กรมสุขภาพจิต พัฒนา 'สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ยุค 4.0'
กรมสุขภาพจิต เตรียมเพิ่มบริการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น ในกทม. พร้อมพัฒนาระบบบริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ให้ทันสมัย เพียงพอ
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ว่า จากการตรวจเยี่ยมสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กทม. เพื่อติดตามความก้าวหน้าและแก้ไขปัญหาอุปสรรคเพื่อพัฒนาระบบบริการ ซึ่งสถาบันฯแห่งนี้ทำหน้าที่ทางวิชาการเชี่ยวชาญเฉพาะทางในโรคของเด็กและวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 18 ปีที่อยู่ในพื้นที่กทม.และพื้นที่ภาคกลาง ให้การดูแลรักษาและฟื้นฟูเด็กและวัยรุ่นที่มีปัญหาสุขภาพจิต รวมทั้งมีพฤติกรรมและอารมณ์ในระดับรุนแรง ยุ่งยาก ซับซ้อนอย่างครบวงจรและเป็นมิตรเหมือนคนในครอบครัว ซึ่งโรคที่พบมาก 4 โรคหลัก ได้แก่ สมาธิสั้น ออทิสติก ซึมเศร้า สติปัญญาบกพร่อง โดยปรับลดขั้นตอนบริการรวดเร็วขึ้น มีจิตแพทย์เชี่ยวชาญตรวจรักษาและมีศูนย์ฟื้นฟูต่างๆโดยทีมสหวิชาชีพที่ครบวงจรตามสภาพปัญหาการป่วยของเด็ก เพื่อปรับลดพฤติกรรมที่เป็นปัญหาและเพิ่มทักษะที่จำเป็นในการอยู่ในสังคมและโรงเรียนเช่นเดียวกับต่างประเทศ เพื่อให้เด็กและครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดี ผลการให้บริการบำบัดรักษารอบ 10 เดือนในปี 2561นี้ อยู่ในเกณฑ์น่าพอใจ เด็กป่วยโรคซึมเศร้ามีอาการดีขึ้นร้อยละ 70 เด็กป่วยออทิสติกมีพัฒนาการดีขึ้นร้อยละ 89 สามารถไปโรงเรียนได้ เด็กติดเกม /ติดอินเตอร์เน็ต อาการดีขึ้นร้อยละ 94 เด็กที่สมาธิสั้นสามารถควบคุมพฤติกรรมซุกซน นิ่งขึ้น
อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวต่อว่า ประเด็นเร่งด่วนที่ต้องเร่งพัฒนาตอบสนองปัญหาและความต้องการของประชาชนทั่วประเทศคือบริการสายด่วน สุขภาพจิต 1323 ตลอด24 ชั่วโมง ซึ่งสถานที่บริการอยู่ที่สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นฯ การให้บริการในปัจจุบันมี 2 รูปแบบ คือระบบโทรศัพท์มี 12 คู่สาย และบริการทางเฟซบุ๊ก 1323 เจ้าหน้าที่ทั้งหมดซึ่งเป็นนักจิตวิทยายังไม่เพียงพอ สถิติผู้ใช้บริการในปี 2561 มีสายโทรเข้าจำนวนมาก 7 แสนกว่าสาย เพิ่มขึ้นจากช่วง 3 ปีที่ผ่านมา 3 เท่าตัว แต่สามารถให้บริการได้ 5 หมื่นกว่าสาย ส่วนบริการทางเฟซบุ๊ก ยอดใช้บริการประมาณ 10,000 คน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 2 เท่าตัว ได้เร่งดำเนินการแก้ไขโดยจะเพิ่มคู่สายเป็น 15 คู่สาย เพิ่มจำนวนและศักยภาพนักจิตวิทยาระดับมืออาชีพให้บริการปรึกษา และเพิ่มบริการปรึกษาอัตโนมัติด้วยเอไอ (AI) อีก 1 ช่องทางคือแช๊ตบ็อต (Chat bot) ซึ่งจะมีโปรแกรมประเมินตอบคำถามเบื้องต้นอัตโนมัติและรับบริการปรึกษาจากนักจิตวิทยาตัวต่อตัว มีระบบรักษาความปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์ ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปลายปีนี้
อย่างไรก็ดี ขณะนี้สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นฯ ยังให้บริการได้เฉพาะผู้ป่วยนอก แผนพัฒนาปีต่อไปได้มอบนโยบายให้นำเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้เพิ่มคุณภาพ ประสิทธิภาพการดูแลรักษา เตรียมเพิ่มการรักษาแบบผู้ป่วยในโดยใช้พื้นที่ของโรงพยาบาลศรีธัญญา เพื่อทำให้ระบบบริการเต็มรูปแบบสอดคล้องกับยุค4.0 สามารถใช้เป็นแหล่งศึกษาวิจัยปัญหาในกลุ่มเด็กและวัยรุ่น เพื่อพัฒนาทางนโยบายในระดับชาติ และเป็นแหล่งฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรด้านเด็กและวัยรุ่นโดยเฉพาะต่อไป อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว
ทางด้านแพทย์หญิงรัชนี ฉลองเกื้อกูล ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า แช็ตบ็อตนี้ จะใช้โปรแกรมตอบอัตโนมัติ ซึ่งได้รวบรวมปัญหายอดฮิตที่สอบถามกันมาก 6 เรื่อง ได้แก่ เครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า การพนัน การกินยาทางจิตเวชและเรื่องทั่วๆไป โดยแช็ตทางระบบไลน์ผ่านแอพพลิเคชั่น สมาร์ทีน สมาร์ท สตาร์ทอัพ 1323 (smart teen smart start up 1323) มั่นใจว่าจะเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนที่มีปัญหาเข้าถึงบริการได้มากขึ้น ขณะเดียวกันในปีนี้สถาบันฯได้ทำวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้เทคโนโลยีดูแลรักษาเด็กและวัยรุ่นที่เจ็บป่วย 4 เรื่อง ได้แก่ 1.การพัฒนาโปรแกรมป้องกันการรังแกกันในโรงเรียน ทำให้โรงเรียนปลอดการรังแก 2.การเสริมสร้างศักยภาพและส่งเสริมสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นยุคใหม่ ทั้งด้านพฤติกรรมที่เหมาะสมกับบริบทไทย การประเมินโรคซึมเศร้า 3.การพัฒนาระบบบริการเด็กและวัยรุ่นกลุ่มเปราะบาง เช่นเร่ร่อน ต่างด้าว เด็กพิการ เด็กที่อยู่นอกระบบโรงเรียน และ 4.การพัฒนารูปแบบการดูแลเด็กโรคสมาธิสั้นร่วมกันระหว่างผู้ปกครอง ครู และบุคลากรทางการแพทย์ จะทราบผลภายในปีนี้ทั้งหมด