แค่ไหนดี...เดซิเบลความสุข

แค่ไหนดี...เดซิเบลความสุข

ปรับทัศนคติเกี่ยวกับเทศกาล ให้ความสุขของคนกลุ่มหนึ่งไม่เป็นความทุกข์ของคนอีกกลุ่มหนึ่ง

เมื่อเอ่ยถึงการสังสรรค์และความรื่นเริง คือเรื่องที่พูดได้เต็มปากว่า “คนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก” นับได้จากวันหยุดเทศกาลยิบย่อยไปจนถึงยิ่งใหญ่ การจัดงานเลี้ยงฉลองมากมายตั้งแต่ระดับวงเหล้าหน้าบ้านยันงานเทศกาลแสงเสียงจัดเต็ม แต่สิ่งที่ตามมานอกเหนือจากความบันเทิงและความสนุกสนาน ยังมีความน่ารำคาญจาก ‘มลภาวะทางเสียง’ ที่เกินพอดี

เสียงคนเล่นเสียง

ในระดับชุมชนการตั้งวงเหล้ากับเสียงโหวกเหวกโวยวายแม้กระทั่งเสียงดนตรีหรือร้องคาราโอเกะคือบรรยากาศของเทศกาลที่หลายคนคุ้นเคย บางคนชื่นชอบ บางคนชินชา บางคนรำคาญ อาจารย์สิทธิเดชแนะนำว่ามลภาวะทางเสียงเช่นนี้เข้าข่ายเสียงรบกวนแบบฉุกเฉินเกิดขึ้นเฉียบพลัน ประชาชนที่ประสบปัญหาควรแจ้งไปยัง 191 หรือสถานีตำรวจใกล้บ้าน เพื่อให้เจ้าหน้าที่มาระงับเหตุได้ในทันที

แต่สำหรับในระดับที่ใหญ่กว่า เช่น คอนเสิร์ต งานวัด ฯลฯ มีเวทีการแสดงเป็นกิจจะลักษณะ มีเครื่องเสียงมาตรฐาน ปัจจุบันทางผู้จัดงานทำนองนี้ได้ให้ข้อมูลว่าพยายามแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้แก่คนที่ ‘ไม่อิน’ แต่อยู่ในรัศมีของเสียง

โจ ยมนิล หัวหน้าวงหมอลำสาวน้อยเพชรบ้านแพง 1 ใน 5 วงหมอลำชื่อดังที่สุดของยุคนี้ เล่าว่าพ่อแม่ตั้งวงนี้มาตั้งแต่ พ.ศ.2526 จนมาเปลี่ยนมือเป็นคนรุ่นใหม่อย่างเขาราว 4 ปีผ่านมา ได้เห็นการเปลี่ยนผ่านจากสมัยที่คนเคยปูเสื่อนั่งชมหมอลำ มาจนถึงยุคคนยืนเต้นอย่าง ‘มักม่วน’ คนให้ความบันเทิงอย่างคณะหมอลำก็ต้องปรับตัว เพิ่มความสนุกสนาน เพิ่มระดับความดัง เอาใจคนดูรุ่นใหม่

“หมอลำมีการแข่งขันกัน มีการพัฒนา แต่ก่อนนี้ระบบเบสข้างละ 8 ตู้ มาเป็น 12 ตู้ 16 ตู้ แต่เดี๋ยวนี้ต้องข้างละ 24 ตู้ ทั้งหมดรวมเป็น 48 ตู้ เรียกว่าเป็นการพัฒนามาอัตโนมัติ เพื่อให้ถูกใจคนดู หมอลำใหญ่ๆ ที่ติดท็อปเท็นวงอื่นๆ ก็เป็นแบบนี้”

ยิ่งความเป็นวงหมอลำแบบลำเพลินซึ่งมีความสนุกสนานเป็นตัวชูโรง ดนตรีต้องถึง หมอลำต้องแสดงสนุก เพื่อสร้างความบันเทิงให้คนดูที่หลายคนอาจเคยเห็นภาพคนเต้นกันมันสุดเหวี่ยง เสียงเครื่องดนตรีจึงต้องถูกเค้นออกมาให้สุด

การยกระดับเครื่องเสียงให้อลังการแบบนี้นอกจากเบสหนักๆ เสียงดนตรีกระหึ่ม อีกด้านย่อมมีคนสงสัยว่าจะกระทบกระเทือนคนที่ไม่พร้อมจะสนุกด้วยหรือเปล่า โจอธิบายว่าสำหรับวงของเขายังไม่เคยประสบกรณีพิพาทระหว่างคนในชุมชนละแวกที่จัดงาน เพราะปรับตัวตามความเหมาะสมของสถานที่ได้

“ส่วนมากวงเราแสดงในพื้นที่ภาคอีสาน คนอีสานย่อมรู้ธรรมเนียมของตัวเองดีอยู่แล้ว ถ้ามีหมอลำเขาจะมาผ่อนคลาย ดูเพื่อความบันเทิง แต่ถ้าเล่นในเมืองหรือในกรุงเทพฯ ก็อาจจะมีคนมาขอให้ช่วยลดเสียงลงหน่อย ก็เคลียร์กันได้ครับ โดยส่วนมากเจ้าหน้าที่ในพื้นที่จะให้เราจำกัดเสียงอยู่แล้ว ถ้าเสียงดังเกินไปเราก็ลดลงให้ดังไม่เกินอาณาเขตจัดงาน เพราะคนสนุกอยู่แค่บริเวณนั้น เราลดเสียงกลางลง เสียงกลางก็จากลำโพงตู้ห้อย จากที่เสียงดังแบบกระแทกก็ให้ดังแค่พื้นที่จำกัด”

ปรับตัวไปปรับตัวมา หัวหน้าวงคนนี้บอกว่ากลายเป็นมาตรฐานของวงไปแล้วว่าเล่นที่ไหน ปรับเสียงเท่าไร แม้แต่แฟนคลับที่ตามไปดูหน้าเวทีก็ยังรู้ว่าระดับเสียงเท่าไหนเหมาะสมกับงานแบบใด โดยยังม่วนซื่นคือเก่า

“เล่นตามบ้านนอกก็แบบหนึ่ง เล่นในเมืองก็แบบหนึ่ง อาจเปิดแค่ 40 เปอร์เซ็นต์ แฟนคลับก็เข้าใจว่าเราเล่นได้เท่านี้”

เสียงคนทำเสียง

เมื่อเทียบกับอดีตที่เทคโนโลยีและเครื่องมือยังไม่ทันสมัย โจบอกว่าเดี๋ยวนี้ดีกว่าเมื่อก่อนมาก จนเขามองว่าแทบจะไม่เป็นปัญหาสำหรับวงของเขา ยิ่งปัจจุบันวงดนตรีไม่ว่าวงหมอลำ ลูกทุ่ง หรือวงอื่นๆ มี Sound Engineer ควบคุมเชิงเทคนิคก็ยิ่งแก้ไขง่าย

ด้าน นฤชิต เฮงวัฒนอาภา อาจารย์พิเศษ คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร และเป็น Sound Engineer อิสระ เล่าในฐานะเคยผ่านการควบคุมเสียงคอนเสิร์ตมากมายทั้งเล็กทั้งใหญ่ว่าหากเป็นต่างประเทศจะมีเจ้าหน้าที่มาวัดระดับความดังในพื้นที่จัดการแสดงเลยทีเดียว สำหรับเทศกาลดนตรีต่างๆ ในบ้านเราก็มีกฎหมายควบคุม แต่จะด้วยเหตุผลสีเทาหรืออะไรก็ตามจึงทำให้อาจมีหลายงาน ‘เกินมาตรฐาน’

“อันที่จริงมนุษย์ทนความดังได้ระดับหนึ่งเท่านั้นแหละ ต่อให้ทำมาดังมากๆ ดังเกินไปจริงๆ คนก็อยู่ไม่ได้ อันที่จริงมีค่ามาตรฐานเป็นตัวเลขนะคือมาตรฐานความดัง ตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 15 (2540) กำหนดไว้ไม่เกิน 115 เดซิเบล หน่วยการวัดเรียกว่า SPL ย่อมาจาก Sound Pressure Level เป็นหน่วยวัดความดังทั่วไป ซึ่งมีทฤษฎีอยู่ว่ามนุษย์จะได้ยินความดังที่กี่เดซิเบล SPL นานเท่าไร ปกติที่เราคุยกันได้ยินจะอยู่ที่ 50-60 เดซิเบล ซึ่งฟังไปได้เรื่อยๆ แต่งานคอนเสิร์ตแบบฟูลสเกล แบบเฟสติวัล ส่วนมากอยู่ที่ 100-125 เดซิเบล พอเป็นหลักร้อยมนุษย์ฟังได้เต็มที่ 3-4 ชั่วโมงก็จะฟังอะไรไม่รู้เรื่องแล้ว ฉะนั้นเขาก็จะไม่ทำดังไปกว่านั้น เพราะลูกค้าคงหนีหมด”

ในเชิงเทคนิค นฤชิตอธิบายว่าระดับความดังของแต่ละงานมีบุคคลสำคัญอยู่สองคนคือ System Engineer กับ Sound Engineer ทำหน้าที่ประสานกันระหว่างคนวางแผนทุกอย่างให้เหมาะสมกับอีกคนที่รับหน้าที่ปรับให้กลมกล่อม ว่าง่ายๆ คือ System Engineer กำหนดมาตรฐานไว้ไม่ให้ดังเกินเท่าไรเพื่อไม่ให้ระบบเสียหาย แล้ว Sound Engineer นำมาปฏิบัติอยู่เหมาะสมกับงานและสถานการณ์ภายใต้กรอบที่วางไว้

หากไม่นับอดีตกาลที่ระบบเครื่องเสียงและความรู้ของคนทำงานด้านนี้ยังเป็นแบบครูพักลักจำ ปัจจุบันปัจจัยต่างๆ เอื้อให้การจัดการแสดงไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ก็ควบคุมให้เหมาะสมได้ค่อนข้างง่าย นฤชิตกล่าวถึงเรื่องมลภาวะทางเสียงโดยเน้นที่เรื่องดนตรีว่า

“คำว่า Noise Pollution เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ใช่แค่เรื่องคอนเสิร์ตหรือการแสดง มันคือทุกเรื่อง เช่น บ้านเป็นตึกแถวริมถนนแล้วมีเสียงรถยนต์ มีเด็กแว๊น เพียงแต่ว่าความเป็นเสียงดนตรีมันแปลกประหลาดอย่างหนึ่งตรงที่ ถ้าเราได้ยินมันชัดๆ เราจะไม่รู้สึกว่าเป็น noise แต่ถ้าได้ยินเป็นช่วงๆ บางๆ หรือฟังไม่ชัด ได้ยินแต่ปลายเสียงมา นั่นเป็น noise”

ยิ่งเป็นช่วงเทศกาลที่เสียงอาจมาได้จากหลายทิศทาง ใกล้จนหูแทบแตกบ้าง ไกลจนฟังไม่รู้เรื่องบ้าง นอกจากจะเตรียมใจรับกับเสียงที่จะเกิดขึ้นค่อนข้างแน่นอน หรือการหนีไปไกลๆ เพื่อหลบเสียงที่ไม่ต้องการได้ยินก็ไม่แน่ว่าอาจจะเป็นการหนีเสือปะจระเข้หรือเปล่า ยังมีช่องทางบรรเทาความเดือดร้อนคือประชาชนมีสิทธิแจ้งเจ้าหน้าที่ให้จัดการได้

เสียงคนฟังเสียง

สำหรับคนที่มีหัวใจรักสนุกคงไม่คิดอะไรมากมาย แต่กับหลายคนที่อยากมีช่วงเวลาพักผ่อนสบายๆ ปล่อยเวลาให้หมดไปอย่าง‘เงียบ’เรียบง่าย ทว่ายังต้องดำรงชีวิตอยู่ในชุมชนที่มีผู้คนหลากหลายไลฟ์สไตล์ หรืออาจอยู่ในย่านที่มักจะมีงานฉลองในระดับต่างๆ เช่น งานวัด, งานมหกรรมสินค้าราคาโรงงาน, งานประจำปี, คอนเสิร์ต, เทศกาลดนตรี ฯลฯ จนแทบจะไม่เคยมีโอกาสได้พักผ่อนจริงจัง โดยเฉพาะ ‘พักหู’ อันมีผลต่อการ ‘พักสมอง’ และ ‘พักใจ’

รศ.ดร.สิทธิเดช พงศ์กิจวรสิน หัวหน้าโครงการ ‘การศึกษาแนวทางการจัดการปัญหาข้อร้องทุกข์ของประชาชน : กรณีเหตุเดือดร้อนรำคาญด้านเสียงและความขาดแคลนทุนทรัพย์ในการศึกษา’ ฝ่ายสวัสดิภาพสาธารณะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่าจากสถิติในปี 2558 มีข้อร้องทุกข์ที่ไปยังศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาลจำนวนมากที่สุด ได้แก่ ข้อร้องทุกข์ด้านสังคมและสวัสดิการ โดยส่วนมากเป็นข้อร้องทุกข์เรื่องเหตุเดือดร้อนรำคาญ ซึ่งมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นทุกปี และสาเหตุหลักก็คือ เหตุเดือดร้อนรำคาญด้านเสียง คิดเป็นร้อยละ 32.98 หรือประมาณ 1 ใน 3 ของเหตุเดือดร้อนรำคาญทั้งหมด และพบมากที่สุดในทุกภูมิภาค

ทั้งที่มีข้อร้องเรียน มีข้อมูลว่าปัญหาดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี แล้วเหตุใดการจัดการปัญหากลับไม่ชัดเจนสักที สาเหตุหนึ่งที่อาจารย์สิทธิเดชบอกไว้คือหน่วยงานรับผิดชอบค่อนข้างซ้ำซ้อน มีตั้งแต่ องค์กรท้องถิ่น ตำรวจ กรมอนามัย กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนั้นการรับเรื่องร้องทุกข์และแก้ปัญหาจึงล่าช้า บวกกับประชาชนบางส่วนยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับการแจ้งเหตุเดือดร้อนรำคาญด้านเสียง

“ปัญหาเหตุเดือดร้อนรำคาญด้านเสียง มีทั้งการแจ้งเหตุที่เป็นการกลั่นแกล้งจำนวนมากโดยขาดการคัดกรองเบื้องต้นและการส่งต่อเอกสารใช้เวลานาน ทำให้เจ้าหน้าที่มีภาระมาก ปัญหาเสียงมีลักษณะหลากหลายและมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วย แต่ละหน่วยมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบแตกต่างกันไป เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบอาจจะไม่ได้ถูกฝึกหรือมีทักษะในด้านการระงับความขัดแย้งโดยตรง”

ในฐานะประชาชนจึงควรรู้กฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้บ้าง ซึ่งมีระบุอยู่ในพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 หมวด 5 ว่าด้วยเหตุรำคาญ มาตรา 25 (4) ระบุว่า ในกรณีที่มีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงหรือผู้ที่ต้องประสบกับเหตุนั้นดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นเหตุรําคาญ หากการกระทำใดๆ อันเป็นเหตุให้เกิดกลิ่น แสง รังสี เสียง ความร้อน สิ่งมีพิษ ความสั่นสะเทือน ฝุ่น ละออง เขม่า เถ้า หรือกรณีอื่นใด จนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ดังนั้น หากจะจัดคอนเสิร์ต หรือมหรสพใดๆ จะต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ประเภทกิจการการจัดให้มีการแสดงดนตรี ดิสโก้เทคฯ ต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น

นอกจากนี้ใน พ.ร.บ.ควบคุมการใช้เสียง และเครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493 มีเนื้อหาทำนองว่าผู้ที่จะจัดงานมหรสพรื่นเริงที่ใช้เสียงดังต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ใช้เสียงตาม พ.ร.บ.นี้ ต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นด้วย เพราะเข้าข่ายการโฆษณาใช้เสียงกิจการประเภทงานมหรสพต่างๆ ซึ่งในพ.ร.บ.ระบุว่าห้ามอนุญาตและห้ามใช้เสียงโฆษณาในระยะใกล้กว่า 100 เมตร จากบริเวณสถานที่ใดสถานที่หนึ่งดังต่อไปนี้ ได้แก่ โรงพยาบาล วัด หรือสถานที่บำเพ็ญศาสนกิจ และ ทางแยกที่มีการสัญจรไปมาคับคั่งอยู่เป็นปกติ

ดังนั้นหากผู้จัดงานไม่ขออนุญาตและไม่แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ในเขตรับผิดชอบย่อมมีความผิดทั้งทางอาญาและทางแพ่ง

อาจารย์สิทธิเดช แนะนำว่าหากร้องเรียนแล้วไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาในกรอบเวลาที่แต่ละหน่วยงานกำหนด ควรแจ้งเรื่องไปยังศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล 1111 หรือศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ติดตามและประสานการดำเนินงานต่อไป โดยศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาลควรเป็นเจ้าภาพหลักในการสร้างการรับรู้และความเข้าใจไปยังประชาชน

เพราะฉะนั้น เมื่อเทศกาลแห่งความสุขกำลังจะมาถึงในไม่กี่อึดใจ ลองทบทวนกันดีไหมว่าจะฉลองกันอย่างไรโดยไม่กระทบกระเทือนใจซึ่งกันและกัน มาเปลี่ยนความบันเทิงที่เคยเป็นความบรรลัยของใครบางคนให้เป็นเทศกาลแสนสดใสของทุกคนกันดีกว่า