เตือนวัยทำงาน เสี่ยงเป็นโรคกระเพาะอาหาร
โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ ห่วงสุขภาพของคนวัยทำงาน เสี่ยงเป็นโรคกระเพาะอาหารสาเหตุจากพฤติกรรมในการดำเนินชีวิต
นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์และโฆษกกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคแผลในกระเพาะอาหาร เป็นโรคที่พบได้บ่อย โดยสามารถพบได้ทุกวัย ปัจจุบันพบว่าสาเหตุหลักมี 2 สาเหตุ คือ จากการติดเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโรไล (Helicobacter pylori) และ การรับประทานยาแก้ปวดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) รวมถึงยาต้านเกร็ดเลือด เช่น แอสไพริน โดยผู้ป่วยอาจจะมีอาการที่แตกต่างกันตั้งแต่ ปวดท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำ รวมถึงภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กซึ่งเกิดจากการเสียเลือดจากแผลในกระเพาะอาหาร
นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันการวินิจฉัยภาวะแผลในกระเพาะอาหารคือการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น และยังสามารถตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโรไลได้อีกด้วย สำหรับแนวทางการรักษาคือการให้ยาลดกรด ร่วมกับการรักษาสาเหตุ ได้แก่การให้ยาปฏิชีวนะ หรือหยุดยาที่เป็นสาเหตุ เนื่องจากประเทศไทยมีอุบัติการณ์ของการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโรไลค่อนข้างสูง รวมทั้งยาแก้ปวดสามารถซื้อหาได้ทั่วไปและมีผู้ป่วยที่ต้องรับประทานยาต้านเกร็ดเลือดมากขึ้นเรื่อยๆ
ดังนั้นโรคแผลในกระเพาะอาหารจึงเป็นภาวะที่พบได้มากขึ้น หากผู้ป่วยท่านใดมีอาการดังกล่าวข้างต้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อแนะนำแนวทางการรักษาต่อไป การป้องกันคือ หมั่นล้างมือ เลือกอาหารที่ถูกสุขลักษณะ หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ของทอด อาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรดสูงหรือมีไขมันมาก การสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์