แจ้งเกิดกิมจิแห่งสยาม 'ผักเสี้ยนดอง'
แจ้งเกิดกิมจิแห่งสยาม เผยผักเสี้ยนดอง ผักพื้นบ้านยอดฮิตในช่วงต้นฤดูฝน อุดมไปด้วย “โปรไบโอติกส์”
นายแพทย์สรรพงศ์ ฤทธิรักษา รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เปิดเผยว่าสมุนไพรชนิดหนึ่งที่มีความโดดเด่นในช่วงต้นฤดูฝน คือ ผักเสี้ยน ทางตำราการแพทย์แผนไทยแบ่งผักเสี้ยนออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ ผักเสี้ยนผี และผักเสี้ยนไทย ผักเสี้ยนผี แพทย์แผนไทยจะนิยมนำมาปรุงเป็นยารักษาโรค ส่วนผักเสี้ยนไทยนิยมนำมาประกอบอาหารรับประทาน ซึ่งผักเสี้ยนทั้ง 2 ชนิด มีสรรพคุณที่คล้ายกันคือ ช่วยบำรุงร่างกาย ระบายท้อง ช่วยให้เลือดลมไหลเวียนได้สะดวก ผักเสี้ยนเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ร้อน เมื่อรับประทานเข้าไปจะช่วยแก้ปวดเมื่อย ช่วยทำให้ผิวพรรณสดใส และช่วยบำรุงสายตา จากการศึกษาข้อมูลทางโภชนาการพบว่า ผักเสี้ยนมีวิตามินเอและวิตามินซีสูงรวมถึงแร่ธาตุต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น แคลเซียม และธาตุเหล็ก เมื่อนำผักเสี้ยนมาประกอบอาหารโดยวิธีการดองนั้นวิตามินและแร่ธาตุจะไม่สลายไป เนื่องจากวิธีการดองทำให้เกิดสภาพที่เป็นกรด สามารถช่วยลดการระเหยของวิตามินซีได้มากกว่าการต้มที่ใช้ความร้อน นอกจากนี้ ผักเสี้ยนดองยังเป็นอาหารที่อุดมไปด้วยจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย คือ “โปรไบโอติกส์” ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่มีอยู่ในลำไส้มนุษย์ ช่วยต่อต้านเชื้อโรคที่เข้ามาในร่างกาย จึงอยากแนะนำคนรุ่นใหม่ได้รู้จักและใช้ประโยชน์ของผักพื้นบ้าน อาหารเป็นยากัน มีผลช่วยให้ระบบทางเดินอาหารทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
วิธีการดองผักเสี้ยนแบบพื้นบ้าน มีขั้นตอนดังนี้ 1. นำยอดอ่อนของผักเสี้ยนมาผึ่งแดดให้สลบ แล้วนำไปล้างน้ำให้สะอาด 2. นำมานวดเบา ๆ ผสมกับเกลือเล็กน้อย ระหว่างนวดหมั่นใส่น้ำลงไปเล็กน้อย เพื่อไม่ให้ผักแห้งจนเกินไป นวดจนกลิ่นเหม็นเขียวออกมาและกลิ่นฉุนหายไป 3. นำไปตากแดดจัด ประมาณ 5 นาที 4. เตรียมน้ำซาวข้าว เกลือ น้ำตาลทรายขาว ละลายให้เข้ากันดี รสชาติเค็มหวานเล็กน้อย ผสมในผักเสี้ยนที่เตรียมไว้ให้พอท่วม แล้วปิดฝาภาชนะให้สนิท 5. นำไปตากแดดแรงจัด 5 – 10 นาที ช่วงเย็นก็สามารถนำมารับประทานได้ หากมีอาการไอ มีเสมหะ สามารถนำน้ำผักเสี้ยนดองผสมกับน้ำผึ้งอย่างละเท่า ๆ กัน จิบเพื่อแก้ไอ แต่ควรเป็นน้ำผักเสี้ยนดองที่ทำเองที่บ้าน เพราะจะได้มั่นใจว่าสะอาด ปลอดภัย