กมธ.วิสามัญมีมติสกอ.อยู่ภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงอุดมฯ
กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปรับปรุงฯ ก.อุดมฯ มีมติ ให้ สกอ.ไปอยู่ภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงอุดมฯ เตรียม ปรับปรุง ร่างพ.ร.บ.ฯ ให้สอดคล้อง ก่อนนำเข้าพิจารณา วาระที่ 2 และ 3 26 ก.พ.นี้
นายตวง อันทะไชย รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กล่าวว่า ตามที่เครือข่ายอุดมศึกษามีข้อห่วงใยในเรื่องโครงสร้างของกระทรวงอุดมฯ ที่กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาเดิม เป็นกรมอุดมศึกษานั้น ทาง กมธ. วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรมฯ จึงได้นำประเด็นดังกล่าวกลับมาทบทวนอีกครั้ง และมีมติปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงอุดมฯ ใหม่ ให้ สกอ.ไปอยู่ภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงอุดมฯ โดยในส่วนของร่างพ.ร.บ.ฯ นั้น กธม.จะปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับแนวทางนี้ ก่อนที่จะนำเข้าพิจารณา ในวาระที่ 2 และ 3 ในวันที่ 26 ก.พ. นี้
นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) สมาชิกสนช. กล่าวว่า สนช.ได้มีการหารือ และหยิบยกข้อทักท้วงของทปอ. มรภ.และมทร. ที่ไม่อยากให้สกอ. เป็นกรมการอุดมศึกษา และมีความเห็นส่วนใหญ่ตรงกันว่า ควรนำสกอ.ไปรวมกับสำนักงานปลัดวท. ซึ่งเดิมโครงสร้างนี้ได้รับความเห็นชอบจากทั้งอธิการบดี อดีตอธิการบดีที่เป็นสนช. ปลัดวท. รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ การประชุมกมธ. เมื่อวันที่ 10 ก.พ. ที่ผ่านมา กลุ่มที่เห็นด้วยบางคน ไม่ได้เข้าร่วมประชุม รวมถึงตนเองที่เดินทางไปต่างประเทศ ดังนั้น ร่างกฎหมายที่รวมสกอ.ไว้กับสำนักงานปลัดจึงตกไป และให้มีสถานเป็นกรมแทน ส่วนตัวไม่เห็นด้วย เพราะหากให้สกอ. เป็นกรม จะทำให้มีสถานะเล็กลง สายป่านการทำงานยาวขึ้น ซึ่งไม่ใช่เป้าหมาย เพราะเดิมเสนอตั้งเป็นกระทรวงการอุดมศึกษา เพื่อให้มีการบริหารงานที่เป็นอิสระ และคล่องตัว
อย่างไรก็ตาม พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้ขอให้กมธ.ไปปรับรายละเอียดให้สอดคล้องกับมติดังกล่าว ซึ่งแน่นอนว่า ไม่สามารถบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมของสนช. ได้ทันวันที่26-27 ก.พ.นี้ แต่สนข.ได้ขยายเวลาพิจารณากฎหมายต่างๆ ไปจนถึงวันที่ 15 มีนาคม เพราะฉะนั้นจึงคิดว่ามีเวลาเพียวพอ โดยคาดว่าจะเสนอให้สนช.พิจารณาในวาระ2และ3 ได้ภายในต้นเดือนก.พ.นี้
ด้านนายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าการเปลี่ยนแบบโยกไปโยกมาแสดงให้เห็นว่าเรื่องอุดมศึกษาตกผลึกไม่ดี เพราะจากระยะเวลาที่มีการเริ่มดำเนินการตั้งกระทรวงอุดมฯ ตั้งแต่ต้น มีหลักคิด หลักปรัญชา การดำเนินการค่อนข้างชัดเจนว่าเราต้องการที่แยกออกมา เพื่อที่จะทำภารกิจที่สำคัญของประเทศ และส่วนตัวมองว่าแม้จะไม่มีกรมอุดมศึกษาแล้ว และให้ไปอยู่ภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงอุดมฯ อาจจะยังไม่ตรงกับความต้องการของอุดมศึกษาที่แท้จริง แต่ก็ถือว่าดีขึ้น เพราะคิดว่าเรื่องที่สำคัญที่สุด คือ กระบวนการคิด ไม่ใช่แค่มีการทักทวงและก็มีการปรับเปลี่ยน แต่จะต้องดูไปถึงกระบวนการคิดของผู้ที่จะมาปฏิบัติงานตรงนี้ด้วยว่ามีกระบวนการคิดที่เข้าใจความเป็นตัวตนของกระทรวงใหม่มากน้อยเพียงใด ซึ่งคงต้องมีการสร้างความตระหนักในเรื่องนี้ให้มีความเข้าใจที่ตรงกัน ไม่เช่นนั้นก็มีการปรับไปเปลี่ยนมาโดยที่ไม่ทราบถึงความต้องการที่แท้จริง จุดยืนของอุดมศึกษาว่าคืออะไร เพราะหากฐานของการตั้งกระทรวงอุดมฯ ยังไม่มั่นคงแบบนี้ คิดว่าเป็นอาการที่น่าเป็นห่วงของกระทรวงใหม่ที่จะเกิดขึ้น