ให้ทางรถพยาบาลฉุกเฉิน ความดีง่ายๆ ที่คุณก็ทำได้
“ให้ทางรถพยาบาลฉุกเฉิน ต่อชีวิตและลมหายใจผู้ป่วย ความดีง่ายๆ ที่คุณก็ทำได้”
“ให้ทางเท่ากับช่วยชีวิต ความดีที่คุณทำได้” เป็นข้อความรณรงค์ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กรมการขนส่งทางบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนกว่า 27 องค์กร ภายใต้การทำงานร่วมกันในชื่อคณะกรรมการบูรณาการประสานงานกรณีกู้ชีพฉุกเฉิน ร่วมกันคิดค้นขึ้นมาเพื่อรณรงค์และกระตุ้นจิตสำนึกให้ประชาชนทั่วไปเห็นความสำคัญของการหลีกทางให้รถพยาบาลฉุกเฉิน นอกจากการคิดค้นข้อความรณรงค์ดังกล่าวนี้แล้ว คณะทำงานยังได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ “ให้ทาง = ช่วยชีวิต ความดีที่คุณทำได้” เพื่อให้การกู้ชีพฉุกเฉินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและลดการสูญเสียชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินให้ได้มากที่สุดอีกด้วย
ทั้งนี้จากการเก็บสถิติของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ในขั้นตอนของการนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตจาก จุดเกิดเหตุเพื่อไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลพบว่ายังเป็นไปอย่างล่าช้าโดยที่ผ่านมาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตต้องเสียชีวิต ช่วงก่อนถึงโรงพยาบาลมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตเป็นไปอย่างล่าช้าคือสภาพปัญหาของการจราจรที่ติดขัด และความรู้ความเข้าใจเรื่องการหลีกทางให้กับรถพยาบาลฉุกเฉินของประชาชนที่ยังมีไม่เพียงพอ
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกล่าวถึงการลงนามบันทึกความร่วมมือในครั้งนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า “ที่ผ่านมาสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ได้รณรงค์ในเรื่องนี้กันมาตลอด และพยายามส่งเสียงให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อต่อชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉิน การลงนามบันทึกความร่วมมือในครั้งนี้ จึงถือเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่พวกเราทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจะได้มาช่วยกันทำให้การส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยการบูรณาการการทำงานร่วมกันในครั้งนี้ แต่ละหน่วยงานจะรับผิดชอบในการดำเนินการด้านต่างๆ ตามกรอบแนวทางการปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉินช่วงก่อนถึงโรงพยาบาลเพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ
โดย สพฉ.จะร่วมกับหลากหลายหน่วยงานในการดำเนินงานหลากหลายประเด็นเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การปรับปรุงกฏหมายและระเบียบให้สนับสนุนต่อมาตรการที่เกี่ยวข้องกับกรณีการกู้ชีพฉุกเฉินและการจราจร การจัดระบบการส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน ระบบการนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินและการสำรองรถกู้ชีพฉุกเฉินและชุดปฏิบัติการ การปรับปรุงระบบสัญญาณรถฉุกเฉินและรถกู้ชีพอื่นๆ เพื่อให้ทราบว่าเป็นรถฉุกเฉินตามกฎหมาย การเพิ่มจุดจอดรถกู้ชีพฉุกเฉินและชุดปฏิบัติการ การอบรมเพิ่มบุคลากรประจำรถกู้ชีพฉุกเฉินให้มีปริมาณและคุณภาพที่เพียงพอ การกำหนดมาตรฐานและการติดตั้ง เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ(AED) ในอาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ และพื้นที่เสี่ยง รวมถึงการกำหนดมาตรฐานจัดทำหลักสูตรการปฐมพยาบาลสำหรับประชาชนอีกด้วย” เลขาธิการสพฉ.ระบุ
ด้าน นายนเรศ ศรีใส อาสากู้ชีพมูลนิธิร่วมกตัญญู จุดพหลโยธิน20 ได้ร่วมสะท้อนถึงการลงนามบันทึกความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “ผมทำงานด้านการกู้ชีพฉุกเฉินมากว่า 7 ปี พบเห็นปัญหาที่สำคัญในการนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตคือ สภาพปัญหาการจราจรที่ติดขัดในกรุงเทพมหานคร และความรู้ความเข้าใจของประชาชนในการหลีกทางให้กับรถพยาบาลฉุกเฉินที่อาจจะยังไม่มีมากพอ ซึ่งการลงนามบันทึกความร่วมมือ ให้ทางเท่ากับช่วยชีวิต ความดีที่คุณทำได้ ในครั้งนี้นั้นถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเป็นอย่างมากที่จะทำให้การส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อย่างไรก็ตามอยากให้มีการขยายการทำงานเรื่องการจัดทำเส้นทางหรือการประสานงานเรื่องการจราจรในการนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินทุกเส้นทางเพื่อให้เกิดการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินอย่างทั่วถึง”
ขณะที่นายประทวน ทองมาก เจ้าหน้าที่หน่วยแพทย์กู้ชีพ รพ.วชิระพยาบาลกล่าวว่า “ นอกจากหน่วยงานจากภาครัฐและเอกชนจะร่วมกันทำงานให้เกิดการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินอย่างเป็นระบบแล้ว การรณรงค์และการทำงานในครั้งนี้นั้นยังจะต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนอีกด้วย ซึ่งเมื่อเห็นรถพยาบาลฉุกเฉินอยากให้ประชาชนช่วยหลีกทางให้กับรถพยาบาลฉุกเฉิน หรือให้ทางที่รถพยาบาลจะสามารถนำส่งผู้ป่วยได้อย่างสะดวกด้วย เพราะเราไม่สามารถทราบได้ว่า คนที่อยู่บนรถนั้นวันหนึ่งอาจจะเป็นญาติหรือคนที่เรารักก็ได้ การหลีกทางให้รถพยาบาลฉุกเฉินจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องช่วยกันดำเนินการให้เกิดอย่างเป็นรูปธรรม” นายประทวนกล่าว
สำหรับแผนการทำงานที่คณะกรรมการบูรณาการประสานงานกรณีกู้ชีพฉุกเฉินกว่า 27 องค์กรจะดำเนินการให้เกิดอย่างเป็นรูปธรรมประกอบด้วย 1. แผนงานประชาสัมพันธ์กรณีกู้ชีพฉุกเฉินที่จะเน้นการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนตื่นตัว กระตุ้นจิตสำนึก เช่น การ "ให้ทาง = ช่วยชีวิต ความดีที่คุณทำได้" 2. แผนการอบรมการปฐมพยาบาลและการช่วยฟื้นคืนชีพ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้ประชาชนสามารถปฏิบัติได้จริง 3. แผนการเตรียมอาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ และพื้นที่เสี่ยงเพื่อพร้อมรับการกู้ชีพฉุกเฉิน เช่น การกำหนดลักษณะของอาคาร เพื่อความปลอดภัยในการกู้ชีพ 4. แผนการจัดการจราจรเพื่อเปิดทางให้รถฉุกเฉิน เช่น การจัดช่องทางรถฉุกเฉิน 5. แผนพัฒนาการบริการกู้ชีพฉุกเฉิน 6. แผนการปรับปรุงกลไกเสริม และ 7. แผนการประสานและการติดตามประเมินผลร่วม
โดยในเบื้องต้นคณะทำงานได้ดำเนินการในการจัดการจราจรโดยการเตรียมตีเส้นจราจร "ช่องทางรถฉุกเฉิน"(Emergency Lane) นำร่องในพื้นที่เขต8 ซึ่งเป็นช่องทางสำหรับรถฉุกเฉินที่จะมุ่งหน้าไปยังโรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งจะเริ่มจากถนนดินแดง บริเวณใต้ทางด่วนดินแดง ใกล้จุดตัดถนนวิภาวดีฯ มุ่งหน้าฝั่งขาเข้า ขึ้นสะพานข้ามแยกสามเหลี่ยมดินแดง ลงถนนราชวิถี ต่อเนื่องอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เข้าไปในรพ.ราชวิถี ซึ่งผู้ใช้รถสามารถสัญจรทับเส้นประสีแดงได้ตามปกติ เมื่อรถฉุกเฉินวิ่งมา ค่อยเบี่ยงออกจากช่องทางดังกล่าว นอกจากนี้ยังเตรียมจัดแผนให้ตำรวจจราจรขี่รถจักรยานยนต์นำรถฉุกเฉิน และอำนวยความสะดวกสัญญาณไฟจราจรอีกด้วย
การดำเนินการในการทำงานร่วมกันในครั้งนี้ของหลากหลายหน่วยงานไม่ได้ทำเพื่อใครคนใดคนหนึ่งหากแต่เป็นการทำงานเพื่อต่อลมหายใจของผู้ป่วยฉุกเฉินที่เราไม่อาจทราบได้ว่าวันใดเราจะต้องเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินที่ต้องได้รับความช่วยเหลือดังนั้นหากเราเริ่มตั้งแต่วันนี้ด้วยตัวของเรา ด้วยการให้ทางรถพยาบาลฉุกเฉินเพื่อช่วยผู้ป่วยอีกหลายชีวิต ความดีง่ายๆ ที่เราเริ่มก็จะส่งผลกลับมาให้เราได้รับการบริการทางด้านการแพทย์ฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพนั่นเอง