คนไทยลดกินเค็ม
ความสำเร็จของเครือข่ายลดบริโภคเค็มในปี 57 เปิดตัว 4โครงการวิจัยลดเค็ม เพื่อปรับพฤติกรรมการบริโภคเค็มของคนไทย
เครือข่ายลดบริโภคเค็ม เผย “ความสำเร็จของเครือข่ายลดบริโภคเค็มในปี 2557” เปิดตัวโครงการวิจัยลดเค็ม 4 โครงการเพื่อปรับพฤติกรรมการบริโภคเค็ม (โซเดียม) คนไทย
เครือข่ายลดบริโภคเค็ม สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ แถลง “ความสำเร็จของเครือข่ายลดบริโภคเค็มในปี 2557” พร้อมนำเสนองานวิจัยที่สัมฤทธิ์ผล 4 โครงการเพื่อปรับพฤติกรรมการบริโภคเค็ม (โซเดียม) เพื่อคนไทยมีสุขภาพดี
ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เครือข่ายลดบริโภคเค็ม ร่วมกับ สสส. มุ่งเน้นรณรงค์และให้ความรู้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมประชาชนเพื่อลดการบริโภคเค็ม (โซเดียม) และพัฒนางานวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง โดยในรอบปี 2557 นี้ เครือข่ายลดบริโภคเค็ม ได้พัฒนางานวิจัยต่างๆ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคและสังคมที่เป็นประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม
ประกอบด้วย 4 โครงการเด่น ประกอบด้วย
1.โครงการการพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงสมุนไพรไทย สำหรับการเตรียมอาหารลดโซเดียมโดยใช้เทคนิคด้านกลิ่นรสจากสมุนไพรไทย
2.โครงการ การผลิตเครื่องตรวจสอบความเค็มในตัวอย่างอาหารและปัสสาวะเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพของประชาชนทั่วไป
3. โครงการขับเคลื่อนเพื่อลดการบริโภคโซเดียมของคนไทยผ่านการอ่านฉลาก
และ 4.โครงการการส่งเสริมนวัตกรรมอาหารเพื่อลดการบริโภคเค็ม
ทั้ง 4 โครงการจะเป็นโครงการงานวิจัยริเริ่มที่จะช่วยให้สังคมไทย หันมาใส่ใจปัญหาการรับประทานเค็มกันมากขึ้น โดยจากรายงานการสำรวจสภาวะสุขภาพอนามัยของประชาชนไทยพบว่าในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ปัญหาของการรับประทานเค็ม ส่งผลให้เกิดอัตราการป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งมีอัตราการเป็นโรคที่สูงขึ้นกว่า 20% ของจำนวนประชากรโดยรวมทั้งประเทศ
ทั้งนี้โรคความดันโลหิตสูงยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคไตเรื้อรัง ที่มีอัตราการป่วยและการตายสูงขึ้นทุกปีเช่นกัน โดยสาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง นอกจากความเครียดแล้วการได้รับโซเดียมจากการบริโภคอาหารเข้าสู่ร่างกายมากเกินไป ยังเป็นสาเหตุสำคัญที่มีผลทำให้เกิดการคลั่งของของเหลวในเลือดจนทำให้เกิดแรงดันในเส้นเลือดสูงขึ้นได้
การรณรงค์ลดการบริโภคเค็มทำโดยให้ความรู้ประชาชนผ่านสื่อทีวี วิทยุ สิ่งพิมพ์ และสื่อออนไลน์ โดยควรลดความเค็มทีละน้อย จนกว่ารางกายคุ้นชินกับรสชาดอาหาร อาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ ซึ่งการลดการบริโภคโซเดียมลงมาต่ำกว่า 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ในประชาชน จะลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจอย่างน้อย 10%
นอกจากนี้ เรากำลังขับเคลื่อนไปถึงในเรื่องของการกำหนดตราสัญลักษณ์รับรองผลิตภัณฑ์ลดเค็มบนฉลากผลิตภัณฑ์อาหารโดยร่วมกับคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ (สัญลักษณ์ healthier choice) ไม่ว่าจะเป็น อาหารประเภทขนม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โจ๊กสำเร็จรูป อาหารแช่เย็นหรือแช่แข็งชนิดปรุงสำเร็จ ซึ่งลักษณะของโลโก้หรือตราสัญลักษณ์ จะอยู่ในฉลากผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสได้ใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ โดยในเรื่องนี้ได้รับการตอบรับจากผู้ประกอบการเจ้าของผลิตภัณฑ์เป็นอย่างดี ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้จะสำเร็จลุล่วง และเป็นการลดจำนวนผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคเรื้อรังชนิดต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคไต เป็นต้น
ศ.นพ.สมชาย เอี่ยมอ่อง นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในปัจจุบันโรคไตเรื้อรังกำลังเป็นปัญหาใหญ่ทั่วโลก ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาคนไทยมีแนวโน้มป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สาเหตุส่วนใหญ่ที่สุดร้อยละ 70 เกิดจากเบาหวานและความดันโลหิตสูง ซึ่ง 2 โรคนี้มีผู้ป่วยรวมเกือบ 15 ล้านคน ผลที่ตามมาทำให้ไตเสื่อมหากไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
จากข้อมูลล่าสุดพบว่าคนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังร้อยละ 17.6 ของประชากร หรือประมาณ 8 ล้านคน เป็นผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย 4 หมื่นคน ป่วยเพิ่มปีละกว่า 7,800 ราย หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง จะเกิดโรคแทรกซ้อนถึงเสียชีวิต ผู้ป่วยจึงต้องรักษาเพื่อยืดอายุโดยวิธีฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม หรือล้างของเสียออกทางหน้าท้อง โดยในปี 2556 ที่ผ่านมาได้ใช้งบประมาณในการบำบัดทดแทนไตในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประมาณกว่า 3,000 ล้านบาทต่อปี และคาดว่าในปี 2560 อาจจะต้องใช้งบประมาณกว่า 17,000 ล้านบาทต่อปี
มีผู้ป่วยที่ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่รอการผ่าตัดเปลี่ยนไตใหม่ประมาณ 4,000 ราย ซึ่งมีขั้นตอนในการรักษายุ่งยากและเสียค่าใช้จ่ายสูงถึงปีละประมาณ 2 แสนบาทต่อคน มีผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตเพียงปีละ 500 รายเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดคือขาดแคลนผู้บริจาคไต ประมาณ 1 ใน 3 ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังตายก่อนวัยอันควรจากโรคพื้นฐานอื่นได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูงและภาวะไตวาย ทั้งยังเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การไม่ออกกำลังกาย และที่สำคัญคือ การบริโภคอาหารที่ไม่ถูกต้อง รสหวาน มัน และเค็มจัด
นายสง่า ดามาพงษ์ เลขานุการคณะกรรมการกำกับทิศทางแผนอาหารเพื่อสุขสภาวะ สสส. กล่าวว่า ปัจจุบันมีหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงไทย มีการรณรงค์ลดบริโภคเค็มหรือลดโซเดียม เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงอันตรายของการบริโภคอาหารโซเดียมสูง การบริโภคอาหารโซเดียมสูงยังเป็นปัจจัยที่นำไปสู่การเกิดความเคยชิน หรือติดรสเค็ม ทำให้บริโภคอาหารโซเดียมสูงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งการปรับลดปริมาณปริมาณโซเดียมในอาหารหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่นิยมในปัจจุบันคือการใช้สารทดแทนเกลือ เช่น เกลือโพแทสเซียมคลอไรด์ อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัด เช่น ทำให้เกิดรสเฝื่อนในอาหาร หรือผู้ป่วยบางรายที่ต้องจำกัดปริมาณโพแทสเซียม
นายอารยะ โรจนวณิชชากร หัวหน้าโครงการรณรงค์ลดการบริโภคโซเดียมผ่านการอ่านฉลาก และที่ปรึกษาหน่วยเคลื่อนที่เพื่อความปลอดภัยด้านอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า อย. สำรวจฉลากอาหารเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของฉลาก ปี 2556 ในห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ 9 แห่ง ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวม 5,853 ผลิตภัณฑ์ พบมีการแสดงฉลากโภชนาการ 4,382 ผลิตภัณฑ์ หรือ 74.9% แสดงถูกต้องตามกฎหมาย 3,230 ผลิตภัณฑ์ หรือ 55.2% และพบผลิตภัณฑ์ที่กล่าวอ้างเกี่ยวกับปริมาณโซเดียม 17 ผลิตภัณฑ์ เพิ่มจากปี 2555 มีเพียง 2 ผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ ปริมาณแนะนำต่อมื้อหลักไม่ควรเกิน 600 มก.ต่อมื้อ อาหารว่างไม่เกิน 100 มก. นอกจากนี้ ยังพบบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีโซเดียมมากกว่า 600 มก. รวม 74 ผลิตภัณฑ์ หรือ 83.2% ส่วนขนมขบเคี้ยวปริมาณโซเดียมมากกว่า 100 มก. 1,088 ผลิตภัณฑ์ หรือ 40.8 เปอร์เซ็นนต์ ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณโซเดียมมากมักมีการปรุงรส, ทรงเครื่อง, รสบาร์บีคิว และรสพิซซ่า
น.ส.ชุษณา เมฆโหรา นักวิจัยสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า สถาบันฯ มีโครงการการพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงสมุนไพรไทยเพื่อลดการใช้โซเดียม ใช้กระบวนการปฏิสัมพันธ์ระหว่างรสชาติและกลิ่นรส เช่น รสเปรี้ยวช่วยเสริมรสชาติเค็ม รสเค็มช่วยเสริมรสหวาน โดยทดลองใน 8 เมนู คือ ต้มยำกุ้ง ขนมจีนน้ำยา ผัดกะเพราไก่ ผัดฉ่าทะเล หมูอบพริกไทยดำ ไก่ย่างสมุนไพร น้ำตกหมู และยำตะไคร้กุ้งสด พบว่าการเพิ่มสัดส่วนสมุนไพรไทยในอาหารแต่ละเมนูขึ้น 25-50% ช่วยลดปริมาณโซเดียมจากเครื่องปรุงรสได้ 25% โดยไม่ส่งผลต่อรสชาติโดยรวม
และยังได้ศึกษากลิ่นรสสมุนไพรไทย 14 ชนิด ต่อการรับรสเค็มในน้ำซุป ได้แก่ ตะไคร้ ใบมะกรูด ข่า ผักชีฝรั่ง สะระแหน่ โหระพา พริกขี้หนู กระเทียม พริก มะนาว หอมแดง ผักชี ต้นหอม และขิง พบว่าช่วยเพิ่มรสน้ำซุปได้ โดยพริก ผักชีฝรั่ง โหระพา ใบมะกรูด และหอมแดง ช่วยเพิ่มการรับรู้รสเค็มได้เช่นกัน จึงได้พัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงสมุนไพร 4 รสชาติ ได้แก่ ผงปรุงรสกระเทียมและสมุนไพร ซอสผัดสไปซี่เพลสท์สมุนไพรไทย และผงปรุงรสแซ่บอีสาน เพื่อนำไปใช้ในเมนูอาหารต่างๆ ช่วยลดโซเดียมจากเครื่องปรุงรสได้
ผศ.ดร.เรวดี จงสุวัฒน์ ผู้จัดการโครงการและเลขานุการมูลนิธิโภชนาการ กล่าวว่า โครงการการส่งเสริมนวัตกรรมอาหารเพื่อลดการบริโภคเค็ม เพื่อลดปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหาร OTOP ในผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ควรเค็มแต่กลับเค็ม โดยในปีแรกนี้ได้เลือกอาหาร 10 ชนิด ได้แก่ ข้าวตัง กล้วยฉาบรสเค็ม กล้วยฉาบรสหวาน คุกกี้ ทองม้วนรสเค็ม ทองม้วนรสหวาน ถั่วกรอบแก้ว หมี่กรอบ น้ำพริก ปลากรอบ โดยโครงการได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับนักเรียนอาชีวศึกษา 10 แห่ง เพื่อลดปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ทั้งนี้โครงการได้เก็บตัวอย่างและวิเคราะห์ปริมาณโซเดียมในห้องปฏิบัติการของอาหารทั้ง 10 ชนิด หลังการอบรมนักเรียนอาชีวศึกษาสามารถลดปริมาณโซเดียมได้ 20 – 50% ของตำรับตั้งต้น \
ผศ.ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ได้ร่วมทำโครงการการผลิตเครื่องตรวจสอบความเค็มในตัวอย่างอาหารและปัสสาวะเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพของประชาชน ปัสสาวะสามารถบ่งบอกความผิดปกติในการทำงานของไตได้ โดยจัดทำชุดตรวจแบบกระดาษทดสอบ โดยใช้ปัสสาวะหยดก็สามารถบอกปริมาณโซเดียมคลอไรด์ที่อยู่ในร่างกายได้ ช่วยลดขั้นตอนการเตรียมตัวอย่าง ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย
นอกจากนี้ ยังพัฒนาอุปกรณ์ตรวจวัดความเค็มแบบอิเล็กทรอนิกส์ในอาหารแบบพกพา เพื่อนำไปทดสอบในอาหาร สามารถวัดความเค็มได้ในปริมาณที่สูงกว่าอุปกรณ์จากต่างประเทศจึงเหมาะกับการตรวจสอบอาหารไทยซึ่งมีรสจัด