กำชับสพฐ.รัดกุมรับนร.ม.3 ขึ้นม.4 โรงเรียนเดิม
รมว.ศธ.ย้ำปรับเกณฑ์รับนักเรียน ตัดการรับนร.ที่อยู่ในอุปการะของผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับรร. เหมาะสม ชี้ถูกใช้ไปในทิศทางที่ผิด กำชับเลขาธิการ กพฐ.ส่วนนร.ม.3 ขึ้นม.4 รร.เดิม ระบุต้องรัดกุม ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้อำนวยการโรงเรียน
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้หารือร่วมกับนายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เกี่ยวกับประกาศหลักเกณฑ์การรับนักเรียน ประจำปีการศึกษา 2562 ในประเด็นต่างๆ เช่น การรับนักเรียนที่อยู่ในอุปการะของผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งข้อนี้ถือเป็นข้อที่ถูกใช้ไปในทิศทางที่ผิดกับวัตถุประสงค์มากที่สุด จึงจำเป็นต้องตัดทิ้ง
ทั้งนี้ ในส่วนของกรณีที่หลายฝ่ายมีความกังวลว่าเกณฑ์รับนักเรียนเกณฑ์ใหม่ โดยเฉพาะการที่จะให้นักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 สามารถศึกษาต่อในระดับชั้น ม.4 โรงเรียนเดิมทั้งหมด อาจส่งผลกระทบต่อการส่งเสริมให้เด็กเรียนสายอาชีพตามนโยบายรัฐบาลนั้น เรื่องนี้คิดว่าไม่ขัดกับนโยบาย เพราะเด็กที่ต้องการเรียนสายอาชีวศึกษาต้องมาจากความสมัครใจ ไม่ใช่ว่าตั้งสมมุติฐานว่าเด็กที่เรียนอ่อนจะต้องเรียนอาชีวะ คิดว่าไม่ถูกต้อง ส่วนการที่มองว่าให้เด็กผ่านขึ้นมา ม.4 เลยจะทำให้เด็กไม่ตั้งใจเรียนนั้น ได้กำชับเรื่องนี้กับเลขาธิการกพฐ. ว่า ขอให้การดำเนินการเรื่องนี้มีความรัดกุมมากขึ้นและต้องมีการกำหนดให้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้อำนวยการโรงเรียนด้วย ไม่ใช่ต้องให้อัตโนมัติทั้งหมด
“เรื่องนี้ต้องเข้าใจหลักกฎหมายก่อน เพราะทุกวันนี้เราไปลดสิทธิในการเรียนต่อของเด็ก โดยอ้างว่าเขาเรียนไม่เก่ง แต่การเรียนไม่เก่ง หรือเกรดเฉลี่ยต่ำมีหลายกรณี เช่น เด็กที่ต้องดูแลผู้ปกครองที่ป่วย แต่หากเป็นการเรียนไม่เก่งโดยที่เด็กไม่มีความตั้งใจที่จะเรียน ก็ไม่ควรที่จะให้ผ่านไปเรียนในระดับชั้น ม.4 แบบอัตโนมัติ ดังนั้นจึงต้องมีดุลยพินิจของผู้อำนวยการโรงเรียนเข้ามาคู่กันด้วย อย่างไรก็ตาม การลงนามในประกาศหลักเกณฑ์การรับนักเรียน ประจำปีการศึกษา 2562 นั้น เป็นอำนาจของ เลขาฯ กพฐ.ไม่ต้องผ่านผม” รมว.ศธ.กล่าว
ด้านนายเอกชัย กี่สุขพันธุ์ ประธาน กพฐ. กล่าวว่า การศึกษาที่เอาแต่เด็กที่เรียนเก่งเรียนต่อ มองว่าเป็นความคิดที่ผิดหลัก เพราะหากเด็กต้องออกจากระบบการศึกษาควรเป็นการออกในรูปแบบที่เด็กเรียนไม่ครบตามหน่วยกิต ไม่ใช่ให้ออก เพราะว่าเกรดเฉลี่ยต่ำ ทั้งนี้ หากเกิดกรณีที่โรงเรียนจำนวนห้องที่เปิดรับนักเรียนในระดับชั้น ม.4 เต็ม เนื่องจากเปิดโอกาสให้นักเรียนชั้น ม.3 ของโรงเรียนได้ศึกษาต่อ ตนคิดว่าเรื่องนี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการขยายห้อง เพราะปัจจุบันเด็กที่เข้าเรียนในระดับชั้น ม.1 จำนวนลดลง ก็ให้ไปขยายห้องเรียนในระดับชั้นม.4 แทน ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าการดำเนินการดังกล่าวไม่กระทบต่อนโยบายส่งเสริมการเรียนในสายอาชีวศึกษาแน่นอน