อย.ไฟเขียวผู้ผลิตกัญชาใต้ดินจับคู่องค์กรรัฐร่วมทำวิจัย

อย.ไฟเขียวผู้ผลิตกัญชาใต้ดินจับคู่องค์กรรัฐร่วมทำวิจัย

อย.ไฟเขียวผู้ผลิตกัญชาใต้ดินจับคู่องค์กรรัฐร่วมทำวิจัย เชื่อได้องค์ความรู้-ผู้ป่วยมียาจากกัญชาใช้ต่อเนื่อง

วานนี้(26 เม.ย.) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ให้สัมภาษณ์ภายหลังหารือร่วมกับหน่วยงานต่างๆเพื่อดำเนินการจับคู่การวิจัยระหว่างหน่วยงานรัฐที่กฎหมายอนุญาตและผู้ที่ผลิตยาจากกัญชาอยู่ในปัจจุบันว่า มีมหาวิทยาลัยจากทุกภูมิภาคให้ความสนใจที่จะเข้าร่วมกันในการวิจัยกัญชาทั้งภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยนเรศวร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ภาคใต้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รวมถึง โรงเรียนแพทย์ทั้งจุฬาลงกรณ์ ศิริราชและรามาธิบดี โดยสามารถที่ประสานความร่วมมือกับผู้ผลิตยาจากกัญชาที่มีการผลิตอยู่ในปัจจุบัน แล้วดำเนินการเป็นลักษณะโครงการวิจัยร่วมกัน ซึ่งเมื่อตกลงร่วมกันแล้วเรียบร้อยก็เสนอโครงการขออนุญาตวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เพื่อดำเนินการได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย


"การดำเนินการในลักษณะจับคู่วิจัยหรือแมชชิ่งเช่นนี้ จะทำให้ผู้ผลิตทำได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ขณะเดียวกันเกิดองค์ความรู้มากมายในเรื่องของการผลิตกัญชาทางการแพทย์ ที่สำคัญ จะทำให้ผู้ป่วยที่ใช้ยากัญชาอยู่แล้วมียาใช้ต่อเนื่องต่อไป โดยเข้าร่วมเป็นกลุ่มตัวอย่างในการวิจัยและมีความปลอดภัยมากขึ้น จากการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาที่ถูกตรวจคุณภาพแล้ว ส่วนในอนาคต จะนำฐานข้อมูลจากผู้ที่แจ้งครอบครองกัญชาทั่วประเทศ มาใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการพิจารณาถึงอัตราความต้องการใช้กัญชาทางการแพทย์ จากนั้นอาจจะพิจารณาการผลิตเป็นรายพื้นที่ตามที่มีผู้แจ้งครอบครอง โดยประสานกับหน่วยงานต่างๆในพื้นที่นั้นๆในการผลิตเพื่อผู้ป่วย ดังนั้น การแจ้งครอบครองของผู้ที่ต้องการใช้กัญชาทางการแพทย์จึงมีความสำคัญมาก ในการเป็นฐานข้อมูลฝนการพิจารณาเรื่องต่างๆ จึงอยากให้ประชาชนมาแจ้งครอบครองได้จนถึงวันที 19 พ.ค.2562 โดยปัจจุบันมีคนแจ้งครอบครองแล้ว 6,000 กว่าราย"นพ.ธเรศกล่าว


ด้านนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้สภาฯ มีสมาชิกทั่วประเทศกว่า 2,300 คน และมีเครือข่ายต่างๆ ที่เป็นผู้ผลิตกัญชาอีกกว่า 10 เครือข่าย ทั้งในรูปแบบการใช้ต้ม คั้น สกัดและป่น จึงอยากให้ ทุกเครือข่ายดำเนินการขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องโดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกดำเนินการใดๆ เนื่องจากเมื่อขึ้นทะเบียนแล้วมีช่องทางให้ดำเนินการได้อย่างถูกกฎหมายด้วยการร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐที่กฎหมายอนุญาตเพื่อดำเนินการในลักษณะการจับคู่เป็นโครงการวิจัย ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ผลิตที่เคยดำเนินการแบบลับๆ สามารถผลิตได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยก็จะมียาจากกัญชาใช้ต่อไป ที่สำคัญจะทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้มีการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานมากขึ้น มีความปลอดภัยในการนำไปใช้ ถือว่าเกิดประโยชน์ในภาพรวมต่อทุกฝ่าย