อาหารฟังก์ชัน...เสริมสุขภาพ

อาหารฟังก์ชัน...เสริมสุขภาพ

ชีวิตที่เร่งรีบ อาจทำให้หลายคนลืมใส่ใจเรื่องอาหารการกิน จนต้องเลือกบริโภคอาหารเสริม แต่เลือกอย่างไรล่ะถึงจะเหมาะกับร่างกาย

การดำเนินชีวิตในยุคนี้จำเป็นต้องปรับตัวให้รวดเร็วทันตามกระแส บางครั้งอาจทำให้ละเลยเรื่องความสำคัญของการเลือกสรรอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย บางคนงดอาหารเช้า ทานอาหารกลางวันผิดเวลา และทานอาหารหนักในมื้อเย็นหรือมื้อดึก ซึ่งเป็นวิถีที่ไม่ถูกต้อง หรือแม้แต่อาหารที่รับประทานก็เน้นหนักอาหารที่มีผลในทางลบต่อสุขภาพ มากกว่าจะให้ผลเชิงบวก

องค์ประกอบหลักในอาหารแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นสารอาหาร (nutrients) และส่วนที่ไม่ใช่สารอาหาร (nonnutritive) องค์ประกอบทั้งสองส่วนมีความสัมพันธ์ต่อการป้องกัน และ ช่วยส่งเสริมการรักษาโรคเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคกระดูกพรุน

ในสหรัฐอเมริกา ผู้บริโภคใช้จ่ายเงินมากกว่าหมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อปีกับการเลือกซื้ออาหารฟังก์ชัน ที่เป็นทางเลือกหนึ่งในการดูแลรักษาสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ โดยตลาดอาหารประเภทได้รับความนิยมอย่างมาก ท่ามกลางพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เร่งรีบ และมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย
กว่า 20 ปีมานี้ ผู้บริโภคเอเชียเองเริ่มให้ความสนใจกับอาหารฟังก์ชันมากขึ้น

ผศ.ดร.เอกราช บำรุงพืชน์ ชมรมโภชนวิทยามหิดล บอกว่า กระแสอาหารเพื่อสุขภาพ ส่งผลให้นักโภชนาการ นักกำหนดอาหาร นักวิทยาศาสตร์การอาหาร แพทย์ เภสัชกร พยาบาล และนักการตลาดทางด้านอุตสาหกรรมอาหาร หันมาทำการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร ทำให้เกิดการค้นพบคุณประโยชน์และสรรพคุณทางยาของอาหารมากขึ้น

“อาหารฟังก์ชัน (Functional food) จริงๆ แล้ว หมายถึง อาหารหรือสารอาหารชนิดใดๆ ที่อยู่ในรูปธรรมชาติหรือที่ถูกแปรรูปไปเพื่อให้ประโยชน์ต่อสุขภาพนอกเหนือจากประโยชน์ที่ได้รับจากสารอาหารที่รับประทานกันในชีวิตประจำวัน ”

ประโยชน์ของอาหารฟังก์ชันนอล ก็คือ เป็นอาหารที่รับประทานร่วมกับมื้ออาหารได้ และให้ผลต่อระบบการทำงานของร่างกายในการป้องกันโรค เพิ่ม
ภูมิคุ้มต้านทาน ชะลอความเสื่อมของเซลล์ในอวัยวะต่างๆ ของร่างกายและส่งเสริมสุขภาพ สำหรับอาหารที่ถูกปรับเปลี่ยนไป รวมทั้งอาหารที่ถูกเสริมด้วย
สารพฤกษเคมี หรือสมุนไพร เพื่อเพิ่มคุณค่าและคุณประโยชน์ให้กับอาหาร ก็ถูกจัดอยู่ในประเภทอาหารฟังก์ชันด้วยเช่นกัน

ผศ.ดร.เอกราช อธิบายว่า อาหารที่จัดว่าเป็นอาหารฟังก์ชันนอลมีหลากหลายประเภท เช่น พรุน ที่นอกจากจะให้วิตามิน เกลือแร่และอุดมด้วยใยอาหารที่ช่วยในการระบายท้องแล้วยังอุดมด้วยสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ ได้แก่ กรดนีโอโคลโรเจ็นนิค (neochlorogenic acid) และ กรดโคลโรเจ็นนิค (chlorogenic acid) ที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ มะเขือเทศ มีสารไลโคพีน (Lycopene) ที่เป็นสารในกลุ่มแคโรทีนอยด์ที่เป็นสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพซึ่งให้ผลในการป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมาก และทำหน้าที่ต้านอนุมูลอิสระ

งา เป็นแหล่งของแคลเซียมและยังมีสารเซซามินซึ่งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยในกระบวนการกำจัดสารพิษ โสม มีสารที่ทำให้ร่างกายมีการปลดปล่อยพลังงานมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงช่วยลดความเมื่อยล้า ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดและปรับสภาพร่างกายและจิตใจให้สามารถอดทนต่อความเครียดได้ น้ำมันปลา ซึ่งประกอบด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง หรือโอเมก้า-3 ที่สามารถลดระดับไขมัน ช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด

แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องเข้าใจว่า อาหารฟังก์ชันไม่ใช่อาหารหลัก จึงไม่สามารถทดแทนอาหารหลักได้ แต่เป็นอาหารที่รับประทานเพื่อเสริมอาหารหลัก ที่อาจได้รับไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย สิ่งที่ควรปฏิบัติก็คือ การรับประทานอาหารให้หลากหลาย เพียงพอ และเหมาะสม ครบทุกหมวดหมู่ หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทำจิตใจให้แจ่มใส พักผ่อนอย่างเพียงพอ และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ทำร้ายร่างกาย เพื่อการส่งเสริมให้มีสุขภาพดีโดยเฉพาะในปีใหม่นี้ต่อไป