อาชีวะผลิตนวัตกรรมอาหารไทย 4.0 สู่อุตสาหกรรม
สอศ.จัดประกวดสุดยอดนวัตกรรมอาชีวศึกษา “อาหารไทย 4.0” โชว์อัตลักษณ์ของคนไทยที่สร้างชื่อเสียงไปทั่วโลก 1 ใน 5 ของอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป สอศ. ระดับประเทศประจำปี'61
เมื่อวันที่ 7 ก.ย.61 พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมช.ศธ.) เปิดเผยว่า การจัดการประกวดสุดยอดนวัตกรรมอาชีวศึกษา “อาหารไทย 4.0” เป็นโครงการ สำคัญที่ช่วยกระตุ้น ให้เยาวชนเกิดแรงบันดาลใจ ในการพัฒนานวัตกรรมด้านอาหาร ให้สามารถใช้งานได้จริง ทั้งในภาคอุตสาหกรรม และพาณิชยกรรม ส่งเสริมนักศึกษารุ่นใหม่ ให้หันมาสนใจศาสตร์นี้เพิ่มมากยิ่งขึ้น และเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ได้ใช้ความคิดอย่างสร้างสรรค์ เป็นระบบ สร้างความสามัคคี จึงถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ที่จะต้องให้การสนับสนุนการประดิษฐ์ คิดค้น และพัฒนาเทคโนโลยี ด้านนวัตกรรมอาหารอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์อาหารไทย ที่มีอัตลักษณ์เฉพาะ และเป็นที่ชื่นชอบของชาวต่างชาติ ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหาร ที่จะสร้างรายได้ให้กับคนไทย
รมช.ศธ.กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้นักเรียน นักศึกษา อาชีวศึกษา ได้ไปศึกษาเพิ่มเติม ไม่หยุดนิ่ง และกลับไปพัฒนาผลงานใหม่ ๆ ให้มีประสิทธิภาพที่สุด สร้างผลงานดี ๆ ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ต้องอาศัยความร่วมมือทั้งภาครัฐ และสถานประกอบการไม่เฉพาะพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EEC ให้การสนับสนุนและขับเคลื่อนนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์อาชีวศึกษา ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ของประเทศไทย เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประเทศชาติและประชาชนอย่างยั่งยืน
ด้าน ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า การประกวดสุดยอดนวัตกรรมอาชีวศึกษา อาหารไทย 4.0 แบ่งเป็น 2 กิจกรรมได้แก่ 1. การจัดการประกวดสุดยอดนวัตกรรมอาชีวศึกษา “อาหารไทย 4.0” ใน 3 ประเภทประกอบด้วย ประเภทนวัตกรรมอาหารแปรรูป(Processed Food Products Innovation) โดยมีผลงานเข้าร่วมการประกวดฯ จำนวน 50 ผลงาน ประเภทเครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์การแปรรูปอาหาร (Equipment for Food Processing Innovation) ) โดยมีผลงานเข้าร่วมการประกวดฯ จำนวน 36 ผลงาน และประเภทนวัตกรรมอาหารถิ่น EEC (EEC Local Food Innovation)จัดการประกวดเฉพาะสถานศึกษาในพื้นที่ EEC ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ฉะเชิงเทรา และจังหวัดระยอง ส่งทีมเข้าร่วมการประกวด จำนวนทั้งสิ้น 6 ทีม และ 2. กิจกรรมการดำเนินการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารตลอดจนเปิดโอกาสการจับคู่ธุรกิจ ระหว่างสถานศึกษาและสถานประกอบการด้านอาหาร โดยในภาพรวมผลจากการดำเนินการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารของนักเรียนนักศึกษา มีสถานประกอบการให้ความสนใจจะนำไปพัฒนาต่อยอดและร่วมมือทางธุรกิจจำนวน 21 ราย และมูลค่าการซื้อขายภายในงาน จำนวน 174,761 บาท