ชู 'มข.โมเดล' ปฎิรูปการสอน 20 จังหวัดอีสาน
รมว.ศึกษาธิการ ชู "ม.ขอนแก่น" เป็นต้นแบบพัฒนาสมรรถนะนักเรียนด้วยนวัตกรรม KKU Smart Learning ยกระดับการศึกษานักเรียน และครูทั้งภาคอีสาน
นางกุลธิดา ท้วมสุข คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ หัวหน้าโครงการ KKU Smart Learning มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) และนายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เกี่ยวกับความร่วมมือการพัฒนาการศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ มข. ว่า มข.ได้การดำเนินโครงการพัฒนาสมรรถนะนักเรียนระดับมัธยมศึกษาด้วยนวัตกรรม KKU Smart Learning เพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถของนักเรียนใน 3 กลุ่มสาระวิชา ได้แก่ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ สนับสนุนให้ครูใช้นวัตกรรมเพื่อจัดการเรียนรู้ และพัฒนาความรู้ความเข้าใจในแนวคิดและวิธีการในการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษใหม่
โดยระยะแรกมีเป้าหมายการดำเนินงานกับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในเขตจังหวัดขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ มีครูเข้าร่วมโครงการ 270 คน และนักเรียน 6,000 คนใน 45 โรงเรียน ปัจจุบันปีการศึกษา 2561ขยายโครงการครอบคลุม 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ 195 โรงเรียน นักเรียน 31,200 คนคาดว่าจะสามารถดำเนินการตามเป้าหมายโครงการในระยะเวลา 3 ปี จะมีครูเข้าร่วมโครงการ 4,050 คน นักเรียนกว่า 81,000 คน
“โครงการดังกล่าวได้ผลจริง มีผลวิจัยยืนยันชัดเจนว่านวัตกรรมการเรียนการสอนดังกล่าว สามารถช่วยให้เด็กไทยเกิดการเรียนรู้อย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับประเทศไทย 4.0 รมว.ศึกษาธิการจึงอยากจะให้ มข.ขยายผลไปที่วิชาภาษาไทยอีกหนึ่งวิชาและเพิ่มเป้าหมายไปที่โรงเรียนขยายโอกาสในสังกัด สพฐ.อีกทั่วภาคอีสาน โดยให้ดำเนินการเร็วที่สุด ” นางกุลธิดา กล่าว
ทั้งนี้ มข.ได้ดำเนินโครงการพัฒนาสมรรถนะนักเรียนระดับมัธยมศึกษาด้วยนวัตกรรม KKU Smart Learning เพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถของนักเรียนใน 3 กลุ่มสาระวิชาได้แก่ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ สนับสนุนให้ครูใช้นวัตกรรม เพื่อจัดการเรียนรู้ และพัฒนาความรู้ความเข้าใจในแนวคิดและวิธีการในการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษใหม่
โครงการ KKU Smart Learning ดำเนินงานตั้งแต่ปี 2560 เพื่อ ถ่ายทอดนวัตกรรมการเรียนการสอนที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนาของอาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น สู่การนำไปใช้จริงในพื้นที่และเกิดผลต่อการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงการศึกษาระดับมัธยมศึกษา เพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถของนักเรียนในสาระวิชาวิทยาศาสตร์ วิชาคณิตศาสตร์และวิชาภาษาอังกฤษ และส่งเสริมทักษะนวัตกรรมและการเรียนรู้ ทักษะด้านสื่อ สารสนเทศและเทคโนโลยี
รวมทั้งทักษะด้านชีวิตและอาชีพของนักเรียนด้วยนวัตกรรม ใช้เทคโนโลยีในการส่งเสริมการเรียนรู้ในแต่ละรายวิชา และเพื่อพัฒนารูปแบบการทำงานร่วมกันระหว่างอาจารย์ นักวิจัยในระดับมหาวิทยาลัย กับศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารและครูที่ทำหน้าที่ในการจัดการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาศักยภาพนักเรียน
หัวหน้า โครงการ KKU Smart Learning อธิบายว่า ชุดกิจกรรมการเรียนรู้จะบูรณาการเนื้อหาที่ทันสมัย กระบวนการเรียนรู้และแนวทางการประยุกต์จำนวน 6 ชุด ต่อรายวิชา รวม 48 ชุด คู่มือการจัดการเรียนการรู้สำหรับครู 6 เล่มต่อรายวิชา รวม 18 เล่มสื่อและเทคโนโลยีที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ สอดคล้องกับวิธีการจัดการเรียนรู้ในแต่ละเนื้อหา 290 เรื่อง
ทั้งนี้ มีการวิเคราะห์กระบวนการเรียนรู้และประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียนส่งเสริมการนำนวัตกรรมฯ ไปใช้ในชั้นเรียน กำกับติดตามและให้คำปรึกษา โดยความร่วมมือระหว่างคณาจารย์และนักวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่น กับศึกษานิเทศก์ประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียนที่เรียนด้วยนวัตกรรม KKU Smart Learning ด้วยการทดสอบด้วย PISA Like Testจัดให้มีการนำเสนอ Showcase การจัดการเรียนรู้ของครูที่เข้าร่วมโครงการ
โครงการนี้มุ่งเน้นให้ผลประเมินการสอบ PISA (Programme for International Student Assessment) ของนักเรียนในโครงการ ร้อยละ 50 มีผลการทดสอบสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานระดับ 2 (Poor Performers) รวมทั้งมาตรฐานการเรียนรู้ (Learning outcomes standards) วิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ โดยการสังเคราะห์จากเกณฑ์และตัวชี้วัดของ PISA และกรอบทักษะการเรียน รู้ในศตวรรษที่ 21 สูงขึ้น