หน่วย‘ขาเทียม’เคลื่อนที่ เพื่อความเท่าเทียมในสังคม

หน่วย‘ขาเทียม’เคลื่อนที่ เพื่อความเท่าเทียมในสังคม

ปัจจุบันผู้พิการในประเทศไทยที่มีการขึ้นทะเบียนกับภาครัฐมีอยู่ถึงประมาณ 1.7 ล้านคน ซึ่งต้องยอมรับว่าคนเหล่านี้ยังขาดโอกาสที่เท่าเทียมในสังคม

แม้ว่าภาครัฐจะพยายามยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกในพื้นที่สาธารณะ มีการจัดเบี้ยยังชีพ การสร้างงานและกำหนดให้นายจ้างรับผู้พิการเข้าทำงานในสัดส่วนที่เหมาะสมแล้วก็ตาม

เช่นเดียวกับผู้พิการทางการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะผู้พิการขาขาด ที่มีจำนวนนับแสนคน เป็นกลุ่มที่ยังมีผู้ขาดโอกาสที่จะมี“ขาเทียม”เป็นของตัวเอง เพื่อการใช้ชีวิตประจำวันที่ใกล้เคียงกับคนทั่วไปอีกจำนวนมาก เนื่องจากขาเทียมมีราคาค่อนข้างสูง

เป็นที่มาของการก่อตั้ง “มูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” ขึ้นเมื่อปี 2535 ด้วยเงินพระราชทานที่สมเด็จย่า ประเดิมให้เป็นทุนทรัพย์ และมูลนิธิได้ออกให้บริการทำขาเทียม ด้วยเงินบริจาคของประชาชนและภาคเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา เป็นอีกครั้งหนึ่งที่มีการออกหน่วยขาเทียมพระราชทาน ที่ อ.บ้านฉาง​ จ.ระยอง โดยเป็นการร่วมเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสมหามงคลฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์​ พระบรมราชินีนาถ​ เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559​ 

มี พล.ต.อ.อดุลย์​ แสงสิงแก้ว​ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พล.ท.นพ.ธำรงรัตน์​ แก้วกาญจน์​ รองประธานมูลนิธิขาเทียมฯ นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ​ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทไออาร์พีซี จำกัด(มหาชน) นายสมศักดิ์​ สุวรรณสุจริต​ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง​ ร่วมกันเปิดงาน และมีผู้พิการในจ.ระยองและพื้นที่ใกล้เคียงเข้ารับบริการ 229 ราย และในงานยังมี การสาธิตทำขาเทียม และการการฝึกอาชีพให้แรงงานพิการ ฯลฯ

พล.ท.นพ.ธำรงรัตน์ กล่าวว่ามูลนิธิได้ออกให้บริการทำขาเทียมแก่ผู้พิการขาขาด ด้วยเงินบริจาคของประชาชน โดยไม่ได้ของบสนับสนุนจากรัฐบาล และได้รับการสนับสนุนเมล็ดพลาสติกจากบริษัทไออาร์พีซี เพื่อเป็นวัตถุดิบสำคัญในการทำขาเทียม 

นายสุกฤตย์ กล่าวว่าปกติจะมีการออกหน่วยเคลื่อนที่ปีละ 4-5 ครั้ง โดยในครั้งนี้ประโยชน์ที่ได้รับไม่ใช่แค่การผลิตขาเทียม แต่ยังเป็นความร่วมมือกับบริษัทบางกอกโพลิเมอร์ จำกัด ที่นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการผลิตขาเทียม

“แต่เดิมจะใช้การปูนปาสเตอร์ขึ้นรูปพลาสติกทำขาเทียมแล้วต้องทิ้ง แต่วิธิการใหม่จะใช้ระบบสุญญากาศขึ้นรูปด้วยทรายละเอียด เมื่อได้ขาเทียมแล้วทรายที่ใช้เป็นหุ่นขึ้นรูปก็ยังสามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้และยังร่นระยะเวลา ทำให้เด็กสามารถเปลี่ยนขาเทียมได้บ่อยครั้ง”  

นายสุกฤตย์ กล่าวว่าตั้งแต่ปี 2554 ไออาร์พีซีได้บริจาคเม็ดพลาสติกจากนวัตกรรมเทคโนโลยีที่พัฒนาต่อเนื่องจากการค้นคว้าวิจัยร่วมกับมูลนิธิขาเทียม ปีละ 20-25 ตัน จนถึงปี 2558 ทำขาเทียมไปแล้ว 6,694 ขา ช่วยผู้พิการ 5,040 คน 

รวมทั้งศูนย์วิจัยนวัตกรรมของบริษัท ยังเพิ่งประสบความสำเร็จในการพัฒนาวัสดุพลาสติกเชิงวิศวกรรม ประเภทโพลีเอททีลีน (Ultra High Molecular Polyethylene :UHMW-PE) ที่สามารถพิเศษนำไปทำหัวเข่าสำหรับเด็กรายแรกในอาเซียน โดยมีคุณสมบัติ มีความลื่น ทนทานต่อการกัดกร่อน เสียดสี เป็นที่ยอมรับในการนำมาใช้ทำข้อเข่าเทียมสะโพกเทียม หรือแม้แต่ข้อต่อทั้งในและนอกร่างกาย

นายประสาน สุวรรณวิจิตร อายุ 60 ปี กล่าวว่าสูญเสียขาขวาเพราะถูกงูพิษกัดตั้งแต่อายุ 11 ปี ทำให้ต้องตัดขาตั้งแต่หน้าแข้ง เคยมีขาเทียมใช้มาแล้ว 2 ขา โดยทหารอเมริกันที่เดินทางมาก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภา นำแพทย์ออกหน่วยเคลื่อนที่ทำขาเทียมให้ใช้ครั้งแรก และครั้งที่ 2 จากทหารกลุ่มเดียวกันที่เตรียมเดินทางกลับประเทศแต่ใช้ได้เพียงปีเดียว 

จากนั้นมาต้องใช้ไม้ค้ำยั้นซึ่งต้องทนเจ็บทุกครั้งที่ใช้ เพราะไม้ค้ำยันจะกระแทกที่ต้นขาส่วนที่ถูกตัดตลอดเวลา เนื่องจากไม่มีเงินซื้อขาเทียมอันใหม่ 

ด้านนายสัณหวัชร พิเคราะห์ อายุ 25 ปี เจ้าหน้าสำนักงานส่งเสริมการลงทุน จ.ระยอง อดีตพนักงานไปรษณีย์ไทย ที่ต้องสูญเสียขาตั้งแต่ช่วงต้นขาด้วยโรคมะเร็ง กล่าวว่าขาเทียมมีอายุการใช้งานแตกต่างกัน ตามอายุ ลักษณะการใช้งาน เช่น เด็กจะเปลี่ยนขาเทียมบ่อยกว่าผู้ใหญ่ ยิ่งอายุน้อยยิ่งต้องเปลี่ยนบ่อย อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ส่วนผู้ใหญ่ เปลี่ยนขาเทียมประมาณ 4-5 ปีต่อครั้ง ซึ่งขาเทียมทั่วไปมีอัตราตั้งแต่หลักหมื่นไปจนถึงหลักแสน แต่ประกันสังคมมีเงินอุดหนุนให้เพียง 5,000 บาท

นายบาบ่า ไอดาร่า ชาวเซเนกัล ผู้เข้าฝึกอบรมทำขาเทียมกับมูลนิธิ ในโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศ กล่าวว่าทุกปี รัฐบาลเซเนกัล จะส่งทหาร7 คน หมุนเวียนกันมาเวิร์คช็อปกับมูลนิธิทำขาเทียม ก่อนกลับไปฝึกอบรมให้กับเจ้าหน้าที่ในประเทศเพื่อออกหน่วยเคลื่อนที่แบบเดียวกัน 

โดยโครงการนี้เริ่มเมื่อปี 2555 ซึ่งสามารถช่วยเหลือชาวบ้านได้จำนวนหนึ่ง เพราะเซเนกัล ยังเป็นประเทศด้อยพัฒนา ประชาชนจำนวนมากยังมีความยากจน จึงมีความลำบากต่อการใช้ชีวิตโดยเฉพาะผู้พิการที่อยู่ห่างไกลเมือง 

"บางครั้งที่ออกหน่วยเคลื่อนที่ ยังพบว่าผู้พิการบางคนที่ไม่เคยรู้จักขาเทียมมาก่อน” นายบาบ่า กล่าว