ไขมันในเลือดสูงเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด
อธิบดีกรมการแพทย์ระบุไขมันในเลือดสูง เสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ แนะเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง
อธิบดีกรมการแพทย์ระบุไขมันในเลือดสูง เสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ แนะเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง
นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า คอเลสเตอรอลเป็นไขมันที่พบได้ในเลือด ซึ่งร่างกายสามารถสังเคราะห์ขึ้นได้ที่ตับ และจากอาหารที่รับประทานในแต่ละวัน เช่น ไข่แดง เนื้อนมสัตว์ เนย และถ้ามีคอเลสเตอรอลในเลือดสูง จะก่อให้เกิดการสะสมที่ผนังด้านในของหลอดเลือดเกิดเป็นตะกรัน (PLAGUE) และหากมีไขมันมากขึ้นเรื่อยๆ หลอดเลือดจะตีบตันทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อดันให้เลือดไหนผ่านตะกรันไขมันที่ขวางกั้นระบบไหลเวียนในหลอดเลือดใหญ่ที่ไปเลี้ยงหัวใจหรือสมอง ทำให้อวัยวะขาดเลือดเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือเส้นเลือดในสมองตีบหรืออุดตันได้ ส่งผลให้เกิดโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองหรืออัมพฤกษ์ อัมพาต
ชนิดของไขมันในเลือดมี 4 ชนิด ได้แก่ 1. คอเลสเตอรอล เป็นสารประเภทไขมัน ร่างกายสามารถสังเคราะห์ ขึ้นได้ ค่าปกติไม่ควรเกิน 200 มิลลิกรัมต่อเลือด 1 เดซิลิตร ถ้ามีมากเกินไปจะก่อให้เกิดภาวะเส้นเลือดแข็งตัวและตีบตัน 2.ไตรกลีเซอร์ไรด์ เป็นไขมันที่ร่างกายสังเคราะห์ขึ้นจากตับและลำไส้เล็ก และจากอาหารที่มีไขมันสูง ค่าไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดที่เหมาะสมไม่ควรเกิน 150 มิลลิกรัมต่อเลือด 1 เดซิลิตร 3.เอชดีแอล (HDL) ไขมันในเลือดชนิดดี ช่วยลดการตีบตันของหลอดเลือด สร้างขึ้นได้เองที่ตับและลำไส้เล็ก ไขมันชนิดนี้สามารถเพิ่มระดับได้ โดยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และงดการสูบบุหรี่ ค่า HDL ควรมากกว่า 60 มิลลิกรัมต่อเลือด 1 เดซิลิตร 4.แอลดีแอล (LDL) เป็นไขมันชนิดร้าย ถ้ามีมากเกินไป จะไปเกาะอยู่ตามผนังหลอดเลือด พอกพูนจนทำให้หลอดเลือดแคบลง ค่าปกติ คือ 160 มิลลิกรัมต่อเลือด 1 เดซิลิตร ในคนทั่วไป
ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงต่อระดับไขมันในเลือดสูงและควรได้รับการตรวจวัดระดับไขมัน คือ เพศชายที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป เพศหญิงที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป มีประวัติครอบครัว คือ พี่น้อง พ่อ แม่ เป็นโรคหัวใจขาดเลือด ผู้ที่สูบบุหรี่ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจขาดเลือด อัมพฤกษ์ อัมพาต และผู้ที่มีภาวะอ้วน
สำหรับการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันภาวะไขมันในเลือดสูง คือ การควบคุมอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เช่น ไข่แดง เครื่องในสัตว์ เนื้อติดมัน อาหารทะเลบางชนิด ควรปรุงอาหารด้วยน้ำมันพืช หลีกเลี่ยงน้ำมันที่มีกรดไขมันอิ่มตัวสูง เช่น น้ำมันมะพร้าวหรือกะทิ เปลี่ยนวิธีการปรุงอาหารเป็น นึ่ง ต้ม ย่าง อบแทนการทอดหรือผัด รับประทานผัก ผลไม้ชนิดต่างๆ ที่มีเส้นใยสูง เช่น คะน้า ผักกาด ส้ม ฝรั่ง และควรออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนักไม่ให้มากเกินไป ชายรอบเอวไม่ควรเกิน 36 นิ้ว หญิงไม่ควรเกิน 32 นิ้ว งดการสูบบุหรี่ ชา กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ทุกชนิด ที่สำคัญควรตรวจสุขภาพและพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง