เรื่องกล้วยสุก กล้วยดิบ...ช่วยปากท้อง

เรื่องกล้วยสุก กล้วยดิบ...ช่วยปากท้อง

โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เผยแพร่ข้อมูลประโยชน์ของกล้วยทั้งกล้วยสุกเหลืองๆ กล้วยดิบเขียวๆ ยาง หยวกและวิธีการกินกล้วยสุกที่ไม่ทำให้ท้องอืด

กล้วย เป็นผลไม้ที่มีสารอาหารครบถ้วน ทั้งคาร์โบไฮเดรต เกลือแร่ เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส และเหล็ก วิตามินก็มีครบ ทั้งวิตามินเอ บี อี ซี และยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ ชะลอความแก่ ป้องกันมะเร็ง คลายเครียด กล้วย เป็นผลไม้ที่มีโปรตีน จึงเป็นอาหารสุขภาพสำหรับเด็กและคนทุกเพศทุกวัย สำหรับคนที่มีกลิ่นปาก เพียงแต่กินกล้วยสุกหลังตื่นนอนแล้วจึงค่อยแปรงฟัน ทำอย่างนี้ประมาณ 1 สัปดาห์ กลิ่นปากก็จะหายไป

รักษาโรคกระเพาะ
กล้วยเป็นผลไม้ที่เกิดมาเพื่อดูแลท้องไส้โดยเฉพาะ ไม่ว่าท้องเสีย ท้องผูก เป็นโรคกระเพาะ นอกจากนี้หยวกกล้วย และปลีกล้วย เป็นอาหารที่มีเส้นใย ทำหน้าที่เป็นพนักงานเก็บกวาดขยะของแข็งที่ตกค้างในลำไส้ได้เป็นอย่างดี ในวัฒนธรรมไทยจึงมีตำรับอาหารหลากหลายจากกล้วย ทั้งอาหารหวานคาว และของว่าง
หมอยาไทยใหญ่เชื่อว่าการกินกล้วยน้ำว้าจะทำให้ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ และให้ความฉ่ำเย็นกับที่อยู่อาศัย ดังนั้น ในการสร้างบ้าน หรือการแยกครอบครัวใหม่ จะต้องมีต้นกล้วยเป็นพืชมงคลที่นำไปปลูกไว้เสมอ

การที่กล้วยเป็นยาเย็น หมอยาไทยใหญ่ หมอยาไทยเลย จึงบอกว่าเมื่อรู้สึกแสบร้อนในกระเพาะอาหาร ซึ่งถือว่าเป็นการกำเริบของธาตุไฟ ให้กินกล้วยจะช่วยได้ ทั้งในแบบของการตากแห้งตำผงกินกับน้ำร้อน หรือคลุกกินกับน้ำผึ้ง หรือกินกล้วยสุกธรรมดาก็ได้ มีการวิจัยโดยใช้กล้วยรักษาโรคกระเพาะพบว่า ได้ผลน่าพอใจ เนื่องจากกล้วยไปกระตุ้นให้ผนังกระเพาะสร้างเยื่อเมือกมากขึ้น เยื่อเมือกนี้จะปิดแผลทำให้แผลหายเร็ว ผู้ที่มีปัญหาแผลในกระเพาะจะมีอาการดีขึ้น กระเพาะแข็งแรงขึ้นโอกาสเป็นแผลก็น้อยลง แต่ไม่ไปลดกรดอันจะไปทำลายกลไกธรรมชาติของร่างกาย จนทำให้เกิดความแปรปรวนของธาตุในร่างกาย ดังนั้น กล้วย จึงเป็นทั้งยารักษาและป้องกันโรคกระเพาะในเวลาเดียวกัน

นอกจากนี้ กล้วย ยังช่วยคลายเครียดจากการที่กรดอะมิโนทริปโทเฟนที่มีอยู่ในกล้วยเปลี่ยนเป็นซีโรโทนิน ซึ่งเป็นสารที่ช่วยให้เกิดอาการผ่อนคลาย อารมณ์ผ่องใส และรู้สึกมีความสุข เรารู้กันดีว่าความเครียดเป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะ กล้วยจึงช่วยรักษาโรคกระเพาะอย่างเป็นองค์รวมเลยทีเดียว


ตำรับยาแก้โรคกระเพาะ
ให้นำกล้วยดิบมาฝานเป็นแว่นบางๆ อบให้แห้งที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส หรือตากแดดอ่อนๆ จนกว่าจะแห้ง ห้ามใช้ความร้อนสูงกว่านี้เด็ดขาด เพราะสารที่มีฤทธิ์รักษาโรคกระเพาะในกล้วยจะสูญเสียหรือหมดฤทธิ์ไป จากนั้นนำมาบดเป็นผง รับประทานครั้งละ 1 ช้อนชา ก่อนอาหารวันละ 3 เวลา หรือจะผสมกับน้ำผึ้งด้วยก็ได้


กล้วยดิบ แก้ท้องเสีย
กล้วยดิบ มีสารฝาดสมานที่เรียกว่า แทนนิน ซึ่งช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าไปทำลายผนังกระเพาะลำไส้ แก้ท้องเสีย กล้วยที่เพิ่งเริ่มสุกเปลือกยังมีสีเขียวอยู่ประปรายนั้น เป็นทั้งยาและอาหารที่ดีมากสำหรับคนท้องเสีย นอกจากแก้ท้องเสียแล้ว ยังช่วยหล่อลื่นลำไส้ เพิ่มกากเวลาถ่าย และมีธาตุโพแทสเซียมสูงมาก ดังนั้น การใช้กล้วยแก้ท้องเสียเท่ากับให้ธาตุโพแทสเซียมชดเชยกับที่สูญเสียไปเวลามีอาการท้องร่วง ถ้าร่างกายสูญเสียโพแทสเซียมไปมากๆ จะทำให้การเต้นของหัวใจผิดปกติ ในคนชราอาจทำให้หัวใจวาย และเสียชีวิตได้


กล้วยสุก แก้ท้องผูก
กล้วยสุกงอม มีฤทธิ์ช่วยระบาย เนื่องจากมีเพคตินอยู่เป็นจำนวนมาก จึงช่วยเพิ่มกากให้กับลำไส้ เมื่อผนังลำไส้ถูกดันก็จะทำให้รู้สึกอยากขับถ่าย นอกจากนี้ กล้วยยังมีเส้นใยอาหาร ชนิดหนึ่งที่ร่างกายไม่ย่อย เรียกว่า อินูลิน ซึ่งเป็นอาหารที่เหมาะกับจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในลำไส้ หรือโปรไบโอติกส์ ซึ่งทำหน้าที่ปรับระบบขับถ่ายให้เป็นปกติ
และเนื่องจากกล้วยน้ำว้าสุกมีฤทธิ์ระบายไม่แรงมาก จึงต้องรับประทานเป็นประจำวันละ 5-6 ลูก ติดต่อกันอย่างน้อย 7 วัน จึงจะเห็นผล โดยสังเกตได้ว่าอุจจาระจะเป็นสีเหลือง ไม่มีกลิ่นเหม็น เนื่องจากการทำงานของโปรไบโอติกส์นั่นเอง อีกทั้งกล้วยยังช่วยหล่อลื่นในการขับถ่าย จึงไม่ต้องออกแรงเบ่งมาก และรู้สึกว่าถ่ายออกหมดไม่เหลือกากตกค้าง


หยวกกล้วย ช่วยขจัดของเสียในลำไส้
หยวกกล้วยอ่อน คือ แกนในต้นก้วยอ่อน เป็นผักพื้นบ้านที่พบได้ทั่วไปในภาคเหนือ ภาคอีสานเหนือและใต้ คนโบราณบอกว่า ต้องกินแกงหยวกกล้วยอย่างน้อยปีละหน เพื่อไปพันเอาสิ่งตกค้าง เช่นกระดูก เส้นผม รวมทั้งคุณไสยที่ตกค้างอยู่ในท้องออกมา จากความเชื่อนี้มีเหตุผลทีเดียว คือ เพราะหยวกกล้วยประกอบด้วยเส้นใยอาหารที่ไม่ละลายน้ำเป็นส่วนใหญ่ เส้นใยเหล่านั้นจะช่วยดูดซับสิ่งสกปรก สารพิษตามลำไส้ สิ่งที่ไม่สามารถย่อยได้ และยังช่วยกระตุ้นลำไส้ให้บีบตัวดันของเสียนั้นออกมา ซึ่งหมายถึงการลดโอกาสที่สารพิษเหล่านั้นจะไปก่อให้เกิดมะเร็งในระบบทางเดินอาหารนั่นเอง

น่ารู้
• การกินกล้วยสุกควรเคี้ยวให้ละเอียด เพราะเนื้อกล้วยมีแป้งอยู่ถึง 20 -25 % มิเช่นนั้นจะท้องอืดได้
• เด็กเล็กควรเริ่มให้กินกล้วยสุกเมื่อเด็กเริ่มกินข้าวบดได้ คือ อายุราว 3 เดือน โดยขูดเนื้อกล้วยสุก (ไม่เอาไส้กล้วยเพราะจะทำให้เด็กท้องผูก) ให้กินครั้งละน้อยๆ ไม่เกินครึ่งช้อนชา วันละครั้ง เพราะเด็กยังมีน้ำย่อยแป้งไม่พอ อาจเกิดอาการท้องอืดได้ เด็กอายุครบขวบกินกล้วยครั้งละ 1 ลูก วันละครั้ง
• ตุ่มคันจากยุงกัด มดกัด หรือผื่นคันเนื่องจากลมพิษ ใช้เปลือกกล้วยน้ำว้าสุกด้านในทาถูบริเวณนั้นประมาณครึ่งนาที
• ผู้หญิงคลอดลูกใหม่ๆ ในสมัยก่อนจะเอาปลีกล้วยมาต้มให้กิน ช่วยทำให้มีน้ำนม
• ยางกล้วยช่วยห้ามเลือดและฆ่าเชื้อ ทำให้ไม่เกิดแผลเป็น
• กาบกล้วย สามารถนำมาทำเป็นเชือกกล้วยได้ โดยนำต้นกล้วยมาขูดเป็นเส้นๆ ตากแดด ให้แห้ง หากต้องการใช้เป็นเส้นใหญ่ๆที่มีความคงทน ให้นำมาถักต่อกัน ม้วนเก็บไว้ใช้งาน

ข้อมูลจาก หนังสือบันทึกของแผ่นดินเล่มที่ 6 สมุนไพรท้องไส้ในวิถีอาเซียน
โดย เภสัชกรหญิง ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
โทร 037-211-289