บัณฑูร ล่ำซำ:สัมพันธภาพที่เป็นมงคลแห่งชีวิต
การสิ้นพระชนม์ของ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ยังความโศกเศร้าแก่เหล่าพุทธศาสนิกชนชาวไทยทั่วประเทศ
รวมถึง บัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะบุคคลที่มีความใกล้ชิดกับ สมเด็จพระสังฆราช มากเป็นพิเศษ
เพราะนอกจากจะได้รับการถ่ายทอดคำสั่งสอนธรรมะของพระพุทธองค์จากสมเด็จพระสังฆราชแล้ว บัณฑูรยังได้รับความไว้วางใจให้เป็นประธานกรรมการผู้จัดการมูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ด้วย หน้าที่หลักของเขาคือการบริหารทรัพย์สินซึ่งเก็บสั่งสมมากว่า 5 รัชกาล และเป็นทุนการศึกษาของพระสงฆ์ในสายธรรมยุต
การแต่งตั้งดังกล่าวยังพ่วงมาด้วยตำแหน่ง "ไวยาวัจกร" ของวัดบวรนิเวศวิหาร และของวัดญาณสังวราราม ไปโดยปริยาย
กว่าจะมาถึงวันนี้ บัณฑูรเล่าว่าเขาต้องฝ่าฟันและเกือบเพลี้ยงพล้ำโดนเหยียบจมธรณีมาแล้ว...
นอกจากหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย เขายังได้เข้าไปมีส่วนร่วมในงานของสมเด็จพระสังฆราชเมื่อมีโอกาส เช่น เมื่อปีที่ผ่านมาก็เป็นตัวตั้งตัวตีระดมทุนซื้ออุปกรณ์การแพทย์ให้กับโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จ.กาญจนบุรี ในโอกาสที่ปีนี้สมเด็จพระสังฆราชเจริญพระชันษาครบ 100 ชันษา และในปีนี้ยังได้จัดกฐินพระราชทานที่วัดเทวสังฆาราม ซึ่งเป็นวัดที่สมเด็จพระสังฆราชได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อปี 2469 อีกด้วย
เขาเล่าว่าต้องจองกฐินที่วัดนี้ล่วงหน้าถึง 2 ปีเพื่อให้ได้จัดพิธีในปีที่เป็นมหามงคล...
สำหรับบัณฑูรแล้ว เขาเปรียบสมเด็จพระสังฆราชเป็นวีรบุรุษ และเปรียบเสมือนบิดาอีกคนของเขา บัณฑูรเรียกความสัมพันธ์นี้ว่า "สัมพันธภาพที่เป็นมงคลแห่งชีวิต" ด้วยศรัทธาที่มีต่อพระองค์ท่านตั้งแต่เมื่อครั้งได้บวชเรียนครั้งแรกในวัดบวรนิเวศวิหารเมื่อปี 2520 และมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นพระอุปัชฌาย์ ได้มีโอกาสชื่นชมพระจริยวัตรอันงดงามของพระองค์
ต่อเมื่อลาสิกขาไปแล้ว บัณฑูรยังมีโอกาสได้เข้าไปขอคำปรึกษาปัญหาและขอหลักคิดในการดำเนินชีวิตอยู่บ่อยครั้ง ขณะที่สมเด็จพระสังฆราชเคยเสด็จไปที่ธนาคารกสิกรไทยสำนักงานใหญ่ ถนนพหลโยธินอยู่หลายครั้ง ตั้งแต่ยังไม่ได้เป็นสมเด็จพระสังฆราช
"ประทับใจในวัตรปฏิบัติของสมเด็จพระสังฆราช ในฐานะที่เป็นผู้มีวัตรปฏิบัติสม่ำเสมอ เป็นผู้อยู่ในศีลของพระพุทธเจ้าและทำงานตลอดเวลา โดยเฉพาะการถ่ายทอดความรู้ทางพระพุทธศาสนา สอนธรรมะให้แก่คนทั้งหลายโดยไม่เหน็ดเหนื่อย ทั้งเขียนหนังสือและเทศน์ หากเป็นพระใหม่จะทรงลงสอนเอง ตอนบวชทุกวันก็ต้องไปฟังท่านสอน ท่านทำอยู่อย่างนี้ทำจนร่างกายทำไม่ไหว"
หลักธรรมจากสมเด็จพระอุปัชฌาย์ที่กล่อมเกลาให้เขาใช้ชีวิตส่วนตัวและเป็นผู้บริหารองค์กรขนาดใหญ่อย่างธนาคารกสิกรไทยจนราบรื่นมาได้ก็คือ การบริหารอารมณ์ความโกรธ ด้วยความที่เป็นคนโกรธง่าย เขายอมรับว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องควบคุมอารมณ์โกรธไม่ให้เลยเถิด โดยใช้ปัญญาแก้ปัญหา
"ไม่ว่าจะเป็นชีวิตส่วนตัวหรือธุรกิจก็ต้องมีสติทำงานด้วยความรอบคอบมากกว่าปล่อยจิตให้ปลิวไปตามอารมณ์ นั่นคือธรรมะอย่างยิ่ง แต่บางอย่างต้องทำใจ หากเปลี่ยนไม่ได้ทันที ก็ต้องใช้อุเบกขา"
บัณฑูรยังได้ให้ข้อคิดถึงการดำรงอยู่ของพระพุทธศาสนาจากนี้ไปจะดีหรือไม่อยู่ที่พระสงฆ์ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มีความสามารถโน้มน้าวจิตใจของผู้มีจิตศรัทธาให้ยังศรัทธาศาสนาต่อไปในทางที่ชอบ ไม่ใช่ยึดติดวัตถุนิยมอย่างเดียว การสร้างอะไรที่อลังการแม้จะเป็นส่วนหนึ่งในการยกย่องพระศาสนา แต่ในตัวมันเองไม่ใช่ทางไปสู่ความสงบสุขอย่างแท้จริง ซึ่งความสงบสุขอย่างแท้จริงเป็นวัตถุประสงค์ของพระพุทธศาสนา...
นั่นคือความสงบสุขทางใจ