ไขปริศนา 3ปัญหาความงาม

ไขปริศนา 3ปัญหาความงาม

ปัญหาแผลเป็น ปัญหาผมร่วงและคอลลาเจนกินแล้วเต่งตึง จริงแค่ไหน จะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อย่างไร พบคำตอบและทางออกได้โดยแพทย์ผิวหนัง

สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรม “ไขปริศนา ปัญหาความงาม” เผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน เผยกรรมวิธีในการดูแลรักษาแผลเป็นทุกรูปแบบ พร้อมแนะปัญหาโรคผมร่วงและผลิตภัณฑ์รักษาผมร่วง รวมถึงประโยชน์ของคอลลาเจนกับผลิตภัณฑ์เสริมความงาม เตือนภัยผู้นิยมนำคอลลาเจนมาใช้ควรเลือกให้ถูกวิธี

ผศ. พญ. สุวิรากร โอภาสวงศ์ ประธานคณะอนุกรรมการ ประชาสัมพันธ์ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า การเผยแพร่ส่งเสริมการประกอบวิชาชีพเวชกรรมทางด้านผิวหนัง ให้แพร่หลายกว้างขวางถูกต้องตามหลักวิชาการ และการเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน ให้ตระหนักถึงปัญหาของความงาม ผิวพรรณและปัญหาสุขภาพของผิวหนังรวมถึงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย นั้น เป็นหน้าที่ ๆ สำคัญของสมาคมแพย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย

โดยในปีนี้ได้จัดหัวข้อ “ไขปริศนา ปัญหาความงาม” ขึ้น โดยนำ 3 เรื่องหลักที่น่าสนใจ ประกอบด้วย ปัญหาเรื่องแผลอันเกิดจากสิว ปัญหาการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์รักษาโรคผมร่วง และปัญหาการนำคอลลาเจนมาใช้ประโยชน์กับวงการเสริมความงาม ซึ่งทั้ง 3 เรื่อง มักจะสร้างผลกระทบกับสภาพทางกายและใจของประชาชนทั่วไปอยู่บ่อยครั้ง

พญ.มาริษา พงศ์พฤฒิพันธ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคผิวหนัง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และคณะอนุกรรมการวิชาการ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการรักษาแผลเป็นชนิดต่างๆ ของร่างกายว่าการที่ร่างกายเกิดได้รับบาดเจ็บอันตราย จนนำไปสู่การซ่อมแซมของผิวหนัง

การซ่อมแซมนั้นจะเริ่มตั้งแต่การห้ามเลือดจากบาดแผลไปจนถึงการสร้างคอลลาเจนใหม่ที่แข็งแรงใต้ผิวหนัง และกลายเป็นแผลเป็นที่สมบูรณ์ (mature scar) กินเวลาทั้งสิ้นประมาณ 1 ปี แต่ความแข็งแรงของผิวหนังจะลดลงเหลือเพียง 80 เปอร์เซ็นต์ ของแผลเดิมเท่านั้น แผลที่ลึกกว่าชั้นหนังแท้ลงไป ผิวหนังส่วนบนมักจะหายไม่ดีก็มักจะเป็นแผลเป็นที่เห็นได้

แผลบางรายก็จะเกิดเป็นแผลเป็นนูน บางรายก็เกิดเป็นแผลเป็นลึกลงไป ดังนั้นปัจจัยสำคัญในการหายของบาดแผลว่าจะสมบูรณ์และไม่เป็นแผลเป็นได้หรือไม่ ขึ้นกับความลึกของแผล กรรมพันธุ์และเชื้อชาติ ตำแหน่งของบาดแผล สาเหตุของบาดแผล ปัจจัยจากการเย็บแผล การดูแลรักษาในขณะที่เป็นแผล เป็นต้น

พญ.มาริษากล่าวถึงการรักษาแผลเป็นอันเกิดจากสิวว่า แผลเป็นที่เกิดจากสิวนั้นเป็นปัญหาที่พบบ่อยในช่วงวัยรุ่นและวัยทำงาน วิธีที่ใช้ในการรักษาและผลของการรักษาขึ้นกับความรุนแรงของแผล ทั้งความลึกและขนาดและวิธีที่ใช้ในการรักษา เช่น การตัดหลุม การขัดผิว และการใช้เลเซอร์

แม้ว่าจะมีเทคโนโลยีในการรักษาใหม่ๆ จะทำให้ผลข้างเคียงน้อยลงและผลการรักษาที่ดีขึ้น แต่ผลของการรักษาก็ยังมีข้อจำกัด ทำให้การรักษาแผลเป็นอาจต้องใช้การรักษาหลายวิธีร่วมกัน ทำให้ต้องรักษาหลายครั้งและใช้เวลาในการรักษา แผลเป็นที่มีความลึกหรือแผลที่มีการทำลายของรูขุมขนจะไม่สามารถกลับมาเป็นผิวหนังปกติได้100 เปอร์เซ็นต์

ผู้ป่วยควรมีการปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการเลือกวิธีการรักษาและผลที่จะได้รับ การป้องกันจึงเป็นหนทางที่ดีที่สุดและทำได้ง่ายๆคือ เมื่อเป็นสิวอักเสบควรรีบรักษาให้เร็วที่สุด และไม่ควรแกะสิ

ส่วนการรักษาแผลเป็นที่เกิดจากการหกล้ม หรือเกิดจากบาดแผลต่างๆ ซึ่งจะทำให้เกิดแผลถลอก เมื่อเกิดแผลถลอกควรได้รับการห้ามเลือดในเบื้องต้น และล้างทำความสะอาดด้วยน้ำสะอาด หรืออาจใช้สบู่ฟอกเพื่อกำจัดสิ่งสกปรกออกจากบาดแผล และใช้ยาปฎิชีวนะชนิดครีมหรือขี้ผึ้งทาก่อนปิดแผลด้วยพลาสเตอร์เพื่อป้องกันแผลจากสิ่งสกปรกภายนอก เมื่อแผลตกสะเก็ดอาจไม่มีความจำเป็นต้องปิดแผลแต่ควรหลีกเลี่ยงการแกะเกาสะเก็ดแผลเนื่องจากจะทำให้แผลหายช้า

พญ.มาริษากล่าวต่อว่า การรักษาแผลเป็นที่เกิดจากการผ่าตัดหรือการผ่าตัดจากการตั้งครรภ์ แผลที่เกิดจากการเย็บสามารถป้องกันการเกิดแผลเป็นนูนโดยการใช้แผ่นปิดเพื่อกดทับหรือเจลปิดแผล เช่นซิลิโคนเจล โดยเริ่มใช้หลังผ่าตัดหรือหลังการตัดไหม ปิดไว้นาน 12-24 ชั่วโมงและปิดไว้ประมาณ 3-6 เดือน

แผลเป็นจากการเย็บในช่วง 6เดือนแรกมักพบเป็นแผลนูน แต่แผลนูนตามร่องรอยการเย็บนั้นส่วนใหญ่สามารถหายได้เมื่อแผลมีการซ่อมแซมสมบูรณ์ภายในเวลา 6 เดือนถึง 1 ปี

แผลเป็นนูนในบางรายอาจเป็นชนิดคีลอยด์ซึ่งมักโตขึ้นหลังการเย็บแผลนานหลายเดือนและมีขนาดหรือการขยายลามออกจากแผลดั้งเดิมมาก

การรักษาทำได้หลายวิธี การรักษาหลักของแผลเป็นนูนได้แก่ การฉีดยาเข้าไปในแผล ยาที่ใช้ ได้แก่ สเตียรอยด์ และ ยาต้านการเจริญของพังพืด การรักษาเสริมอื่นจะมีส่วนช่วยให้ผลการรักษาดีขึ้นและทำให้สีหรือพื้นผิวของแผลดีขึ้น เช่นการทายา การทำเลเซอร์ เป็นต้น

ส่วนการรักษาโดยการตัดแผลเป็นนั้นอาจเป็นทางเลือกทางหนึ่ง ซึ่งต้องคำนึงถึงโอกาสการกลับเป็นซ้ำของแผลนูนเนื่องจากเป็นการทำให้เกิดแผลเย็บใหม่ จึงอาจต้องให้การรักษาอื่นเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำเช่นการฉายแสง หรือการฉีดยาสเตียรอยด์ และตรวจติดตามอย่างต่อเนื่อง ผลการรักษาขึ้นกับความรุนรงของรอยโรค ตำแหน่งของรอยโรคและสาเหตุของบาดแผลนั้น

ด้าน ผศ. นพ. รัฐพล ตวงทอง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคผิวหนัง โรงพยาบาลศิริราชและปฏิคมสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวถึงปัญหาของโรคผมร่วงและผลิตภัณฑ์รักษาผมร่วงว่า เส้นผมของคนเรานั้นบนศีรษะมีประมาณ 100,000 เส้น ซึ่งจะมีอัตราการร่วง เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 100 เส้น ในวันที่ไม่ได้สระผม และ มีผมร่วงประมาณไม่เกิน 200 เส้น ในวันที่สระผมซึ่งปริมาณที่ร่วงดังกล่าว ถือว่าเป็นเกณฑ์ที่ปกติ สามารถมีผมขึ้นมาทดแทนได้

แต่การที่จะทราบว่ามีเส้นผมร่วงกี่เส้นต่อวันนั้น วิธีการเก็บนับเส้นผมที่ร่วงก็มีความสำคัญ โดยควรจะเก็บเส้นผมที่ร่วง 5 ครั้งต่อวัน คือ ช่วง เช้า สาย บ่าย เย็น และก่อนนอน การเก็บแต่ละครั้งใช้หวี หวีที่ศีรษะ 4 ด้าน แล้วเก็บรวบรวมผม ใส่ถุงพลาสติก ทำอย่างนี้เป็นเวลา 1 อาทิตย์ แล้วมานับหาค่าเฉลี่ยผมที่ร่วงต่อวัน โดยวันใดที่สระผมก็ควรจะสระผมแล้วล้างแชมพูในภาชนะรองรับ เพื่อนับเส้นผมที่ร่วง และจดปริมาณที่ร่วงในวันที่สระผม

ผศ.นพ.รัฐพล กล่าวว่า เส้นผมเปรียบเสมือนกระจกส่องสุขภาพอย่างหนึ่ง การที่มีผมร่วงผิดปกตินั้น อาจบ่งว่ามีปัญหาทางสุขภาพในระบบใดระบบหนึ่ง เช่น โรคไต โรคตับ โรคโลหิตจาง หรือ เป็นปัญหาเฉพาะที่เป็นโรคของเส้นผมและหนังศีรษะก็ได้ เช่น โรคผมบางจากพันธุกรรมและฮอร์โมน โรคผมร่วงเป็นหย่อม โรคเชื้อราที่หนังศีรษะ โรคหนังศีรษะอักเสบ โรคผมร่วงแบบมีแผลเป็นต่างๆ

ดังนั้น การที่มีผมร่วงผิดปกติก็เปรียบเสมือนสัญญาณเตือนให้พบแพทย์ผิวหนัง เพื่อทำการตรวจหาสาเหตุและทำการรักษาแต่เนิ่นๆ ในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์รักษาผมร่วง ที่โฆษณาตามสื่อต่างๆ จำเป็นที่จะต้องมีหลายปัจจัยหลัก

ในการเลือกตัดสินใจเลือกใช้ผลิตภัณฑ์นั้นๆ เช่น

1.ผลิตภัณฑ์นั้นได้มาตรฐาน มีการรับรองจากองค์การอาหารและยาหรือไม่ (หรือที่เรียกว่ามีอ.ย.)

2.การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์นั้นเลือกใช้ได้ถูกต้องกับโรคที่เป็นหรือไม่ ความจริงแล้วอาการผมร่วงนั้นมีมาได้จากหลายสาเหตุ ตัวอย่าง หากผมร่วงจากหนังศีรษะอักเสบ แล้วเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่รักษาโรคผมบางจากพันธุกรรมและฮอร์โมน ก็จะรักษาไม่ได้ผล

3.การใช้ผลิตภัณฑ์นั้นสม่ำเสมอและยาวนานเพียงพอหรือไม่ ตัวอย่างเช่น โรคผมบางจากพันธุกรรมและฮอร์โมนเป็นโรคที่ต้องอาศัยการทายารักษาที่สม่ำเสมอ และต่อเนื่องในระยะเวลาเป็นปี ๆ ดังนั้นการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่รักษาผมร่วงนั้นสามารถทำได้ แต่ถ้าไม่ได้ผลในการรักษาอย่างที่ต้องการควรปรึกษาแพทย์ผิวหนังเพื่อทำการตรวจรักษาต่อไป

ด้าน ดร. นพ.เวสารัช เวสสโกวิท แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคผิวหนัง สถาบันโรคผิวหนัง และคณะกรรมการอำนวยการ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการใช้คอลลาเจนกับผิวหนังว่า คอลลาเจนนั้นเป็นโปรตีนชนิดหนึ่ง พบมากที่เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เช่น เส้นเอ็น หลอดเลือด เป็นส่วนประกอบถึงร้อยละ 75 ของผิวหนัง มีหน้าที่ให้ความแข็งแรงและยืดหยุ่นกับอวัยวะ โ

ครงสร้างของคอลลาเจนนั้นมีลักษณะเป็นพันเกลียว 3 สาย แล้วพันทับกันอีกหลาย ๆ ชั้น ในส่วน Hydrolysed collagen จะเป็นคอลลาเจนที่ผ่านกระบวนการย่อยบางส่วน มีหลายๆ ชื่อ เช่น เจลาติน (collagen hydrolysate) คอลลาเจนเป็ปไทด์ เป็นต้น รูปแบบของกระบวนการผลิตโดยทั่วไป จะใช้กรรมวิธีนำเอาหนังสัตว์มาแช่ในน้ำปูนประมาณ 3 เดือนล้างเอาปูนออกด้วยน้ำทำการต้มทำให้แห้งแล้วบด

การรับประทานคอลลาเจน สามารถดูดซึมได้ในรูปคอลลาเจนโดยไม่ผ่านการย่อยของกระเพาะอาหารและลำไส้ จริงหรือไม่

มีการโฆษณาตามสื่อว่าการดื่มหรือรับประทานคอลลาเจนที่ผ่านกระบวนการย่อยบางส่วนแล้ว (collagen hydrolysate) จะสามารถดูดซึมเข้าไปในร่างกายโดยไม่ผ่านกระบวนการย่อยในทางเดินอาหารอีก แล้วเข้าไปเสริมสร้างคอลลาเจนที่ผิวหนัง แต่จากการวิจัยยังไม่สามารถตรวจคอลลาเจนที่รับประทานเข้าไปได้โดยตรง แต่อาศัยการตรวจกรดอะมิโนหรือเป็ปไทด์ซึ่งพบใน hydrolysed collagen เป็นหลัก

ดังนั้น จึงไม่เคยพิสูจน์ได้จริงว่าคอลลาเจนที่ดื่มเข้าไปถูกดูดซึมโดยไม่ได้ผ่านกระบวนการย่อย การวิจัยจากปีปัจจุบันในสัตว์ทดลองชี้ให้เห็นว่า การรับประทานเป็ปไทด์ซึ่งประกอบด้วยกรดอะมิโนเพียงสองตัว มีเพียงร้อยละห้าเท่านั้นที่ยังคงเป็นเป็ปไทด์อยู่ อีกร้อยละ 95 ถูกย่อยจนหมด ดังนั้น การรับประทานคอลลาเจนเกือบทั้งหมดจะถูกย่อยก่อนดูดซึมในรูปของกรดอะมิโน

อาหารที่มีคอลลาเจนสูง ประกอบด้วย อะไรบ้าง

collagen hydrolysate พบมากในหนังสัตว์และเอ็น ดังนั้น อาหารที่ทำจากเอ็น เช่น คากิ หรือเอ็นตุ๋น จะเป็นอาหารที่อุดมด้วยคอลลาเจน แต่จะต้องผ่านการเคี่ยวให้เปื่อยนุ่มร่างกายจึงจะย่อยได้ดี อาหารสำเร็จรูปที่มีคอลลาเจนเป็นส่วนประกอบหลักได้แก่เยลลี่และเจลาติน

ทาหรือฉีดคอลลาเจนมีประโยชน์หรือไม่ จะมีอันตรายอย่างไร

คอลลาเจนมีโมเลกุลใหญ่มาก ไม่สามารถผ่านผิวหนังได้ ทำได้แค่เคลือบผิวหนังด้านบนเท่านั้น ในปัจจุบันไม่มีการฉีดสารเติมเต็มที่ทำจากคอลลาเจน แต่ใช้ฮัยยาลูโรแนนซึ่งมีคุณสมบัติอุ้มน้ำดีกว่า เนื่องจากไม่มีที่ใช้ในทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับการเสริมความงามจึงไม่ก่อให้เกิดอันตราย คอลลาเจนชนิดทาทำหน้าที่เคลือบผิวเป็นสารที่ให้ความชุ่มชื้น ส่วนการฉีดคอลลาเจน แต่ก่อน จะใช้คอลลาเจนจากวัว มาฉีดเป็นสารเติมเต็ม แต่เนื่องจากมีการแพ้สูง ปัจจุบันไม่ใช้แล้ว

การรับประทานคอลลาเจนจะทำให้ดูเต่งตึงขึ้นได้หรือไม่

มีงานวิจัยบางชิ้นแสดงให้เห็นว่าการรับประทานคอลลาเจนจำเพาะยี่ห้อ อาจทำให้ผิวดีขึ้น เช่น ทำให้ผิวมีความยืดหยุ่นสูงขึ้นและลดริ้วรอยที่เกิดตามวัย ทั้งนี้ ไม่เคยมีงานวิจัยว่า คอลลาเจนจำเพาะยี่ห้อจะทำให้ริ้วรอยดีขึ้นกว่าการรับประทานคอลลาเจนจากอาหารทั่วไปที่มีราคาถูก