กศจ.-เขตพื้นที่ตัดสินรับนร.แข่งขันสูงสอบ 100%
บอร์ดกพฐ.เห็นชอบหลักการ รับนักเรียนให้กศจ.-สพท.บริหารจัดการ ส่วนสพฐ.จะกำหนดเกณฑ์นักเรียนต่อห้อง เบื้องต้นอนุบาล 30 คน มัธยมศึกษาไม่เกิน 40 คนต่อห้อง ส่วนโรงเรียนแข่งขันสูง 35 คนต่อห้อง
เมื่อวันที่ 12 ก.ค.62 นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุม กพฐ. ว่า ที่ประชุมได้มีการหารือเกี่ยวกับนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน สังกัด สพฐ. ปีการศึกษา 2563 โดยเห็นชอบในหลักการและแบ่งชัดว่าบางโรงเรียนที่มีศักยภาพสูง เขตบริการคงเป็นเขตบริการทั้งประเทศ เช่น โรงเรียนเตรียมอุดม ต้องเป็นเขตบริการทั้งประเทศ ที่ใครจะสอบก็ได้ แต่โรงเรียนที่มีศักยภาพอื่นๆ อาจจะเขตบริการทั้งประเทศ หรือเฉพาะจังหวัดก็แล้วแต่การบริหารจัดการ ศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) และ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) รวมถึงเห็นด้วยที่ต้องล็อค กำหนดจำนวนนักเรียนล็อค เช่น อนุบาล30 คน มัธยมศึกษาไม่เกิน40คนต่อห้อง ส่วนโรงเรียนแข่งขันสูง35คนต่อห้อง เพราะถ้ารับแข่งขันสูง 35 คนต่อห้อง เด็กที่เหลือจะได้ไปเข้าเรียนในโรงเรียนอื่นได้
ทั้งนี้ สำหรับโรงเรียนแข่งขันสูงสนับสนุนให้สอบ 100% ที่ประชุมกพฐ.เห็นด้วยที่สพฐ.กระจายอำนาจให้ กศจ.และสพท.ดูแลเรื่องเหล่านี้ เพราะเป็นเรื่องระดับพื้นที่มากกว่าส่วนกลาง เพื่อให้กำหนดทุกอย่างเหมาะสมตามบริบทของโรงเรียน ส่วนการจัดสอบนั้น อาจจะต้องให้มีการดำเนินการจัดสอบก่อนโรงเรียนอื่นๆ เพื่อที่เปิดโอกาสให้เด็กที่สอบไม่ได้ ได้เข้าเรียนในโรงเรียนอื่นๆ ตามหลักการของสพฐ.ที่เด็กทุกคนต้องมีที่เรียน ส่วนของสพฐ.จะจัดทำหนังสือแจ้งไปยังกศจ.และเขตพื้นที่การศึกษา ในเรื่องของกฎหมายเกี่ยวกับการเรื่องนักเรียนว่ามีอะไรบ้าง นโยบายการทำงาน และสัดส่วนจำนวนนักเรียนต่อห้อง และปฎิทินการรับนักเรียนเพื่อป้องกันการวิ่งรอกสอบ
นายเอกชัย กล่าวต่อว่า ที่ประชุมกพฐ.ได้มีการหารือถึงโครงการอาหารกลางวัน ซึ่งสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีการพูดคุยเรื่องนี้ ถึงการได้มาซึ่งโครงการอาหารกลางวันว่ามีกี่วิธี เช่น การจ้างเหมาทำ หรือโรงเรียนจะทำเอง และมีการพิจารณาถึงอาหารกลางวัน 20 บาทต่อคนนั้น ไม่ต้องเป็นต้องใช้การประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ให้ดูความเหมาะสม เพราะจริงๆแล้ว โครงการอาหารกลางวัน 20บาทต่อคนอาจจะเพียงพอหรือไม่เพียงพอ ทั้งนี้ สพฐ.ได้มีการสำรวจเกี่ยวกับค่าอาหารกลางวัน 20 บาทต่อคน เบื้องต้น พบว่า โรงเรียนที่มีนักเรียน 200 คนขึ้นไป ค่าอาหารกลางวัน 20บาทต่อคน ไม่มีปัญหา แต่ถ้าโรงเรียนที่มีนักเรียน30-40 คน อาจจะมีปัญหา ซึ่งสพฐ.ได้ให้ข้อมูลดังกล่าวไปแล้วว่าต้องไปคิดว่าขั้นต่ำของอาหารกลางวันนักเรียนควรจะเท่าไร
"อาหารกลางวัน ไม่ควรจะเอา 20 บาทต่อคน ผูกกับนักเรียนทุกคน เพราะโรงเรียนไหนที่มีนักเรียนจำนวนมาก อาจจะลดเงินค่าอาหารจาก 20 บาทต่อคน เหลือ 15-18 บาทต่อคน ขณะที่โรงเรียนทีเด็กน้อย มีประมาณ 30 คน ควรจะเพิ่มค่าอาหารกลางวัน เป็น 25 บาทต่อคน โดยนำเงินส่วนที่ลดจากโรงเรียนขนาดใหญ่ มาให้โรงเรียนขนาดเล็กที่มีเด็กน้อย ซึ่งถ้าทำแบบนี้ งบไม่เปลี่ยน งบจะเท่าเดิม อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าวเป็นเพียงแนวคิด เนื่องจากเงินไม่ได้ผ่านมายังสพฐ. เพราะเงินไปทางท้องถิ่น จึงไม่ได้เป็นระเบียบจากสพฐ. แต่เรื่องนี้ สพท.ควรไปหารืออย่างจริงจัง เปิดโอกาสไม่ต้องให้ทำการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ เพราะจริงๆ ไม่ควรทำ เนื่องจากอาหาร 20บาทต่อคน ควรจัดเต็ม เพื่อคุณภาพอาหารจัดเต็ม" นายเอกชัย กล่าว
นอกจากนั้น ที่ประชุม กพฐ. ได้ฝากสพฐ.ไปดูขั้นตอน สร้างความเข้าใจกับผู้อำนวยการโรงเรียน ว่าไม่ควรใช้วิธีการเปิดประมูล ควรใช้วิธีการให้ผู้ที่เหมาแล้วมาดูว่า20 บาทจะทำอาหารกลางวันอะไรบ้าง แล้วกระบวนการคัดเลือกผู้รับเหมาทำอาหารกลางวัน ให้กรรมการโรงเรียน กรรมการนักเรียน ชุมชน เข้ามาร่วมเลือกก็จะทำให้ดีขึ้น