สทนช.เร่ง 2 โครงการช่วยชาวชัยภูมิ สนองพระราชดำริ
สทนช.เร่ง 2 โครงการช่วยชาวชัยภูมิ สนองพระราชดำริแก้“ท่วม-แล้ง”เบ็ดเสร็จ
“ฝนตก น้ำท่วมอีกแล้ว ทำไมแก้ปัญหาน้ำท่วมไม่ได้สักที ทำท่อใหญ่แล้วก็ยังท่วม ท่วมแล้วท่วมอีก เป็นอย่างนี้ทุกปี! นี่แค่เพียงเริ่มฤดูฝน น้ำก็มาแล้ว” ข้อความในเฟซบุ๊กของหลายๆ คนในตัวเมืองชัยภูมิที่เทศบาลเมืองชัยภูมิรวบรวมแล้วนำมาโพสต์ขึ้นเฟซบุ๊กของสำนักงาน กล่าวสำหรับทำเลที่ตั้งของเมืองชัยภูมินั้น ถือเป็นจุดรับน้ำจากลำน้ำรอบทิศทาง ก่อนไหลลงสู่ลำน้ำชี ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2561 สถานการณ์พายุฝนที่ตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำป่าไหลบ่ามาจากเทือกเขา ลงสู่อ่างเก็บน้ำลำคันฉู ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ในเขต อ.บำเหน็จณรงค์ ทำให้น้ำล้นสันอ่างกว่า 50 เซนติเมตร ไหลลงสู่พื้นที่ท้ายอ่าง ทะลักเข้าท่วมพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้าน และบ้านเรือนของราษฎรที่อยู่ตามพื้นที่ต่ำเสียหายย่อยยับ
ด้วยเหตุนี้รัฐบาลที่ผ่านมาทุกยุคทุกสมัยได้พยายามแก้ปัญหาดังกล่าว แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขได้ เนื่องจากติดปัญหาขาดการบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นไปในลักษณะต่างคนต่างทำ กระทั่งรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ตามคำสั่ง คสช. เพื่อทำหน้าที่บูรณาการด้านน้ำโดยเฉพาะ มีชื่อว่า “สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ" (สทนช.) และได้มีการพิจารณาแก้ปัญหาภายใต้โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองชัยภูมิ (ระยะที่ 1) ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(กนช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 14 กันยายน ที่ผ่านมา
“ปัญหาหลักน้ำท่วมเมืองชัยภูมิมาจากปริมาณน้ำล้นมาจากอ่างฯ ลำปะทาว ที่อยู่ทางด้านเหนือไหลลงมาสู่ตัวเมืองชัยภูมิ ขณะการระบายทำได้ช้า เนื่องจากไม่มีแหล่งรับน้ำที่เพียงพอ มีแค่หนองน้ำ 2-3 แห่งช่วยผ่องถ่ายก่อนลงลำน้ำชี วิธีการแก้จะมีการสร้างประตูระบายน้ำ 2 แห่ง และทำท่อขนาดใหญ่ผันน้ำออกนอกเมือง ส่วนในตัวเมืองทางโยธาจังหวัดร่วมกับเทศบาลเมืองดำเนินการในจุดนี้” พงษ์ศักดิ์ ณ ศร ชลประทานจังหวัดชัยภูมิเผยถึงปัญหาและวิธีการแก้ไขอุทกภัยเมืองชัยภูมิ โดยจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในปีงบประมาณ 2562 เป็นต้นไป คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566 ตามที่รัฐบาลไว้วางไว้
ส่วนภัยแล้งก็เป็นอีกปัญหาสำคัญของ จ.ชัยภูมิ โดยเฉพาะพื้นที่ อ.หนองบัวแดง เนื่องจากยังไม่มีแหล่งน้ำหรืออ่างเก็บน้ำเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งแต่อย่างใด จึงทำให้รัฐบาลโดยสทนช.ได้เร่งรื้อฟื้นโครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เคยมีพระราชดำริไว้เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2526 ได้พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้อธิบดีกรมชลประทานพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ กรมราชองครักษ์ สวนจิตรลดา พระราชทานกระแสพระราชดำริเกี่ยวกับงานชลประทานและการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำสะพุง ที่บริเวณต้นน้ำลำน้ำชีและลำน้ำสาขา เพื่อจัดหาน้ำให้ราษฎร ดังความตอนหนึ่งว่า
“...ควรพิจารณาวางโครงการและก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำสะพุงที่บริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าสะพุงเหนือ อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ ให้มีความจุตามความเหมาะสม เพื่อผันน้ำลงอ่างเก็บน้ำห้วยหว้า อ.หนองบัวแดง และส่งน้ำให้แก่พื้นที่เพาะปลูกด้านท้ายอ่างเก็บน้ำลำสะพุง และเหนืออ่างเก็บน้ำห้วยหว้า ให้มีน้ำใช้เพื่อการเกษตรอย่างเพียงพอตลอดทั้งปี”
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสทนช. ในฐานะกรรมการและเลขานุการ กนช. กล่าวภายหลังการประชุมกนช.ครั้ง 3/2561 เมื่อวันที่ 14 กันยายน ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยได้พิจารณาถึงการดำเนินโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ มูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งอย่างเป็นระบบ (Area Based) ในปี 2562 ที่พร้อมดำเนินการมีทั้งสิ้น 11 โครงการ รวมวงเงินทั้งสิ้นประมาณ 73,679 ล้านบาท โดย 4 โครงการได้ผ่านการพิจารณาของกนช.แล้ว คือ โครงการประตูระบายน้ำศรีสองรัก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เลย โครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง จ.หนองคาย โครงการอ่างเก็บน้ำลำน้ำชี จ.ชัยภูมิ และโครงการบรรเทาอุทกภัย เมืองชัยภูมิ (ระยะที่ 1) คงเหลือที่จะเสนอเพิ่มเติมอีก 7 โครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและมีความพร้อมที่จะดำเนินการ คือ โครงการอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองแสนแสบ โครงการอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองทวีวัฒนา โครงการประตูระบายลำน้ำพุง-น้ำก่ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการประตูระบายน้ำบ้านก่อ พร้อมระบบส่งน้ำ จ.สกลนคร โครงการคลองระบายน้ำหลาก บางบาล-บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา และโครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ชัยภูมิ
นอกจากนั้น ในด้านของการขับเคลื่อนแผนงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านพัฒนาแหล่งน้ำ สทนช.ได้จัดลำดับความสำคัญในการพิจารณาแผนงาน งบประมาณโครงการพระราชดำริที่มีความพร้อม ไม่ติดปัญหาอุปสรรคใด เป็นลำดับแรก ซึ่งสามารถจัดกลุ่มแนวทางการขับเคลื่อนโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการและยังไม่ได้ดำเนินการ ได้แก่ 1.โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จำนวน 78 โครงการ 2.โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 จำนวน 22 โครงการ และ 3.โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จำนวน 62 โครงการ ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้ สำนักงาน กปร. ร่วมกับ สทนช. สรุปความก้าวหน้าในการจัดทำแผนการพัฒนาโครงการพระราชดำริทั้งหมดเพื่อให้สามารถดำเนินโครงการได้อย่างต่อเนื่องต่อไปด้วย
“เป้าหมายหลักโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำสะพุงต้องการแก้ปัญหาภัยแล้ง เพราะในพื้นที่ อ.หนองบัวแดง ยังไม่มีแหล่งน้ำต้นทุนที่สามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งเลย อย่าว่าแต่น้ำเพื่อการเกษตร น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคก็ยังไม่มีเลย ถึงหน้าแล้งทุกปีน้ำประปาจะขุ่นมาก ถ้ามีอ่างฯ ลำสะพุงจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ อ.หนองบัวแดง ในช่วงหน้าแล้งได้และยังช่วยตัดยอดน้ำลงลำน้ำชีในช่วงฤดูฝนอีกด้วย” เลขาธิการสทนช.เผยและยอมรับว่าโครงการไม่คืบในช่วงที่ผ่าน เพราะปัญหาพื้นที่อนุรักษ์บางส่วน ซึ่งขณะนี้ได้มีการหารือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจนได้ข้อยุติแล้วและจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(กนช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานต่อไป
กว่าจะมาเป็นอ่างฯลำสะพุง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ราษฎรในบริเวณที่ราบเชิงเขาภูเขียว ส่วนใหญ่มีอาชีพทำการเกษตรโดยอาศัยน้ำฝนและมีชุมชนตั้งกระจายอยู่ทั่วไป ชุมชนที่มีขนาดใหญ่ คือ อ.หนองบัวแดง น้ำที่ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคได้จากน้ำฝน ลำห้วยต่างๆ และบ่อน้ำตื้น ความต้องการน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภคและการเกษตรจะมีมาก โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง จะมีปัญหาการขาดแคลนน้ำเป็นประจำทุกๆ ปี ซึ่งแนวทางการจัดหาน้ำของราษฎรในพื้นที่ได้กระทำหลายรูปแบบ เช่น การขุดลอกหนองน้ำ ขุดสระเก็บน้ำ ตลอดจนการสร้างฝายทดน้ำในลำสะพุง ที่ดำเนินการโดยประชาชนใช้ไม่ได้ผล เนื่องจากไม่แข็งแรงเพียงพอ ราษฎรชาว อ.หนองบัวแดงจึงได้มีการชุมนุม เรียกร้อง ยื่นหนังสือต่อรัฐบาล และทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา เพื่อให้มีการสนับสนุนเร่งรัดให้ดำเนินการก่อสร้าง โครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุงฯ
กรมชลประทานได้สนองพระราชดำริโดยได้ศึกษาจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้วเสร็จเมื่อปี 2538 และพบว่าบริเวณก่อสร้างโครงการมีพื้นที่บางส่วนอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว ซึ่งคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ ได้มีมติในคราวประชุมครั้งที่ 1/2542 เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2542 ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำสะพุง ดังนั้นเพื่อเป็นการลดผลกระทบการใช้พื้นที่ป่ากรมชลประทานจึงได้พิจารณาตำแหน่งที่ตั้งใหม่ ร่วมกับผู้นำท้องถิ่นและราษฎรในพื้นที่ ซึ่งได้เสนอพื้นที่บริเวณลำสะพุงตอนล่าง โดยกรมชลประทานได้เริ่มดำเนินการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นและวางโครงการเมื่อเดือนสิงหาคม 2561 โดยที่ตั้งหัวงานอยู่บริเวณบ้านนาเจริญ ต.หนองแวง อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ
ลักษณะโครงการเป็นเขื่อนกักเก็บน้ำ ความยาว 1,200 เมตร ความสูง 29 เมตร ระดับเก็บกัก +260 เมตร (รทก.) ระดับสันเขื่อน +264 เมตร (รทก.) ความจุ 32.8 ล้านลูกบาศก์เมตร ความยาว 660 เมตร และมี Emergency Spillway บริเวณ กม. 0+380 ของ Saddle มีสถานีสูบน้ำ 1 แห่ง งบประมาณโครงการอยู่ระหว่างศึกษาวางโครงการ ระยะเวลาดำเนินการก่อสร้าง 6 ปี (ปี 2562–2566) มีพื้นที่รับประโยชน์ 24,000 ไร่ เป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของราษฎรในพื้นที่ และเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสนับสนุนน้ำเพื่อการประปา อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ