อาริยะ คำภิโล แอดมินเพจ Jones salad

อาริยะ คำภิโล แอดมินเพจ Jones salad

อาริยะ คำภิโล แอดมินเพจ Jones salad แม้เพิ่งเปิดตัวไม่นานก็มียอดทะลุกว่า 6 แสนไลค์ ด้วยการนำเสนอสาระสุขภาพในสไตล์ที่เรียกรอยยิ้มคนอ่านได้

“อาริยะ คำภิโล” หรือ “กล้อง” เพจแอดมินที่สร้างลุงโจนส์มาให้คนในโลกโซเชียลหลงรัก บอกว่า เพจ Jones salad เป็นเพียงงานอดิเรกเท่านั้น แต่ใช้พลังงานและเหนื่อยยิ่งกว่างานหลัก แต่ยังทำอยู่เพราะเราชอบมันไปแล้ว ทั้งการวาดรูป การคิดคอนเทนต์ใหม่ๆ การได้เห็นคนอ่านชอบในสิ่งที่เราทำ เวลาเห็นแล้วไม่ได้หายเหนื่อยทันทีหรอก แต่มันทำให้เรามีความสุข

จุดเริ่มของเพจมาจากกิจการร้านขายสลัดผักชื่อ “โจนส์สลัด” (Jones’salad) ตามชื่อเจ้าของสูตรน้ำสลัดซึ่งเป็นน้าเขยชาวออสเตรเลียของคุณพลอย (ภรรยาของอาริยะ) เป็นคนที่ทำน้ำสลัดอร่อยมาก ขณะที่อาริยะกำลังมองหาธุรกิจใหม่แทนร้านชาไข่มุก จึงตัดสินใจบินไปเรียนปรุงน้ำสลัดกับน้าเขยถึงออสเตรเลีย แล้วกลับมาเปิดร้านแรกที่จามจุรีสแควร์เมื่อปลายปี 2556

เพจก็ทำขึ้นในตอนนั้นเพื่อนำเสนอร้านให้เป็นที่รู้จัก เนื้อหาช่วงแรกๆ ก็โพสต์รูปสินค้า (สลัดผัก) เหมือนกับเพจทั่วไป ทำให้ขาดความแปลกใหม่ ไม่ได้รับความสนใจ ขณะเดียวกันก็มีคำถามจากลูกค้าว่า กินผักแล้วดียังไง มีประโยชน์จริงเหรอ ก็เลยเป็นจุดเริ่มให้เปลี่ยนมานำเสนอเป็นสาระความรู้เมื่อต้นปีนี้เอง คอนเซปต์อยากให้เป็นเรื่องสุขภาพที่เข้าใจง่ายและสนุก จากนั้นการติดตามก็จะเกิดขึ้น ผมก็ทำเองหมดเลยตั้งแต่คิดประเด็น รวบรวมข้อมูลจากบทความวิจัยต่างๆ แล้วย่อยให้เข้าใจง่ายก่อนที่จะนำเสนอผ่านตัวการ์ตูน ซึ่งก็ลงมือวาดเอง

การอดเพื่อลดอ้วน เป็นหัวข้อแรกที่นำเสนอ รุ่นพี่ที่เป็นเทรนเนอร์เข้าอบรมด้านสุขภาพแล้วเล่าให้ฟัง ทำให้รู้ว่าตรรกความเชื่อของคนส่วนใหญ่นั้นผิด 100% อาริยะเสิร์ชค้นหาข้อมูลวิชาการมาเสริมทัพ กระทั่งมั่นใจจึงถ่ายทอดออกมาในชื่อตอน กำเนิดพิภพพุง (ความหิวสร้างพุง)

ย้อนสู่วัยเรียน อาริยะเป็นนักกีฬาเทควันโดผ่านประสบการณ์ลดน้ำหนักก่อนลงแข่งขันหลายครั้ง บางครั้งต้องลด 10 กิโลกรัมภายใน 1 สัปดาห์ อดข้าวอดน้ำถึงขนาดที่น้ำลายก็ยังต้องบ้วนทิ้ง จึงเข้าใจความรู้สึกของผู้ที่ลดน้ำหนักซึ่งต้องเผชิญโยโย่เอฟเฟกต์ เขาจึงสงสัยมานานแล้วว่า การอดเพื่อลดน้ำหนักมาถูกทางหรือไม่ ระบบในร่างกายของเราเป็นอย่างไร เพราะสนใจอยากรู้อยู่แล้วก็เลยค้นคว้า พอรู้คำตอบก็สนุกดี

“...ใครคิดจะอดอาหารเพื่อลดพุงต้องระวังให้ดี เพราะร่างกายกลัวความหิวที่สุดโดยเปิดโหมดเอาชีวิตรอดเมื่อหิว ร่างกายจะใช้พลังงานลดลง การเผาผลาญลดลง สะสมไขมันมากขึ้นทำให้อ้วนง่ายขึ้น การลดน้ำหนักจึงไม่ควรปล่อยให้ท้องหิว แต่ควรกินอาหารแคลอรีต่ำๆ เน้นผักผลไม้มากๆ กากใยจากผักผลไม้จะช่วยทำให้คุณไม่หิว โหมดเอาชีวิตรอดก็จะไม่ทำงาน...” เขานำคอนเทนต์นี้มาอธิบายเป็นการ์ตูนง่ายๆ สอดแทรกมุกตลกด้วย พอโพสต์ไปแล้วก็กลายเป็นกระแสตอบรับดีมาก ยอดแชร์หลายหมื่นและเป็นที่สนใจมากขึ้น เริ่มมีคุณหมอติดต่อมาว่าอยากให้ทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็เลยนำมาเขียนเป็นตอนต่อๆ ไป รวมแล้วถ้าเป็นตอนยาวๆ ก็มีอยู่ 10 กว่าตอน และตอนย่อยๆ อีกมากทั้งโภชนาการ ออกกำลังกาย สารอาหารในความสนใจแต่เข้าใจยาก เช่น โปรไบโอติก พรีไบโอติก รวมทั้งโกรทฮอร์โมนซึ่งยากที่สุด

การแปลงข้อมูลวิชาการที่ซับซ้อนมากๆ ให้เป็นเรื่องเข้าใจง่าย คือยาขมของคนส่วนใหญ่ แต่สำหรับอาริยะนี่คือ ความท้าทายที่น่าหลงใหล เขาผมสั่งสมทักษะการย่อยข้อมูลยากๆ ให้เข้าใจง่ายมาโดยไม่รู้ตัวตั้งแต่สมัยเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ ตอนนั้นติดพันอยู่กับธุรกิจขายตรง ไม่ค่อยเข้าเรียน แล้วมาโหมอ่านหนังสือ 3 วันก่อนสอบ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะจำข้อมูลทั้งหมดภายใน 3 วัน แต่ก็มีทริคส่วนตัวที่เกิดจากการพัฒนาตัวเองเพื่อเอาตัวรอดจากการสอบ ก็คือ อันดับแรกต้องรู้ข้อมูลทั้งหมดแล้วนำข้อมูลทั้งหมดสร้างเป็นมายด์แมพ มีตัวการ์ตูนเชื่อมโยงหัวข้อนั้นกับทฤษฎีนี้ ทำให้เห็นภาพชัดเจนและเข้าใจในเนื้อหามากขึ้น

ความยากของเพจแอดมินคือ ต้องทำเพจให้สนุก เป็นความยากที่ท้าทาย ยิ่งเรื่องยากๆ ไม่ปกติ ยิ่งเข้าทาง แต่หลังจากทำแล้วมีคนชอบและติดตาม ก็รู้สึกว่าได้ทำสิ่งดีๆ ให้กับสังคมและสิ่งที่เกิดตามมาคือ ความรู้สึกว่าชีวิตก็มีคุณค่าเช่นกัน ยกตัวอย่างประเด็นที่ยากสุดคือ การนอนหลับที่เชื่อมโยงกับโกรทฮอร์โมน คอนเทนต์คือ นอนดึกอย่างไรให้สุขภาพดี ปรากฏว่า กระแสตอบรับดีมาก ยอดแชร์ไปถึงหลักแสน

การนำเสนอเนื้อหาที่สวนทางความเชื่อดั้งเดิมย่อมเลี่ยงไม่พ้นปฏิกิริยาตอบกลับ อย่างเรื่องพลังงานจากโปรตีนเปลี่ยนเป็นไขมันสะสมได้ ขณะที่ความเชื่อเดิมคือ โปรตีนส่วนเกินจะถูกขับออกทางปัสสาวะ หลังจากโพสต์ก็ถูกสวนกลับหลายหมัดจากนักวิชาการ
“สุขภาพกับความเชื่อมีหลากหลายมุม ส่วนที่นำเสนอก็คือมุมของผมเท่าที่สามารถหาข้อมูลมาอ้างอิงได้และเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง อาจจะไม่ถูกต้องทั้งหมด ผมไม่ได้บอกว่าคนอื่นผิด ผมถูกคนเดียว ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ เพราะในทางวิทยาศาสตร์มีการค้นพบข้อมูลใหม่ๆอยู่เรื่อยๆ ตลอดเวลา”

อาริยะฝากมุมคิดว่า ก่อนตัดสินใจเชื่อข้อมูลที่แชร์ต่อๆ กันมา ควรตรวจดูแหล่งที่มาว่าเชื่อถือได้เพียงใด หาข้อมูล เช็กให้ลึก เพื่อไม่ให้ถูกหลอกหรือมีส่วนช่วยกระจายข้อมูลผิดๆ นั้น

* เผยแพร่ใน นสพ.กรุงเทพธุรกิจ(กายใจ) วันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม 2559