Hurried Child Syndrome ทุกข์ใจวัยจิ๋ว

Hurried Child Syndrome ทุกข์ใจวัยจิ๋ว

เมื่อความคาดหวังและคำมั่นสัญญาว่า “หนูจะ (ต้อง) เป็นคนเก่ง” กำลังเร่งให้ชีวิตที่ยังไม่ประสีประสาต้องเผชิญชะตาที่ยังไม่ควรเจอ

ถึงแม้ธรรมชาติจะสร้างการร้องไห้มาเป็นกลไกปลดเปลื้องความทุกข์อย่างหนึ่งของมนุษย์ แต่บ่อยครั้งที่ความทุกข์ทรมานต้องถูกเก็บงำไว้ลึกสุดใจ เผยเพียงการน้อมรับ ทำตาม ทั้งที่ในนั้นมีน้ำตาซ่อนอยู่

แรงกดดันอย่างที่ว่าไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะผู้ใหญ่หรือคนที่แบกรับความเครียดจากการเรียน การทำงาน หรือประสบปัญหาชีวิตอย่างโชกโชน แต่กับเด็กเล็กที่ลืมตาดูโลกไม่กี่ปีก็เหมือนกัน หลายคนกลายเป็นเด็กที่ถูก ‘เร่งโต’ ด้วยสารอาหารที่ชื่อว่า ‘ความคาดหวัง’ จนพวกเขาต้องสูญเสียวัยเด็กไปตลอดกาล อาจกลายเป็นผู้ใหญ่ขั้นวิกฤตในอนาคต หรือร้ายไปกว่านั้นเด็กบางคนอาจหมดโอกาสมีลมหายใจเพื่อเติบโตต่อไปหากไม่เข้มแข็งพอ

  • เร่งโต = เร่งตาย

หากเด็กเปรียบกับผ้าขาว สิ่งต่างๆ ที่พวกเขาเจอและเรียนรู้คงเป็นเหมือนกับสีบนปลายพู่กัน แต่งแต้มให้ผ้าขาวผืนนั้นเกิดเป็นลวดลายสีสันอย่างมีเอกลักษณ์เป็นผืนเดียวในโลก ทว่าเด็กจำนวนไม่น้อยเกิดมาเพื่อเป็นเพียงผืนผ้าสำหรับรองรับสีซึ่งผู้ใหญ่ต้องการสาดใส่ บางลวดลายที่เด็กสร้างสรรค์ขึ้นเองก็ถูกทาทับ ยิ่งสาดยิ่งถมเท่าไรก็ยิ่งเป็นที่พอใจของผู้ใหญ่บางคน โดยหลงลืมไปว่าได้ถามผ้าผืนนั้นหรือยังว่าเขาอยากเปื้อนสีที่ถูกยัดเยียดหรือเปล่า

ภาวะที่เด็กถูกเร่งในเรื่องต่างๆ ให้ทำหรือแบกรับสิ่งที่เกินวัยในทางการแพทย์เรียกว่า Hurried Child Syndrome ซึ่ง ‘หมอกอล์ฟ’ พญ.กุลนิดา เต็มชวาลา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลนครธน อธิบายว่าเด็กที่มีภาวะดังกล่าวในช่วงแรกอาจทำสิ่งที่ได้รับมอบหมายค่อนข้างดี แต่เมื่อต้องทำแบบเดิมซ้ำๆ โดยไม่รู้ว่าต้องทำไปถึงเมื่อไรจะเริ่มเกิดปัญหา

“ส่วนมากเกิดในช่วงเด็กปฐมวัยแล้วส่งผลไปถึงช่วงประถมปลายจนถึงเข้าสู่วัยรุ่น ยกตัวอย่างเช่นเด็กที่เข้าเรียนเร็วกว่าปกติ หรือเด็กที่ต้องรับผิดชอบมากๆ ต้องอ่านหนังสือ ต้องติวหนังสือตั้งแต่ชั้นอนุบาล หรือเด็กที่จะต้องเล่นกีฬา เล่นดนตรี หรืออะไรที่พ่อแม่ส่งให้เรียนทุกวันโดยไม่มีเวลาพักผ่อน”

หากเป็นอย่างที่จิตแพทย์คนนี้เล่า นั่นคือสิ่งที่เด็กจำนวนมากในประเทศไทยกำลังเผชิญ เมื่อเห็นจนชินตาอาจเข้าใจว่าไม่น่ากังวล แต่รู้หรือไม่ว่าภาวะ Hurried Child Syndrome ร้ายแรงถึงตาย!

“เคยมีเด็ก 6 ขวบบอกว่าอยากฆ่าตัวตาย” หมอกอล์ฟเปิดประเด็น หลังจากนั้นเล่าต่อว่าเด็กคนดังกล่าวมาพบแพทย์ตอนที่เรียนอยู่ประถม 1 ทว่าปัญหาเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่อยู่อนุบาล 2

“เขาต้องติวหนังสือตั้งแต่อนุบาล 2 ติวแบบ Intensive (อย่างเข้มข้น) เพื่อสอบเข้า ป.1 โรงเรียนที่พ่อแม่ของเขาต้องการให้เข้า ติวตลอดต่อเนื่องทั้งสัปดาห์มีเวลาพักแค่ช่วงเย็นวันอาทิตย์ ตอนเช้าก็ต้องไปติวตั้งแต่ 7 โมงเช้าก่อนเข้าแถว เลิกเรียนก็ไปเรียนพิเศษ วันเสาร์-อาทิตย์ก็ไปเรียนพิเศษอีก จนในที่สุดเขาก็สอบได้ในโรงเรียนที่พ่อแม่อยากให้เข้า”

ถึงจะบรรลุเป้าหมายแต่ปัญหายังไม่จบ เด็กวัย 6 ขวบคนนี้ปฏิเสธการไปโรงเรียนที่เขาลำบากลำบนจนสอบเข้าได้ เพราะภาวะเครียดสะสม มองไปก็เห็นแต่ความทุกข์

“เด็กคนนี้รู้สึกไม่มีความสุขกับชีวิตเลย จนถึงขั้นอยากตาย ตอนที่พ่อแม่พามาหาหมอ คืออาการไม่อยากไปโรงเรียนทั้งที่โรงเรียนไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่พอตื่นเช้าก็ไม่อยากไปโรงเรียน ร้องไห้ ทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ต้องไปโรงเรียน พ่อแม่ก็ไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นเลยพามาพบจิตแพทย์เด็ก ซักถามไปเรื่อยๆ พบว่าอารมณ์เขาเศร้าเรื่อยๆ รู้สึกว่าไม่รู้จะอยู่ไปทำไม เขาอยากตาย”

ข้อมูลจากจิตแพทย์เด็กระบุว่า ปัจจุบันมีเด็กที่ต้องมาพบจิตแพทย์เด็กด้วยอายุน้อยลงเรื่อยๆ และมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ อายุน้อยสุดตอนนี้ประมาณ 2-3 ขวบ คือตั้งแต่เริ่มเข้าโรงเรียน

“เด็กมีพฤติกรรมไม่อยากไปโรงเรียน ซึ่งมีความแตกต่างระหว่างเด็กทั่วไปกับเด็กที่มีความผิดปกติ คือในเด็กเล็กทั่วไปจะมีความกังวลจากการแยกจาก ร้องไห้ไม่อยากไปโรงเรียนในช่วงสองสัปดาห์แรก แล้วหลังจากนั้นก็จะปรับตัวได้

แต่ในเด็กที่ถึงขนาดต้องพบแพทย์ อาจจะมีอาการนานมาก บางคนเป็นเดือน หลายเดือน หรืออาจเป็นปีเลยที่ร้องไห้ไม่อยากไปโรงเรียน หรือเด็กที่เคยชอบไปโรงเรียน แล้ววันหนึ่งไม่อยากไปโรงเรียน แบบนี้พ่อแม่หรือครูก็ส่งมาพบจิตแพทย์เด็ก” หมอกอล์ฟอธิบาย

  • หยาดน้ำตาเพื่อ ‘ฆ่า’ นิยม

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันการแข่งขันเพื่ออยู่จุดสูงสุดของสังคมมีเสมอมา และยิ่งโลกหมุนไวเท่าไรบันไดสู่ความเป็นเลิศก็ยิ่งสูงชันขึ้นเท่านั้น การจะไต่ขึ้นไปยิ่งต้องใช้พละกำลัง ถึงเด็กบางคนจะหมดแรงจนอยากถอนตัว แต่สายตาของผู้ใหญ่ที่มองขึ้นมากลายเป็นทั้ง ‘แรงผลักดัน’ และ ‘แรงกดดัน’ ไปพร้อมกัน

หมอกอล์ฟ บอกว่าปัญหาสุขภาพจิตในเด็กปฐมวัยมักถูกส่งต่อมาเพราะตรวจไม่พบในการตรวจทั่วไป แต่แสดงออกผ่านพฤติกรรม เช่น ไม่ยอมไปโรงเรียน ต่อต้าน ก้าวร้าว บางคนอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย ผิดวิสัยของเด็กเล็ก ซึ่งมักพบว่าเกิดจากสาเหตุหลากหลาย ทั้งที่เกิดในโรงเรียน อาทิ การเรียนยากเกินไป เรียนมากเกินไป ครูดุ ครูคาดหวังให้เด็กอ่านออกเขียนได้ คาดหวังให้ไม่ดื้อไม่ซน หรือการถูกเพื่อนกลั่นแกล้งก็เป็นสาเหตุสำคัญที่พบ

แต่ใช่ว่าจะโทษโรงเรียนอย่างเดียว เพราะ ‘ครอบครัว’ คือปัจจัยของปัญหาสุขภาพจิตในเด็กที่พบบ่อยไม่แพ้กัน

“ในปัจจุบันครอบครัวมีลูกจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ ส่วนมากมีลูกเพียง 1-2 คน และลูกเป็นเหมือนตัวแทนพ่อแม่ หมายความว่าตอนเด็กๆ ถ้าคุณพ่อคุณแม่รู้สึกว่าไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมอาจเพราะตัวเองเรียนไม่เก่งหรือตัวเองหน้าตาไม่ดี ไม่มีความสามารถ พอมีลูกก็จะพยายามส่งเสริมให้ลูกเรียนเก่ง มีความสามารถ เพื่อให้ได้รับการยอมรับของสังคม พอลูกได้รับการยอมรับเขาก็จะรู้สึกว่าได้รับการยอมรับจากสังคมด้วย”

การยอมรับจากสังคมเป็นอีกร่างหนึ่งของ ‘ค่านิยม’ ซึ่งหลายครอบครัวยึดมั่นถือมั่น ทั้งการเรียนเก่ง การสอบเข้าโรงเรียนชื่อดัง จิตแพทย์เด็กบอกว่าเป็นสาเหตุให้เด็กๆ ต้องประสบเคราะห์กรรมอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่ในทางตรงกันข้ามการพัฒนาประเทศชาติก็ยังต้องการบุคลากรคุณภาพ จุดกึ่งกลางที่จะทำให้ ‘ค่านิยม’ ไม่กลายเป็น ‘ฆ่านิยม’ คือผู้ใหญ่ต้องเข้าใจว่าเด็กแต่ละคน ‘มีของ’ ไม่เหมือนกัน

“เด็กแต่ละคนมีความสามารถแต่ละด้านไม่เหมือนกัน ความฉลาด ความเป็นเลิศ ไม่ใช่แค่ IQ เพราะ IQ คือ Intelligence Quotient หมายถึงความสามารถทางสติปัญญา แต่ว่ามีความสามารถด้านอื่นอีก เช่น ความสามารถด้านดนตรี ด้านการเคลื่อนไหว การทรงตัว การคณิตศาสตร์ แต่ปัจจุบันสังคมไทยมีค่านิยมเฉพาะ IQ โดยละเลยส่วนอื่นไปหมด ทำให้เด็กที่มีความสามารถด้านอื่นไม่ได้แสดงความสามารถของตัวเองออกมาเต็มที่ หรือแสดงออกมาแล้วไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม เพราะฉะนั้นเราต้องปรับมุมมอง ปรับค่านิยม ว่าไม่จำเป็นต้องเรียนเก่งอย่างเดียว ยังมีความสามารถอื่นๆ ที่บ่งบอกว่าเด็กคนนั้นเป็นเด็กเก่งได้”

สำหรับ ‘หมอเดว’ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น มองว่าเรื่องทัศนคติของผู้ใหญ่ล้วนเกิดจากระบบการศึกษาที่ถูกวางไว้ กล่าวคือพ่อแม่ทุกคนย่อมต้องการให้ลูกได้ดี ระบบวางอย่างไรพวกเขาก็เดินตามอย่างนั้น

“สมมติยกเลิกการสอบ TCAS แล้วกลายเป็นระบบคล้ายๆ สิงคโปร์ ทุกอย่างก็จะเปลี่ยนไปตามลักษณะนั้นอยู่แล้ว แต่จะเปลี่ยนได้อย่างไรก็เป็นภาระงานของภาครัฐ กระทรวงต่างๆ รวมทั้งผู้ใหญ่ต้องช่วยกัน ทัศนคติของผู้ใหญ่มีบางส่วนจำเป็นต้องปรับ เช่น เข้าใจผิดบางด้าน ยกตัวอย่างเช่น เปลี่ยนเด็กทุกคนเหมือนกันหมดเลย เพราะฉะนั้นเด็กทุกคนก็เข้าสายพานแบบเดียวกันหมด สอบเข้าให้ได้ เรียนให้เก่ง เรียนสายวิทย์-คณิต เป็นหมอเป็นวิศวกร นี่ต้องปรับจูนทัศนคติของพ่อแม่ว่าเด็กทุกคนมีความสามารถที่ต่างกัน ความถนัดความชอบไม่เหมือนกัน ต้องเปิดโอกาสให้เด็กเลือกของเขาเอง”

ทว่าการส่งเสริมเด็กให้เดินสู่ความเป็นเลิศด้านต่างๆ ก็ไม่ควรสุดโต่ง มิเช่นนั้นจากพลังจะกลายเป็นพังได้ เช่นในกรณีเด็กที่ต้องประกวดแข่งขัน แล้วครอบครัวให้เด็กต้องแบกความหวังหนักเกินไป เมื่อผิดพลาดหรือพ่ายแพ้ จิตใจของเด็กอาจถูกร้ายอย่างหนัก หากเป็นผู้ใหญ่อาจเรียกว่าประสบการณ์ชีวิต แต่สำหรับเด็กนั่นอาจเป็นรอยแผลเป็นติดตัวเขาไปตลอดชีวิต

“อย่าคิดว่าเด็กเล็กเครียดไม่เป็น แถมกลไกทางจิตของเขาไม่แข็งแรงเท่าผู้ใหญ่ด้วย ผู้ใหญ่ยังมีกลไกทางจิต รำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง หรืออะไรอีกเยอะที่ผู้ใหญ่หยิบมาลดความตึงเครียดของตัวเอง แต่เด็กยังพัฒนาไม่ถึงตรงนั้น” รศ.นพ.สุริยเดว กล่าว

  • สิทธิความสดใส

มีอีกหนึ่งตัวอย่างผลผลิตจากแรงกดดันของผู้ใหญ่ที่หมอกอล์ฟเล่าให้ฟังว่า เด็กอนุบาล 3 คนหนึ่งมาพบเธอด้วยอาการน้ำลายไหลไม่หยุด โดยเฉพาะตอนเข้าห้องสอบ

“ปัจจุบันมีการซ้อมสอบเพื่อเข้าโรงเรียนสาธิต ซ้อมสอบเข้า ป.1 ซ้อมสอบหลายครั้งค่ะ แต่ละครั้งเขาจะมีปัญหาคือน้ำลายไหลในห้องสอบ ใช้ทิชชู่เป็นม้วนๆ เลย พอตรวจกับคุณหมอเด็กทั่วไปก็ไม่พบปัญหาอะไรก็เลยส่งมาทางจิตเวช เด็กบอกว่าไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมน้ำลายต้องไหล แต่ถ้าน้ำลายไหลแล้วแปลว่าวันนั้นเขาจะไม่ต้องสอบ คุยไปคุยมาพบว่าเขาเป็นเด็กที่ต้องติวตั้งแต่อนุบาล 2 พออนุบาล 3 ก็ต้องติวหนักเลย ต้องไปเรียนตอนเช้า ติววันเสาร์-อาทิตย์ด้วย เคสนี้เราคุยกับคุณพ่อคุณแม่ว่าเรียนหนักเกินไปหรือเปล่า ลองลดลงหน่อย พ่อแม่ยังมีกลไกป้องกันตัวว่าถ้าไม่ทำแบบนี้ก็เข้าสังคมกับเขาไม่ได้นะ เพราะปัจจุบันเด็กทุกคนต้องเตรียมสอบแบบนี้ เป็นความกังวลส่วนตัวของพ่อแม่ว่าลูกจะไม่เท่าคนอื่น”

แม้จะมีท่าทีเชิงปฏิเสธ แต่เมื่ออาการลูกยังย่ำแย่ สุดท้ายก็ยอมทำตามแพทย์แนะนำโดยหยุดการเรียนพิเศษหนักๆ เหลือแค่เรียนในโรงเรียน ปรากฏว่าลูกอาการดีขึ้น ไม่มีอาการน้ำลายไหล แต่จนแล้วจนรอดพ่อแม่ก็ยังกังวลเรื่องการสอบของลูกถึงขนาดต้องทำจิตบำบัดให้พ่อแม่ด้วย

“จริงๆ ลูกไม่มีอะไรหรอก จะมีก็แต่ต้องแบกความคาดหวังที่จะเข้า ป.1 ให้ได้ โดยต้องเรียนไม่มีวันหยุด ติวหนักไม่มีเวลาเล่น เด็กเขาโหยหาเวลาเล่นกับเพื่อนๆ พอพ่อแม่ทำจิตบำบัดแล้ว เด็กได้เล่นกับเพื่อนอายุใกล้กัน เด็กคนนี้ก็ดีขึ้น”

เมื่อปัญหาสุขภาพจิตเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตของเด็ก ซึ่งอาจถือเป็นการละเมิดสิทธิเด็กทางใดทางหนึ่งจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องใส่ใจสังเกตพฤติกรรม หากมีสิ่งผิดปกติต้องรีบพาเด็กพบจิตแพทย์เด็กก่อนจะสายเกินแก้

แต่ถึงกระนั้นทัศนคติของผู้ใหญ่ก็เป็นส่วนสำคัญที่ตัดสินว่าการทวงคืนวัยเยาว์จะรอดหรือร่วง

พญ.กุลนิดา ยกตัวอย่างหลายครอบครัวที่พาเด็กมาพบจิตแพทย์เด็กแต่เมื่อผลวินิจฉัยระบุว่าสาเหตุเกิดจากครอบครัว ท่าทีของผู้ปกครองก็เปลี่ยนไปในเชิงปฏิเสธ

“หลายครอบครัวบอกว่าไม่ได้เกิดจากเขา เขาดูแลดีมาตลอด ให้ความอบอุ่นตลอด แล้วคิดว่าที่ทำไปเพราะหวังดีกับลูก ถ้าลูกได้เข้าเรียนโรงเรียนดีๆ ตั้งแต่ ป.1 ก็จะหมายความว่าโตขึ้นเด็กจะได้เข้าคณะที่เขาหวัง ได้คบเพื่อนดีๆ มีสังคมดีๆ แต่ก็มีพ่อแม่จำนวนหนึ่งเหมือนกันที่พอจะรู้ตัวว่าเป็นความคาดหวังของตัวเองที่ส่งไปถึงลูกจนลูกมีปัญหา ในกลุ่มที่พ่อแม่ยอมรับจะแก้ไขได้ง่ายกว่า”

นั่นหมายความว่ามีทั้งเด็กที่รอดเพราะรักษาทัน และมีเด็กที่ไม่รอดเนื่องจากครอบครัวปฏิเสธการรักษาเพราะรับความจริงไม่ได้ว่าพวกเขาคือคนสร้างบาดแผลบนหัวใจเด็ก

หมอเดวบอกว่าเด็กช่วงปฐมวัยจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างรอบด้าน จึงเกิดการผลักดันให้มีพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย ซึ่งมีสาระสำคัญมากกว่าแค่ยกเลิกการสอบเข้า ป.1 อย่างที่ถูกจับเป็นประเด็น คือ การบูรณาการงานด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัยโดยงานพัฒนาเด็กปฐมวัยนั้นอยู่ในการดูแลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

การพัฒนาเด็กปฐมวัยนั้นเน้นการดูแล การพัฒนา และการจัดการเรียนรู้ ตั้งแต่ในครรภ์มารดาจนถึง 8 ปี, การวางหลักประกันว่าการพัฒนาเด็กปฐมวัยจะดำเนินไปอย่างถูกทิศทาง โดยไม่อนุญาตให้มีการสอบคัดเลือกในช่วงวัยปฐมวัย, ต้องมีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย, แยกหน่วยบริการออกจากหน่วยงานที่กำหนดนโยบายและกำกับพัฒนา และการพัฒนาการเด็กปฐมวัยให้เป็นไปตามความต้องการความจำเป็นพิเศษของเด็กแต่ละบุคคล

“ไม่ได้ยกเลิกแค่การสอบเข้า ป.1 นะ แต่เรายกเลิกระบบแพ้คัดออกทั้งชั้นช่วงวัยของปฐมวัย เพราะผิดหลักพัฒนาการ ซึ่งรวมไปถึง ป.1-ป.2 หมายความว่าจะเรียนโดยไม่ต้องมีเกรด เป็นการเรียนตามสมรรถนะ เราจะอัพเดทให้เทียบเท่าสิงคโปร์เลยนะ

ระบบแพ้คัดออกเป็นดาบสองคมที่มีปัญหามาก และทวีความรุนแรงในช่วงชั้นปฐมวัย ไม่ยุติธรรมกับเด็กเลยที่ต้องมาแบกความตึงเครียดทั้งหมดนั้นบนตัวเอง หลายคนบอกว่าเด็กไม่เครียดเพราะสอบเล่นๆ สอบติดก็ติด ไม่ติดก็ไม่เห็นเป็นไร ถามว่าคนที่ผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า ล้มเหลวซ้ำซาก ก็กลายเป็นเด็กหลังห้อง เด็กนอกห้องและในที่สุดก็เป็นปัญหาตลอดชีวิตของเขา ตกลงเรากำลังสร้างคนเพียงเพื่อเอาเด็กแค่ร้อยสองร้อยคน แล้วทิ้งขยะไว้ข้างหลังทั้งหมดเลยหรือ ไม่ใช่ไหมล่ะ”

  เมื่อผู้ใหญ่เข้าใจผิดว่าเด็กเป็นถังใส่ความหวัง จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแนะนำว่าควรเลี้ยงเด็กให้ ‘โตตามวัย’ เช่น เด็ก 3-5 ปี ควรมีเวลาเล่นอย่างอิสระเพื่อให้มีจินตนาการ ไม่รู้สึกสงสัยในตัวเอง เมื่อเข้าสู่ชั้นประถมศึกษาก็ส่งเสริมด้านการเรียน แต่ไม่มุ่งเน้นเรื่องคะแนนหรือผลการเรียนเกินไป ให้เน้นที่ความตั้งใจ และไม่เลี้ยงลูกด้านเดียว คือ เด็กหนึ่งคนต้องไม่ได้เกิดมาเพื่อเรียนหนังสือ แต่ต้องอยู่ในสังคม ต้องมีพฤติกรรมที่ดี มีจริยธรรมที่ดี ควบคุมอารมณ์ได้ดี มีสุขภาพจิตดี