‘สะปัน’ หมู่บ้านในนิทาน วัคซีนใจที่รอ
'ชุมชนบ้านสะปัน' น่าน อีกหนึ่งหมุดหมายที่จะเติมใจให้คนที่กำลังโหยหาธรรมชาติอากาศบริสุทธิ์ท่ามกลางหุบเขาแสนสวยในฤดูฝน รอทุกคนที่ต้องการชาร์จแบตหลังปลดล็อกดาวน์จากมาตรการป้องกัน 'โควิด-19'
หมู่บ้านเล็กๆ กลางหุบเขาของตำบลดงพญา อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ที่โอบล้อมไปด้วยต้นไม้ ธารน้ำและสายลม ที่บางวันธรรมชาติจัดสรรให้ บ้านสะปัน นั้นเหมือนหมู่บ้านในฝันยามเช้า ถือเป็นตัวเลือกที่ดี ของคนรักธรรมชาติ ที่อยากหลบละอองฝอยโควิดแล้วไปติดออกซิเจน ให้ปอดได้ชุ่มฉ่ำจนลืมเรื่องเก่าๆ หรือ หากเล่าให้ฟัง หลายคนอาจจะบอกว่า “ไม่เชื่อ” ก็เป็นไปได้ ด้วยที่ผ่านมา จังหวัดที่ถูกขนานนามว่าเป็น ‘หุบเขาข้าวโพด’ ทำเกษตรเชิงเดี่ยวมอย่างยาวนานโยงใยผลประโยชน์ “คน-ป่า-น้ำ” ผลกระทบ และระบบนิเวศ เกิดเป็นวิกฤติระดับประเทศตามหน้าหนังสือพิมพ์ จะหลงเหลือธรรมชาติที่สมบูรณ์สวยงามเช่นนี้
ทุกวันนี้หมู่บ้านกลางหุบเขาและสายน้ำ กลายเป็นชุมชนมีมนต์เริ่มมีคนรู้จัก และแวะเวียนเข้ามาเที่ยว หรือ เข้ามาพักโฮมสเตย์ อย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงรักษาวิถีเกษตรบนที่สูงอย่างเรียบง่าย ที่ยังทำนา ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ ทำสวน และ มีอาชีพทางการท่องเที่ยวเป็นรายได้เสริม ซึ่งถือเป็นตัวเลือกที่ดีของคนชอบธรรมชาติ ที่อยากอยู่นิ่งๆ ดูปลาเงียบๆ สลับกับการหันมาจดจ้องหนังสือเล่มโปรดที่ชานบ้านริมน้ำ หรือ ถ้าใครอยากเปลี่ยนบรรยากาศไปนอนที่ 'กระโจมสีขาวริมน้ำ' นอนนับดาวฟังเสียงลมพัดใบไม้ และเสียงน้ำไหลกระทบหิน กล่อมเราราวกับธรรมชาติกำลังบอกเราว่า “หลับฝันดี” ก่อนที่จะตื่นมาชมสายน้ำกระทบแดดยามเช้า ซึ่งหอมกรุ่นไปด้วยกาแฟที่เจ้าของกระโจมจัดเตรียมไว้ให้
นอกจากแลนด์มาร์คที่กล่าวไปทั้ง 2 จุด ยังมีที่พักบนเชิงเขา สำหรับคนชอบทิวทัศน์ที่มองออกจากที่พัก หรือ ม้านั่ง จะเห็นฟ้ากว้างสลับสันเขาแบบท๊อปวิว คมชัดยิ่งกว่าดูทีวี UHD ขนาด 75 นิ้ว ตรงจุดนี้เอง ที่ ‘เก่ง’ บัญชา รื่นมณี ผู้จัดการที่พักสุดชิค 2 ชั้น ริมน้ำว้า บ้านสะปัน Retreat เล่าว่า ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ จะเป็นจุดดูดาวที่สวยงามมองเห็นดาวทุกดวงยามค่ำคืน เมื่อตื่นขึ้นมาจะเห็นไอหมอกบนผิวน้ำใน โดยในวันนั้นบรรยากาศช่วงเช้ามืดเต็มไปด้วยหมอกอุณหภูมิประมาณ 10 องศา อุณหภูมิที่ทำให้หนาวจนสั่น (เทียบอุณหภูมิวันนั้นวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563 กทม.อยู่ที่ 30 องศา)
สิ่งที่เก่งเล่า ชวนให้จิตนาการตาม และเห็นภาพสายหมอกจางๆ กับสายน้ำว้า ผสมผสานกับทิวเขา และ ต้นหญ้าสีเขียว ทำให้รู้สึกว่าบ้านสะปัน ไม่ได้เหมือนอยู่ในนิทานแต่ผมว่ามันเหมือนอยู่ในฝันหรือภาพยนตร์ ที่เป็นฉากต้องมีการต่อสู้และหลบหนีใครสักคนมากกว่า แต่ก็ไม่กล้าที่จะแย้ง ปล่อยให้เล่าไต่ลำดับความพีคของเรื่องว่า ถ้าขยับมาอีก 2 เดือน คือ ช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน
ที่นี่จะสวยอีกแบบ แม้จะเป็นช่วงฤดูฝน แต่มองไปหนใดจะเห็นแต่เขียวสวย...จากทุ่งนาและหญ้าอ่อน ครั้งใดหายใจเข้าหายใจออก จะยาวหรือจะสั้น อากาศที่รับเข้าไป ‘ชุ่มปอด’ ไม่แพ้สายฝนที่ชุ่มฉ่ำ ระรินเป็นสายน้ำไหลรวมเป็นสายน้ำว้า ที่ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เปรียบเป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงประเทศไทย
นอกจากธรรมชาติแล้ว บ้านสะปันยังมีความเรียล ของวิถีชนบทและวิถีเกษตร ที่ทุกๆ เช้าเกือบทุกบ้านต้องมาซื้อเนื้อ หมู ไก่ ขนมหวาน ผัก และผลไม้ ซึ่งแม่ค้าลงไปซื้อที่ตัวอำเภอตั้งแต่เช้ามืด วางเรียงกันบนโต๊ะใต้เพิงที่ต่อออกมาจากตัวบ้าน ระหว่างเลือกซื้อของ และรอจ่ายตังค์ จะมีการสนทนาเรื่องราวต่างๆ นานา ที่บางช่วงคุยกันเสียงดัง หัวเราะลั่น บางช่วงเสียงแผ่วเบาแทบจนไม่ได้ยินและเดาได้ว่ากำลังพูดถึงใครสักคน ต่างจากร้านสะดวกซื้อที่กรุงเทพต่างรีบซื้อ รีบไป เพราะข้างหลังมีคนอื่นรอจ่ายตังค์อยู่ ที่สำคัญทุกคนต่างดูไม่ได้เร่งรีบ ตกสายมาหน่อยผักชนิดต่างๆ ถูกสะพายใส่หลังมารวมไว้ที่ร้านค้า ก่อนฝากไปส่งที่ตลาดอำเภอ เช้ามาก็รับตังค์ค่าผัก พร้อมกับซื้อของไปทำกับข้าวที่บ้าน
ความเป็นมิตรใช่แสดงออกแค่กับคนในชุมชน ที่มีอุปนิสัย เป็นมิตร ใจดี เรียบง่าย เชื่อมโยงกับวิถีธรรมชาติ แต่แสดงออกกับทุกคนที่แวะเวียนเข้ามาเที่ยว
ฟังคนทำท่องเที่ยว เหมือนจะขายของ แต่ในมุมของ เฟื่องลดา แก้วนาง นักท่องเที่ยวจากจังหวัดมหาสารคาม เธอออกตัวว่ามาจังหวัดน่านเป็นครั้งแรก ก่อนจะเล่าถึงความประทับใจธรรมชาติที่อยู่เบื้องหน้าว่าไม่คิดไม่ฝันว่าจะได้มาที่นี่ และที่ได้มาก็เพราะมาออกค่ายวิชาสารคดี ของนิสิตสาขาวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มาแล้วก็รู้สึกประทับใจ ที่นี่หลายๆ อย่าง เช่นที่บ่อเกลือ ก็คุ้นแค่ว่า เกลือเค็มๆ ใช้ปรุงอาหาร แต่ไม่เคยได้สัมผัส และเรียนรู้กระบวนการทำเกลือหรือต้มเกลือ ซึ่งเป็นที่มาของเกลือเชื่อมโยงทั้งวิถีชีวิต ประเพณี และประวัติศาสตร์...พอได้เห็น ได้รู้ ก็รู้สึกว้าว ทั้งที่ตอนแรกรู้สึกถอดใจกับการเดินทางที่ต้องนั่งรถจาก จ.มหาสารคาม มาที่จ.น่าน และต้องขึ้นเขามาที่ อ.บ่อเกลือ ภาพฝันจึงไม่มี มีแต่ความรู้สึกเมื่อยล้า
ในขณะที่ชาวบ้าน ไม่ได้มองว่า การท่องเที่ยวเป็นอาชีพหลัก มองเป็นเพียงอาชีพเสริม “เงินไม่ใช่ทุกสิ่ง แต่ธรรมชาติเป็นทุกอย่างให้เรา” และยังคงอาชีพเกษตรกร ส่วนท่องเที่ยวให้คนรุ่นใหม่ดำเนินจะได้ไม่ต้องลงเขาไปทำงานในเมือง ห่างพี่ห่างน้อง แม้จะไม่ใช่อาชีพหลัก แต่ทุกคนต้องมีส่วนร่วม เพราะทุกคนต่างเป็นเจ้าของธรรมชาติ ที่ทุกคนตกลงกันไว้และอยากให้พึงตระหนักว่า “ธรรมชาติ คือ ทุกอย่างต้องรักษา ซึ่งหากวันใดธรรมชาติไม่เหมือนเดิมใครจะมาเที่ยว”
เนื่องด้วยที่ผ่านมาบ้านสะปัน และ อีกหลายชุมชนที่นี่ ประสบกับปัญหาวิกฤติทางธรรมชาติ ที่ครั้งหนึ่ง สายน้ำว้าและสายน้ำปัน และสายน้ำน้อยใหญ่ รวมแล้วประมาณ 27 สาย ไหลมาบรรจบกันที่บ้านสะปัน ได้เกิดความเสียหายอย่างหนัก สร้างจุดเปลี่ยนให้ชาวบ้าน
เมธวัฒน์ พุทธธาดากุล นายกอบต.ดงพญา ประธานโครงการป่าชุมชนบ้านสะปัน ย้อนถึงบทเรียนที่ผ่านมาว่า ตั้งแต่ก่อน ปี พ.ศ. 2553 พื้นที่ป่าธรรมชาติในจังหวัดน่านได้ถูกเปลี่ยนเป็นที่พื้นการเกษตรเชิงเดี่ยวเพื่อการพาณิชย์อย่างรวดเร็วจนคาดไม่ถึง โดยเฉพาะการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จำได้ว่าตัวเลขกลมๆ ของพื้นที่ปลูกอยู่ที่ 9 แสนไร่และเพิ่มขึ้นทุกปีหลังจากนั้น
ผลกระทบที่ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ คือ การพังทลายของดินบนพื้นที่ลาดชัน การชะล้างตะกอนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติในช่วงฤดูฝน ครั้นพอถึงฤดูแล้ง ภูเขาสีน้ำตาลก็ถูกซ้ำเติมด้วยไฟป่าและหมอกควัน ซึ่งคนที่ต้องทนทุกข์มากกว่าใคร ก็คือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดที่ทำเท่าไรก็ไม่รวยสักที แถมยังต้องเผชิญกับพิษของสารเคมีทั้งที่สูดดมเข้าไปและปนเปื้อนในแหล่งน้ำ
บทเรียนที่คนที่นี่และคนน่านได้รับ ต่างรู้ดีว่าเพราะอะไร ปัญหาจึงไม่ถูกปล่อยลอยเหนืออากาศ แต่กลับมีการล้อมวงพูดคุย และ ได้ทำวิจัย ‘แนวทางการอนุรักษ์ และ ฟื้นฟูฐานทรัพยากรธรรมชาติ’ โดยการสนับสนุนของฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) หรือ สกสว. ปัจจุบัน ที่เน้นกระบวนการแลกเปลี่ยน และ การเก็บข้อมูลอย่างมีส่วนร่วม ซึ่งถือเป็นอาวุธสำคัญ ที่ชุมชนได้นำมาสู้กับปัญหาร่วมกัน เพราะปัญหาไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง หากเราไม่แก้ไขและรักษาทรัพยากร สมบัติที่ธรรมชาติให้มาไว้เลี้ยงชีพ ดังนั้นเราจะต้องบอกให้ลูกหลานได้ตระหนัก อย่าให้หมดไปในรุ่นนี้ แต่ให้งอกงามจนถึงรุ่นต่อไป
ไม่ว่าภาพความงามของธรรมชาติ เรื่องราวที่บอกเล่ามานี้ จะกระตุ้นความปรารถนาของเราให้ออกไปหา ‘วัคซีนใจ’ มากเพียงใด แต่เราทุกคนที่จะออกจากบ้าน ‘การ์ดต้องไม่ตก’ พกหน้ากากอนามัย และ บอกหมอชนะ แอพพลิเคชั่น รายงานตัว เพื่อเราทุกคน ไม่งั้นก็อาจกลายเป็นดราม่าของคนเมืองผู้โหยหาธรรมชาติอีกเรื่องก็เป็นได้