การใช้ยาปฏิชีวนะ.ในชีวิตประจำวัน

การใช้ยาปฏิชีวนะ.ในชีวิตประจำวัน

แพทย์ แนะนำการใช้ยาปฏิชีวนะในชีวิตประจำวันอย่างสมเหตุสมผลเพื่อลดผลเสียและความสิ้นเปลือง

ยาปฏิชีวนะ หรือ แอนตี้ไบโอติก (Antibiotic) เป็นยารักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อโดยทั่วไปแล้วหมายถึงเชื้อแบคทีเรีย ปัจจุบันมีการใช้คำอื่นทดแทน คือยาต้านจุลชีพ หรือยาต้านจุลินทรีย์ (Antimicrobial)

โดยยากลุ่มนี้จะใช้เมื่อแพทย์ให้การวินิจฉัยหรือคาดว่าผู้ป่วยมีการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น ในสังคมไทยประชาชนทั่วไปมักเรียกยา กลุ่มนี้เป็นยาแก้อักเสบทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าการใช้ยานี้จะทำให้โรคที่เป็นอยู่หายเร็วขึ้นเพราะยาจะไปรักษาหรือแก้การอักเสบซึ่งเป็นความเข้าใจผิด ยาปฏิชีวนะที่เป็นที่คุ้นเคยและผู้ป่วยมักซื้อใช้เองได้แก่ อะม็อกซีซิลลิน (amoxicillin) อ็อกเมนติน (augmentin) นอร์ฟล็อกซาซิน (norfloaxacin) เตตร้าซัยคลิน (tetracycline) อะซีโทรมัยซิน (azithromycin) เป็นต้น

เหตุใดจึงต้องมีความรู้เกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะ

พญ. พรพรรณ กู้มานะชัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยและแพทย์จากสาขาวิชาโรคติดเชื้อและอายุรศาสตร์เขตร้อน ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เนื่องจากยาทุกชนิด มีทั้งประโยชน์ในการรักษาโรคและมีโทษจากผลข้างเคียงของยา นอกจากนี้ยังเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อการแพ้ยาทั้ง ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะและเมื่อใช้ไม่ถูกต้องจะก่อให้เกิดโทษต่อผู้ป่วย ได้แก่ 1. ต้องได้รับผลข้างเคียงจากยาไม่ว่าจะเป็นอาการคลื่นไส้อาเจียน ท้องเดิน เวียนศีรษะ 2. โรคไม่หาย 3. อาจเกิดการแพ้ยาที่ไม่จำเป็นต้องใช้ 4. เชื้อแบคทีเรียประจำถิ่นซึ่งมีอยู่ได้ในร่างกายเป็นปกติดื้อต่อยาที่ใช้ ข้อสำคัญ ผู้ป่วยต้องจ่ายเงินค่ายาสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายทั้งๆที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยานี้

เมื่อไรที่ต้องใช้หรือไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ…เมื่อแพทย์ให้การวินิจฉัย หรือ คาดว่าผู้ป่วยมีการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น

หมายความว่าก่อนใช้ยาปฏิชีวนะต้องพบแพทย์ และต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยละเอียดพบว่ากลุ่มโรค 3 กลุ่มที่ไม่จำเป็นและไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะ แต่มีอัตราการใช้ยาปฏิชีวนะสูงมากได้แก่ 1. ไข้หวัด เจ็บคอ 2.ท้องเสีย 3. แผลเลือดออก โดยกลุ่มโรคเหล่านี้มากกว่าร้อยละ 80 ไม่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย

การรักษาส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการ ประคับประคอง และการให้คำแนะนำผู้ป่วย เช่น ดื่มน้ำมาก ๆ พักผ่อนให้เพียงพอ ยาลดน้ำมูก ยาลดไข้ ยาแก้ไอในไข้หวัดเจ็บคอ การใช้ยาลดอาการท้องอืดและการดื่มน้ำเกลือแร่กรณีท้องเสีย และในกรณีแผลเลือดออก การดูแลรักษาแผลตามที่แพทย์นัดและป้องกันไม่ให้แผลโดนน้ำเป็นการรักษาที่สำคัญที่สุด เป็นต้น แต่พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่มักร้องขอยาแก้ปฏิชีวนะเมื่อ อาการเป็นนานกว่า 3 ถึง 7 วัน เมื่อเสมหะหรือน้ำมูกเป็นสีเขียวข้น หรือถ้าเป็นกลุ่มท้องเสียก็จะขอยาปฏิชีวนะเมื่อยังมีอาการถ่ายเหลวหลายครั้งเกิน 2 วัน หรือ เบื่ออาหารปวดเมื่อยตัว หรืออาการไข้ที่ยังไม่หาย ยิ่งไปกว่านั้นการซื้อยาเองตามร้านขายยาก็ง่ายมากอีกทั้งผู้ขายยาที่ไม่ใช่แพทย์ก็จะจ่ายยาให้ตามที่ผู้ป่วยต้องการจึงทำให้เกิดการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็นกันเป็นวงกว้าง

ควรปฏิบัติอย่างไรเมื่อต้องใช้ยาปฏิชีวนะ เมื่อแพทย์ได้ทำการตรวจโดยละเอียดและให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียแล้วและผู้ป่วยจะต้องได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ผู้ป่วยควรแจ้งแก่แพทย์ทุกครั้งหากเคยมีประวัติแพ้ยา ยาปฏิชีวนะ มีทั้งในแบบรับประทานและแบบฉีด ผู้ป่วยควรซักถามทำความเข้าใจเกี่ยวกับยาที่ต้องใช้ ได้แก่ 1. ต้องได้รับยานานเท่าไร 2. ต้องรับประทานยาอย่างไร ก่อน หรือ หลังอาหาร 3. มีข้อห้ามอย่างไรระหว่างใช้ยานี้ เช่น ห้ามใช้ยาใดร่วม ห้ามรับประทานนมหรืออาหารชนิดใด เป็นต้น 4. ยาที่จะได้รับมีผลข้างเคียงอย่างไร หากเกิดอาการใดขึ้นที่ควรต้องรีบมาพบแพทย์ เป็นต้น

เมื่อผู้ป่วยใช้ยาปฏิชีวนะแล้วต้องใช้ต่อเนื่องจนครบตามที่แพทย์พิจารณา บ่อยครั้งพบว่าผู้ป่วยหยุดใช้ยาเมื่ออาการดีขึ้นซึ่งจะมีผลเสียอาจทำให้โรคกลับเป็นซ้ำหรือเกิดผลแทรกซ้อนที่รุนแรงจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ยังรักษาไม่หายดีข้อควรระวังที่สำคัญ คือ อาการแพ้ยา หากผู้ป่วยมีอาการแพ้ยา ได้แก่ ผื่นทุกชนิด ปากบวม ตาบวม แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงวี๊ด ควรรีบหยุดยาและมาพบแพทย์ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องรอนานเพียงเพื่อกลับไปพบแพทย์คนเดิมหากฉุกเฉินและไม่ควรปรับยาเอง ข้อสำคัญผู้ป่วยต้องนำยาที่รับประทานอยู่ทั้งหมดพร้อมซองหรือชื่อยาไปให้แพทย์ด้วยไม่ควรนำไปแต่เม็ดยา หากเป็นยาฉีดก็ให้นำใบนัดฉีดยาซึ่งจะมีชื่อยาไป

ให้แพทย์ด้วย ปัจจุบันมีความพยายามให้ความรู้ประชาชนและแพทย์ทั่วไปเพื่อให้เกิดการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผลเพื่อลดผลเสียและความสิ้นเปลืองจากการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น