รู้เท่าทันโรคลมชัก
กรมการแพทย์แนะผู้ใกล้ชิดที่ช่วยเหลือผู้ป่วยโรคลมชักไม่เอาสิ่งของใดๆ ใส่ปากผู้ป่วยขณะชัก และควรรีบนำผู้ป่วยพบแพทย์ใกล้บ้านที่สุด
นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคลมชัก เกิดจากสมองที่ผลิตกระแสไฟฟ้า (คลื่นสมอง) ผิดปกติ ทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น เกร็งกระตุกเหม่อลอย ทำอะไรไม่รู้ตัว เป็นต้น เกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ เช่น เนื้องอกสมอง เนื้อสมองผิดปกติแต่กำเนิด บาดเจ็บของสมองจากอุบัติเหตุ พันธุกรรม การได้รับสารพิษต่างๆ เป็นต้น
ปัจจุบัน ครึ่งหนึ่งของโรคลมชักยังไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้จะมีอาการชักบ่อย จะมีโอกาสเกิดอันตรายจากอุบัติเหตุขณะชัก มีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี เนื่องจากต้องหยุดกิจกรรมต่างๆ ไม่สามารถไปโรงเรียนหรือทำงานได้ โรคลมชักจึงเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทยและทั่วโลก อุบัติการณ์ประมาณ 20-50 ต่อแสนประชากร ประมาณ 70% ของผู้ป่วยจะอยู่ในช่วงอายุต่ำกว่า 20 ปี หรืออยู่ในช่วงวัยเด็ก ถึงวัยรุ่น
ผู้ป่วยโรคลมชักมีการเสียชีวิตก่อนอายุขัยมากกว่าคนทั่วไป 2-6 เท่า โดยในปี 2557 องค์การอนามัยโลก (World Health Organization –WHO) ได้รายงานว่า โรคลมชักเป็นหนึ่งในโรคที่ก่อให้เกิดความผิดปกติทางระบบประสาทอย่างรุนแรงได้บ่อยมากที่สุดและมีผลต่อทุกอายุและโรคลมชักเป็นภาระของโลกที่ต้องการความร่วมมือระดับประเทศเพื่อรับมือกับผลกระทบต่อสุขภาพ สังคม และความรู้ในระดับสาธารณะ และหากได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม มากกว่า 75% ของผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชักสามารถมีชีวิตเช่นคนปกติปราศจากอาการชัก
อย่างไรก็ตามยังพบว่า 90% ของผู้ป่วยโรคลมชักทั่วโลกที่อาจจะไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาให้ถูกต้องหรือเพียงพอ และข้อมูลสถาบันประสาทวิทยาปี พ.ศ.2555 พบว่าในประเทศไทย 57% ยังมีปัญหาในการเข้าถึงของผู้ป่วยโรคลมชักในการตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม
สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เป็นสถาบันเฉพาะทางด้านระบบประสาท จึงได้จัดตั้งศูนย์โรคลมชัก เพื่อพัฒนาการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคลมชัก วิจัย ถ่ายทอดวิชาการ สร้างเครือข่าย เป็นศูนย์รับ-ส่งต่อระดับตติยภูมิเป็นแหล่งอ้างอิงและนำเสนอนโยบายด้านโรคลมชักของประเทศ ปัจจุบันสถาบันประสาทวิทยาเป็นศูนย์ผ่าตัดโรคลมชักระดับสูง 1 ใน 5 ศูนย์ของประเทศไทย มีความพร้อมทั้งด้านบุคลากรและเครื่องมือในการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคลมชักที่ดื้อยาและซับซ้อนโดยการผ่าตัด มีผลงานการวิจัยและหลักสูตรถ่ายทอดวิชาการด้านโรคลมชัก เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่เหมาะสมต่อไป
ทั้งนี้ องค์กรระหว่างประเทศด้านโรคลมชัก (International League Against Epilepsy) ได้กำหนดวันลมชักโลก (International Epilepsy Day) ขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้ โดยกำหนดให้ตรงกับวันจันทร์ที่ 2 ของเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี สถาบันประสาทวิทยาจึงร่วมกับสมาคมโรคลมชักแห่งประเทศไทย และสถาบันต่างๆในประเทศไทยที่เป็นองค์กรที่เกี่ยวข้องกับโรคลมชัก จัดงานวันลมชักโลกทั่วประเทศในช่วงเดียวกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจแนวทางในการดูแลรักษาและสร้างความตระหนักเกี่ยวกับโรคลมชักแก่ประชาชนที่มาร่วมงาน
นายแพทย์อุดม ภู่วโรดม ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า ผู้ที่ป่วยเป็นโรคลมชักควรปฏิบัติตัว ดังนี้ 1.หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นอาการชัก ได้แก่ การอดนอน ดื่มเหล้า ภาวะเครียด การขาดยากันชัก 2.หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจทำให้เกิดอันตรายระหว่างมีอาการชัก เช่น ขับขี่รถยนต์ ว่ายน้ำ ปีนป่ายที่สูง การทำงาน กับเครื่องจักร 3.รับประทานยากันชักสม่ำเสมอ พบแพทย์ตามนัด ไม่หยุดยากะทันหันเพราะอาจเกิดอาการชักรุนแรงได้ สำหรับเด็กวัยเรียนสามารถไปโรงเรียนได้ตามปกติ แต่ผู้ปกครองควรแจ้งครูให้ทราบถึงการรับประทานยา และกิจกรรมที่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยง และการปฐมพยาบาลเบื้องต้นขณะชัก สำหรับผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่เป็นโรคลมชักสามารถแต่งงานมีบุตรได้แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนตั้งครรภ์เพื่อการปรับยากันชักที่เหมาะสมและการดูแลระหว่างตั้งครรภ์ไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อแม่และลูกในครรภ์
ทั้งนี้ ผู้ใกล้ชิดในครอบครัว เพื่อน หรือ ครู ควรจะทำความเข้าใจกับโรคลมชักเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ป่วยโรคลมชักได้อย่างถูกต้องเหมาะสม จึงควรรู้จักการช่วยเหลือผู้ป่วยขณะเกิดอาการชัก คือ รีบจับผู้ป่วยนอนตะแคงไปด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อป้องกันไม่ไห้สำลักเศษอาหารเข้าปอด ปลดเสื้อผ้าไม่ไห้แน่นเกินไป จัดการสถานที่ให้โปร่งโล่ง หายใจได้สะดวก ไม่เอาสิ่งของใดๆ ใส่ปากเพื่อกันผู้ป่วยกัดลิ้น เพราะทำอันตรายให้กับผู้ป่วยมากกว่า หลังจากนั้นรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์ ทั้งนี้ อาการชักส่วนใหญ่นานไม่เกิน 2 นาที กรณีชักนานควรนำส่งสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ปัจจุบันการช่วยเหลือผู้ป่วยชักควรให้หยุดชักภายใน 5 นาที มิฉะนั้น จะมีโอกาสชักรุนแรงขึ้นจนทำลายสมองได้