'โรคฉี่หนู'ระบาดภาคใต้ ตายแล้ว 3 ราย
"โรคฉี่หนู" ระบาดภาคใต้หลังน้ำลด ป่วยแล้ว157ราย ตาย3ราย กระบี่ยอดคนป่วยเพิ่มขึ้น6เท่า เตือนประชาชนอย่าชะล่าใจ "ไข้ ปวดกล้ามเนื้อ" รีบพบแพทย์
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวภายหลังการประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ผ่านระบบทางไกลกับ 12 จังหวัดภาคใต้ที่ประสบปํญหาน้ำท่วมว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมใน 12 จังหวัดภาคใต้อยู่ในช่วงของการฟื้นฟูพื้นที่หลังสถานการณ์น้ำลดลง ซึ่งในส่วนของโรคที่เกิดขึ้น พบว่า โรคฉี่หนู หรือแลปโตสไปโรซิส(Leptospirosis) มีความน่าเป็นห่วง แนวโน้มจะพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอีกแน่นอน โดยมีผู้ป่วยสะสมถึงวันที่ 31 มกราคม 2560 จำนวน 157 ราย เสียชีวิตแล้ว 3 ราย ที่จ.กระบี่ 2 ราย และจ.ตรัง 1 ราย และมีผู้ป่วยอาการรุนแรงต้องรักษาตัวในห้องไอซียูที่จ.นครศรีธรรมราช 3 ราย ทั้งนี้ จำนวนผู้ป่วยในพื้นที่พบว่ามีสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยที่จ.กระบี่ผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 6 เท่า และจ.นครศรีธรรมราชเพิ่มขึ้น 2 เท่า
รองปลัดสธ. กล่าวอีกว่า ผู้ป่วยโรคฉี่หนูในจังหวัดภาคใต้ที่มีน้ำท่วมมีอาการรุนแรงขึ้นและเสียชีวิตในระยะเวลาสั้นทั้งที่โรคนี้มียารักษาให้หายได้หากเข้าสู่กระบวนการรักษาได้รวดเร็ว อาจเป็นผลได้จาก 3 ปัจจัย ได้แก่ 1.ตัวเชื้อทำให้อาการรุนแรงขึ้นหรือไม่ จึงได้ขอความร่วมมือทุกสถานพยาบาลที่มีผู้ป่วยเสียชีวิตและอาการรุนแรงให้เก็บตัวอย่างเลือดและปัสสาวะทุกราย เพื่อส่งต่อให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมการแพทย์ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในการดำเนินการวิเคราะห์เชื้อต่อไป 2.ประชาชนตระหนักเกี่ยวกับโรคนี้น้อย มาพบแพทย์ช้า เมื่อมีอาการเป็นไข้ ปวดศรีษะ ซึ่งเป็นอาการระยะต้นที่ไม่รุนแรง จึงไม่มาพบแพทย์ ทำให้ไม่ได้รับการรักษาโดยเร็ว และ3.บุคลาการทางการแพทย์ วินิจฉัยโรคได้ช้า ดังนั้น หน่วยพยาบาลทุกแห่งในพื้นที่น้ำท่วม ต้องเพิ่มการคัดกรองผู้ป่วย หากมีอาการไข้ ปวดกล้ามเนื้อ มีประวัติลุยน้ำ ลุยโคลนให้สงสัยโรคนี้ไว้ก่อน ซึ่งจะทำให้สามารถรักษาผู้ป่วยได้เร็ว
นพ.สุวรรณชัย กล่าวด้วยว่า อาการของผู้ที่ป่วยด้วยโรคฉี่หนูในระยะต้น มักจะมีอาการไม่รุนแรง ประกอบกับในพื้นที่ภาคใต้มีฝนตกบ่อย เมื่อป่วยเป็นไข้ประชาชนก็อาจคิดว่าเป็นไข้หวัดธรรมดา ประกอบกับเมื่อกินยาลดไข้แล้วอาการทุเลาลง จึงไม่ได้ไปพบแพทย์ตั้งแต่ที่เป็นระยะต้นๆที่อาการยังไม่รุนแรง จนเมื่อเริ่มมีอาการรุนแรงขึ้น คือ มีอาการเหลืองทั้งที่ตาและร่างกาย ซึ่งแสดงว่าตับเริ่มมีปัญหา หรือไอเป็นเลือด แสดงว่าปอดเริ่มมีปัญหาแล้ว กลายเป็นภาวะแทรกซ้อนและทำให้เสียชีวิต ซึ่งเมื่ออยู่ในระยะนี้มีโอกาสเสียชีวิต 50 % อย่างไรก็ตาม ช่วงที่น้ำท่วมปริมาณน้ำที่มากช่วยเจือจางปริมาณเชื้อลงไป แต่ในช่วงนี้ที่เป็นระยะการฟื้นฟูหลังน้ำท่วม จะเป็นช่วงเวลาที่น้ำลด ปริมาณเชื้อจะมีความเข้มข้นมากขึ้น และประชาชนจะดำเนินการซ่อมแซมบ้าน ซึ่งอาจจะเกิดแผลเล็กๆน้อยๆเกิดขึ้น และทำให้ติดเชื้อนี้ได้ง่าย
“ช่วงนี้พูดได้ว่าไม่มีใครไม่มีความเสี่ยงเลย ใน 12 จังหวัดที่น้ำท่วมมีโอกาสเป็นโรคฉี่หนูได้ทุกคน จึงขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมดังกล่าว ในช่วงนี้หากมีอาการไข้ ร่วมกับการปวดศรีษะหรือปวดกล้ามเนื้อ และมีประวัติสัมผัสน้ำทั้งการลุยน้ำ ลุยโคลน หรือการเข้าไปเป็นจิตอาสาในพื้นที่ให้รีบไปพบแพทย์ทันที ไม่ต้องรอ เพื่อเข้ารับการรักษาทันที อย่ารอให้มีอาการรุนแรง ซึ่งโรคฉี่หนูมียาที่สามารถรักษาให้หายได้ ส่วนการป้องกัน ในการซ่อมแซมบ้านควรใส่เครื่องป้องกันการเกิดบาดแผล เช่น ถุงมือ หรือถุงพลาสติกและหากไปสัมผัสน้ำก็ควรรีบล้างทำความสะอาดโดยเร็ว”นพ.สุวรรณชัยกล่าว
นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 11 กล่าวว่า สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามในพื้นที่น้ำท่วมคือระบบประปา ซึ่งก่อนหน้านี้มีการกรวดน้ำประปาในจังหวัดที่น้ำท่วมจังหวัดหนึ่งพบว่าค่าคลอรีนต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน หลังจากนี้จึงต้องมีการตรวจคุณภาพน้ำประปาด้วย โดยเฉพาะประปาหมู่บ้าน ถ้าไม่ได้มาตรฐานก็เร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไข นอกจากนี้ หน่วยพยาบาลที่พื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ซึ่งครั้งนี้พบว่ายูนิตทำฟันได้รับความเสียหายจำนวนมาก เพราะไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ จึงควรพิจารณาตั้งยูนิตทำฟันให้อยู่ชั้นสูง ไม่ควรไว้ที่บริเวณชั้น 1 เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้น