าง ความรู้ความเข้าใจในการนำกัญชา กัญชงมาทำอาหารจำหน่ายอย่างปลอดภัยโดยมีทั้งหมด 2 หลักสูตร คือ
- หลักสูตรผู้ประกอบกิจการ
- หลักสูตรผู้สัมผัสอาหาร
มีระยะเวลาในการอบรม 30 นาที
ประเด็นสำคัญในการอบรม
- คุณค่าทางโภชนาการของกัญชา กัญชง และโทษในกรณีบริโภคไม่เหมาะสม
- การนำกัญชากัญชง มาใช้เป็นส่วนประกอบในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหารที่เหมาะสมและปลอดภัยต่อผู้บริโภค
- ข้อปฏิบัติในการนำกัญชาหรือกัญชงมาใช้ในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหาร
- โดยในหลักสูตรของผู้ประกอบกิจการจะเพิ่มเรื่องบทบาท หน้าที่ของผู้ประกอบกิจการในการควบคุมกำกับ ดูแลการใช้กัญชาหรือกัญชงในสถานที่จำหน่ายอาหาร
ตัวอย่างเมนูอาหารกัญชาไทย
ทั้งนี้เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลอภัยภูเบศร เปิดตัวร้านอาหาร "กัญชารส" ร้านอาหารเอาใจสายเขียว จัดเต็มเมนู กัญชา ชูรสชาติด้วยสมุนไพรไทยโบราณ ในรูปแบบอาหารฟิวชันกัญชาไทย 4 เมนูเด็ด ได้แก่
1. "รื่นเริง บันเทิงยำ" เติมเต็มทุกคำ สุขล้ำทุกเวลา (ใส่กัญชา 5 ใบต่อจาน)
2️. "กระเพราสุขใจ" กินมื้อไหนก็ไม่เบื่อ (ใส่กัญชา 1/2 ใบต่อจาน)
3️. "ขนมปังคิกคัก" กินเสริมเวลาพัก แล้วจะรักทุกคำ (ใส่กัญชา 2 ใบต่อจาน)
4️. "เล้งแซ่บซดเพลิน" ช่วยเจริญอาหาร (ใส่กัญชา 5 ใบต่อจาน)
ร้านอาหารนี้ ถือเป็นหนึ่งในเมนูคนรักสุขภาพรูปแบบใหม่ในช่วงดังกล่าว ต่อยอดนโยบาย "ปลดล็อกกัญชา" ที่อนุมัติให้ใช้ กิ่ง-ก้าน-ใบ ของต้นกัญชา โดยไม่ผิดกฎหมาย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : เปิดตัว! 'กัญชารส' ร้านอาหารกัญชา แห่งแรกในไทย
ไม่ควรบริโภคอาหารที่มี "กัญชา" เกิน 2 เมนูต่อวัน
แม้จะมีการอนุญาตให้นำกัญชา และ กัญชง มาประกอบอาหารภายใต้แนวทางที่กำหนด อย่างไรก็ตาม "กรมอนามัย" แนะประชาชนไม่ควรบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของ "กัญชา" 2 เมนูต่อวัน และขอให้ประชาชนหมั่นสังเกตอาการหลังกินอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาว่ามีอาการแพ้หรือไม่ พร้อมเตรียมออกข้อมูลแนวทางการบริโภคกัญชาอย่างถูกต้อง
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย แนะว่า ประชาชนไม่ควรกินอาหาร น้ำดื่ม และขนม ที่มีส่วนผสมของกัญชาไม่เกินวันละ 2 เมนู โดยในเมนูอาหารที่ใส่ใบกัญชาต้องใส่ไม่เกิน 2 ใบ
ส่วนกลุ่มอาการ "แพ้กัญชา" จะมีอยู่ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ไม่มีอาการอะไรเลย กลุ่มที่มีอาการแพ้ เช่น หน้าแดง มีผื่นขึ้นตามตัว และ กลุ่มที่ไม่มีอาการทันที แต่ต้องคอยระยะเวลาในการออกอาการแพ้ หรือเกิดอาการแพ้หากบริโภคในปริมาณมาก ซึ่งกลุ่มอาการแพ้ที่ 2 จำเป็นต้องได้รับคำแนะนำในการบริโภค ส่วนกลุ่มที่ 3 ควรต้องจำกัดปริมาณในการบริโภค
"ผู้ที่บริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาด้วยว่าไม่ควรขับรถ ไม่ควรใช้เครื่องจักร และไม่ควรทำงานในที่สูง ทั้งนี้ กรมอนามัย จะจัดทำแนวทางคู่มือบริโภคกัญชาอย่างถูกต้อง เพื่อให้ประชาชนบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาอย่างปลอดภัย" อธิบดีกรมอนามัย กล่าว