สั่งสอบรพ.เอกชน ย่านรามอินทรา ถูกร้องค่ารักษาแพงเกินจริง
อธิบดีกรมสบส. สั่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบโรงพยาบาลเอกชน ย่านรามอินทรา ถูกร้องเรียนคิดค่ารักษาอาการท้องเสียแพงเกินจริง ชี้สถานพยาบาลทุกแห่งจะต้องแสดงอัตราค่ารักษาพยาบาล ยา เวชภัณฑ์ ค่าบริการให้ชัดเจน
จากกรณีที่สื่อมวลชนเผยแพร่ข่าวถึงผู้ป่วยรายหนึ่งร้องเรียนผ่านสื่อว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม จากการถูกโรงพยาบาลเอกชน ย่านรามอินทรา เรียกเก็บค่ารักษาอาการท้องเสียแพงเกินจริง เป็นจำนวนเงินกว่า 30,000 บาทนั้น
ความคืบหน้ากรณีดังกล่าว นายแพทย์ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อตนได้ทราบถึงกรณีดังกล่าว ก็ได้สั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่จากสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ และกองกฎหมาย ร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง ณ โรงพยาบาลเอกชนที่ถูกร้องเรียน โดยมุ่งตรวจสอบในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ใน 3 ประเด็น ได้แก่
1.โรงพยาบาลมีการแสดงอัตราค่ารักษาพยาบาล ยา เวชภัณฑ์ ค่าบริการทางการแพทย์ ค่าบริการอื่นๆและสิทธิของผู้ป่วยให้เห็นชัดเจนที่จุดบริการ และจัดให้มีจุดสอบถามอัตราค่าบริการหรือไม่
2.โรงพยาบาลเก็บค่ารักษาพยาบาล ยา เวชภัณฑ์ ค่าบริการทางการแพทย์ ค่าบริการอื่นๆ เกินกว่าที่แสดงหรือไม่
3.แพทย์ผู้ให้บริการ มีการวินิจฉัยโรคเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพหรือไม่ เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ทั้ง 2 ฝ่าย หากตรวจพบว่าสถานพยาบาลไม่ติดป้ายแสดงอัตราค่ารักษาพยาบาล ยา เวชภัณฑ์ ค่าบริการทางการแพทย์ ค่าบริการอื่นๆและสิทธิของผู้ป่วย ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และหากเรียกเก็บค่ารักษาเกินอัตราที่แสดง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กล่าวว่า สำหรับปัญหาการร้องเรียนเกี่ยวกับอัตราค่ารักษาพยาบาลนั้น บ่อยครั้งเกิดเพราะขาดการสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่กับตัวผู้ป่วย หรือญาติ
ดังนั้นจึงฝากถึงผู้ประกอบกิจการ และผู้ดำเนินการสถานพยาบาลเอกชนทุกท่านขอให้มีการกำชับกับเจ้าหน้าที่ว่า ทุกครั้งก่อนจะทำการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลจากผู้ป่วย หรือญาติจะต้องสื่อสารทำความเข้าใจในอัตราค่ารักษาพยาบาลให้ชัดเจน มีการชี้แจงรายละเอียดอย่างตรงไปตรงมา รวมทั้ง เปิดช่องทางให้ประชาชนสามารถตรวจสอบหลักฐานการรักษาพยาบาลในกรณีที่มีข้อสงสัยในอัตราค่ารักษาพยาบาล หรือบริการอื่นๆ เชื่อว่าจะช่วยลดความเข้าใจผิด หรือข้อเคลือบแคลงต่ออัตราค่ารักษาพยาบาลได้