เตือน 'หมอ' ขายอาหารเสริม เรื่องถึง 'แพทยสภา' ผิดซวยแน่

เตือน 'หมอ' ขายอาหารเสริม เรื่องถึง 'แพทยสภา' ผิดซวยแน่

"พล.อ.ต.อิทธพร" เตือน "หมอ" ขายอาหารเสริม เรื่องถึง "แพทยสภา" ถ้าผิดซวยแน่ จะถูกลงโทษไม่มีถอนฟ้อง

พล.อ.ต.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา โพสต์เฟซบุ๊ค กรณีข่าวร้องแพทยสภา สอบหมอ-พยาบาล โฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเกินจริง ระบุว่า พบแพทย์ขายอาหารเสริม หรือ ผลิตภัณฑ์สุขภาพ แพทยสภายินดีรับเรื่องดำเนินคดี ถ้าพบแจ้งมาได้ที่ email- [email protected] หรือ 02 589 7700 และขณะนี้ได้ดำเนินคดีไปหลายคนแล้ว และถูกลงโทษไปแล้วครับ

"ขอร้องน้องๆหมอ ให้ระมัดระวังอย่าหลงเชื่อ ผู้ขายอาหารเสริมหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพว่าทำได้ ให้อ่านข้อบังคับจริยธรรมให้ดี ท่านจะเป็นคดีได้ เมื่อมาที่แพทยสภาแล้ว พิสูจน์ว่าทำจริง จะถูกลงโทษทุกราย ไม่มีการถอนฟ้อง และยอมความใดๆ เสียประวัติ เสียอนาคตครับ ขอบคุณมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ออกมาช่วยกันดูแลสังคมครับ"
...
ข้อบังคับแพทยสภา
ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. ๒๕๔๙
ข้อ ๒๔ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องไม่สั่ง ใช้ หรือสนับสนุนการใช้ยาตำรับลับ รวมทั้งใช้อุปกรณ์การแพทย์อันไม่เปิดเผยส่วนประกอบ
หมวด ๘
การปฏิบัติตนในกรณีที่มีความสัมพันธ์กับผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ
ข้อ ๔๑ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องไม่รับเงินจากผู้ประกอบธุรกิจไม่ว่ากรณีใดๆ ยกเว้นกรณีรับค่าตอบแทนจากการเป็นที่ปรึกษา เป็นวิทยากรการบรรยายทางวิชาการ เป็นผู้ได้รับทุนวิจัยจาก ผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าว
ข้อ ๔๔ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้ใด ถ้าต้องการแสดงตนเพื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพใดๆ ต่อสาธารณชนจะต้องไม่ใช้คำว่า นายแพทย์ แพทย์หญิง คำอื่นใด หรือกระทำการไม่ว่าโดยวิธีใดๆ ให้ประชาชนเห็นหรือทราบข้อความ ภาพ เครื่องหมาย หรือกระทำอย่างใดๆ ให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่าเป็นแพทย์หรือผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม
ข้อ ๔๕ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้ใด เมื่อแสดงความเห็นต่อสาธารณะโดยการพูดการเขียน หรือโดยวิธีการอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์สุขภาพใด ต้องแสดงโดยเปิดเผยในขณะเดียวกันนั้นด้วยว่าตนมีส่วนเกี่ยวข้องโดยได้รับผลประโยชน์ใดๆ จากผู้ประกอบธุรกิจนั้น เช่น เป็นที่ปรึกษา เป็นผู้ร่วมทุน เป็นผู้ได้รับทุนไปดูงาน ไปประชุมหรือบรรยายจากผู้ประกอบธุรกิจนั้นๆ
...
อัตราโทษของแพทยสภา ตาม พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม
พ.ศ.2525
มาตรา 39 เมื่อคณะกรรมการได้รับสำนวนการสอบสวนและความเห็นของคณะอนุกรรมการสอบสวนแล้ว ให้คณะกรรมการพิจารณาสำนวนการสอบสวนและความเห็นดังกล่าว
คณะกรรมการอาจให้คณะอนุกรรมการสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติมก่อนวินิจฉัยชี้ขาดก็ได้
คณะกรรมการอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(1) ยกข้อกล่าวหาหรือข้อกล่าวโทษ
(2) ว่ากล่าวตักเตือน
(3) ภาคทัณฑ์
(4) พักใช้ใบอนุญาตมีกำหนดเวลาตามที่เห็นสมควรแต่ไม่เกิน2ปี
(5) เพิกถอนใบอนุญาต