แนะพ่อแม่จัดเตียงนอนที่ปลอดภัย ป้องกันเด็กทารกตกเตียง แม่เบียดทับ
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะ พ่อแม่ ผู้ปกครอง เลือกและจัดเตียงนอนที่ปลอดภัย และท่านอนที่เหมาะสมสำหรับเด็กแรกเกิด–4 เดือน ป้องกันอันตรายจากอุบัติเหตุเด็กตกเตียง แม่นอนเบียดหรือทับโดยไม่รู้ตัว
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากกรณีข่าวลูกสาววัย 3 เดือนพลัดตกเตียงติดซองผนังข้างที่นอนเสียชีวิตนั้น เด็กทารกในวัยแรกเกิด–4 เดือน ถือเป็นวัยบอบบางที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องดูแลไม่ให้คลาดสายตา เพราะอาจจะเกิดอันตรายต่อเด็กได้ รวมถึงการนอนของเด็กด้วย หากเด็กนอนด้วยท่านอนที่ไม่เหมาะสม และที่นอนที่ไม่ปลอดภัยอาจเป็นสาเหตุให้เด็กอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้เช่นเดียวกัน จึงแนะนำให้เด็กแรกเกิด–4 เดือนพ่อแม่ควรจัดท่านอนที่เหมาะสม ที่นอนที่ปลอดภัย คือแยกที่นอนมาอยู่ด้านข้างผู้ใหญ่ด้วยระยะห่างประมาณเอื้อมมือถึง ไม่นอนระหว่างผู้ใหญ่หรือติดชิดกับผู้ใหญ่เพราะอาจเผลอนอนเบียดหรือทับเด็กจนหายใจไม่ออก หรือโดนผ้าห่ม หมอนของพ่อแม่ทับเด็กโดยไม่รู้ตัว ที่นอนเด็กควรสูงประมาณ 2 ฟุต หากจำเป็นต้องนอนด้วยเตียงนอน ควรมีที่กันตก รั้วขอบของเตียงต้องมีระยะห่างของซี่รั้วน้อยกว่า 15 เซนติเมตร และมีที่นอนที่พอดีกับเตียง ไม่มีช่องห่างระหว่างที่นอนกับขอบเพราะอาจเกิดการติดค้างของศีรษะที่ลอดผ่านซี่ราวหรือลอดผ่านรูช่องบนผนังรั้วรอบเตียง และการกดทับใบหน้า จมูก ในช่องห่างระหว่างเบาะที่นอนกับราวกันตก ที่นอนต้องไม่นิ่มเกินไป รวมถึงต้องระวังผ้าห่ม หมอน มุ้ง เพราะอาจปิดทับจมูกทำให้หายใจไม่สะดวกหรืออุดกลั้น ไม่ควรนั่งอุ้มจนหลับเพราะผู้ปกครองอาจจะเผลอปล่อยเด็กออกจากมือทำให้ตกลงมาได้
“ทั้งนี้ ท่านอนที่เหมาะสมสำหรับเด็กคือนอนด้วยท่านอนหงาย ไม่ใช่นอนคว่ำ เพราะอาจอุดกลั้นทางเดินหายใจ หากต้องการให้เด็กหัวทุย ก็จัดท่านอนตะแคงซ้ายและขวาสลับกันกันไป โดยให้เด็กนอนกอดหมอนข้างเพื่อป้องกันการคว่ำหน้า การจัดท่านอนของเด็กนั้นต้องดูช่วงอายุ และลองเปลี่ยนท่านอนให้เรื่อย ๆ เพื่อหาท่านอนที่เด็กนอนหลับสบายที่สุด โดยเด็กแรกเกิด–4 เดือน ควรนอนตะแคงหรือนอนหงาย เป็นท่าที่เหมาะกับพัฒนาการของกล้ามเนื้อคอที่ยังไม่ค่อยแข็งแรง ทำได้เพียงหันซ้ายและขวา สามารถมองเห็นสิ่งแวดล้อมรอบตัวและฝึกการมองได้ วัย 5–6 เดือน สามารถนอนคว่ำได้ และเด็กยกคอได้แล้วเพราะกระดูกคอเริ่มแข็ง แต่ยังต้องเฝ้าดูอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา เพราะอาจเกิดการอุดกลั้นการหายใจได้ และวัย 7-12 เดือน สามารถนอนได้ทุกท่าเพราะเด็กพลิกตัวด้วยตนเองได้แล้ว ที่สำคัญพ่อแม่ผู้ปกครองต้องสังเกตตัวเด็กและสภาพสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กอยู่เสมอ เช่น บนที่นอนของเด็กจะต้องไม่มีอะไรที่จะมาปิดหน้าได้ระหว่างที่นอนหลับอยู่ โดยเฉพาะเด็กที่มีนิสัยชอบคว้าสิ่งของรอบตัว” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ทางด้าน แพทย์หญิงนนธนวนัณท์ สุนทรา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอนามัยเด็กแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่าเด็กอายุเกิน 1 ปี ที่เริ่มยืนได้ ควรจัดให้นอนเตียงเด็กอย่างถูกวิธีคือ 1) เตียงเด็กต้องมีราวกันตกที่มีซี่ราวแนวตั้งตรง ไม่ใช่แนวนอน และห่างกันไม่เกิน 15 เซนติเมตร 2) ราวกันตกจะต้องมีตัวยึดแน่น เด็กไม่สามารถเหนี่ยวให้เคลื่อนไหวได้เอง ไม่อ้า ไม่เผยอ จนเกิดช่องห่างจากเตียงจนลำตัวเด็กลอดตกได้ 3) เบาะที่นอนต้องพอดีกับเตียงและไม่มีช่องว่างระหว่างเบาะกับราวกันตก 4) มุมเสาทั้ง 4 มุมต้องเรียบ มีส่วนนูนได้ไม่เกิน 1.5 มิลลิเมตร 5) ผนังเตียงด้านศีรษะและเท้าต้องไม่มีการตัดตกแต่งให้เกิดร่องและรู 6) จากขอบบนของเบาะที่นอนถึงราวกันตกด้านบนต้องมีความสูงไม่ต่ำกว่า 65 เซนติเมตร และ 7) เด็กที่มีความสูงเกินกว่า 89 เซนติเมตร มีความเสี่ยงต่อการปีนราวกันตกและตกจากที่สูงได้ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องระวังหากพบว่าเด็กแน่นิ่ง ตัวซีดหรือเขียวคล้ำ ให้จับเด็กนอนหงาย พยายามปลุก เรียก สังเกตการหายใจโดยดูการเคลื่อนไหวของหน้าอก หน้าท้อง ถ้าเรียกไม่รู้ตัวลักษณะเหมือนไม่หายใจ ให้กดทรวงอกบริเวณ สันอกทันที สลับกับการเป่าปากหรือเป่าจมูก-ปากเด็กในเวลาเดียวกันและรีบตามหน่วยฉุกเฉิน 1669 เพื่อนำส่งโรงพยาบาลให้ทันเวลาต่อไป