แจ้งเตือนระดับน้ำจะเพิ่มสูง จากการปล่อยน้ำของเขื่อนไซยะบุรี
สปป.ลาวแจ้งเตือนระดับน้ำที่จะเพิ่มสูง จากการปล่อยน้ำของเขื่อนไซยะบุรี เขื่อนแรกบนแม่น้ำโขงตอนล่าง ส่วนในประเทศไทยยังไม่มีรายงานแจ้งเตือนแต่อย่างใด
สำนักข่าวชายขอบ (Transborder News) ได้รายงานว่า เวบไซต์ข่าวภาษาลาว Laoedaily ได้รายงานการแจ้งข่าวด่วนให้ชาวบ้านเมืองปากลาย ประเทศลาวเฝ้าระวังระดับน้ำโขงที่จะผันผวนระหว่างวันที่ 15-29 กรกฎาคมนี้ เนื่องจากการปิดเปิดประตูระบายน้ำของเขื่อนไซยะบุรีซึ่งอยู่ในขั้นตอนการทดลองการปั่นกระแสฟ้า และอาจทำให้ระดับน้ำโขงสูงขึ้นและลดลงอย่างรวดเร็ว
ดังนั้นจึงได้มีการแจ้งข่าวเพื่อให้ส่วนการปกครองบ้าน ได้แจ้งต่อพี่น้องประชาชนที่อยู่ในความรับผิดชอบต่อไป ตลอดถึงนักธุรกิจ พ่อค้าแม่ค้า พนักงาน ทหารตำรวจ นักเรียนนักศึกษาให้ระมัดระวัง เช่น เรือแพ เครื่องจักร สิ่งปลูกสร้าง ทรัพย์สินและอื่นๆ ที่อยู่ริมแม่น้ำโขงให้นำขึ้นไปไว้ในที่ปลอดภัย
พร้อมกันนั้นก็ขอให้มีความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพื่อละเว้นไม่ให้เกิดอุบัติเหตุและเฝ้าระวังปัญหาที่จะเกิดจากระดับน้ำที่จะสูงขึ้นและลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงทดลอง ปิด-เปิด ประตูระบายน้ำของเขื่อนไซยะบุรี
ส่วนในประเทศไทยยังไม่มีรายงานการแจ้งเตือนดังกล่าว สำนักข่าวชายขอบระบุ
ทั้งนี้ แม่น้ำโขงในเขตประเทศไทยตั้งแต่อำเภอเชียงคาน ปากชม สังคม ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย มีระดับน้ำแม่น้ำโขงแห้งขอดเป็นอย่างมาก เกาะแก่งโผล่พ้นน้ำ ต้นไคร้น้ำกำลังยืนต้นตายเนื่องจากถูกน้ำท่วมในช่วงหน้าแล้งที่ผ่านมา ชาวบ้านริมโขงต่างพากันวิตกกังวลเรื่องระดับน้ำที่แห้งลง เนื่องจากหลายหมู่บ้านและอำเภอได้พึ่งพาแม่น้ำโขงเป็นแหล่งผลิตน้ำประปาหลัก สำนักข่าวรายงาน
เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ประเทศไทยและพม่า Internatinal Rivers กล่าวว่า เขื่อนจีนที่สิบสองปันนา ประกาศลดการระบายน้ำลงเหลือครึ่งเดียว และอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้แม่น้ำโขงแห้งแล้งแล้งผิดฤดูกาล ไปจนถึงอีสาน
เพียรพรได้โพสต์ข้อสังเกตในเฟสบุ๊คว่า เขื่อนแม่น้ำโขงตอนบนในจีนยูนนาน เริ่มสร้างตั้งแต่ปี 2536 โดยสร้างเสร็จไปแล้ว 10 เขื่อน จากที่วางแผนไว้ทั้งหมด 28 โครงการ โดยเขื่อนใหญ่สุดในเวลานี้ จุน้ำได้ถึง 14 ลูกบาศก์กิโลเมตร
ในช่วงระยะเวลา 20 กว่าปีที่ผ่านมา IR ได้ติดตามผลกระทบของเขื่อนและพบว่าเกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศน์ค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะที่พรมแดนไทยลาวตอนบน โดยแม่น้ำโขงขึ้นลงผิดธรรมชาติ
ส่วนแม่น้ำโขงตอนล่างเอง มีแผนก่อสร้าง 11 โครงการเขื่อน ในลาว พรมแดนไทยลาว และในกัมพูชา โดยมีเขื่อนไซยะบุรี Xayaburi dam กำลังผลิตติดตั้ง 1,285 เมกกะวัตต์เป็นเขื่อนแห่งแรกที่สร้างกั้นแม่น้ำโขงตอนล่างที่ประเทศลาว ห่างจากหลวงพระบางราว 80 กม. และห่างจาก อ.เชียงคาน จ.เลย ราว 200 กม.
เขื่อนไซยะบุรี เป็นการลงทุนของบริษัท ช.การช่าง มูลค่าราว 1.5 แสนล้านบาท โดยมีธนาคารไทย 6 แห่งเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อ ทำสัญญาขายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 1,220 เมกกะวัตต์ เป็นเวลา 29 ปี และจะเริ่มขายไฟฟ้าตามสัญญาเดือนตุลาคมนี้
เขื่อนได้มีการแก้ไขแบบ (designs) โดยเฉพาะทางปลาผ่านและทางเรือผ่านเพิ่มเติม เพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบเรื่องการอพยพของปลา และระบบระบายตะกอน หลังมีการหยิบยกประเด็นข้อห่วงใยถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของแม่น้ำโขงโดยภาคประชาสังคมลุ่มน้ำโขง
แต่เพียรพรกล่าวว่า คณะกรรมธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission) ได้จัดทำรายงาน Reviews of Design Changed made for Xayaburi Hydropower หรือ รายงานความเห็นการทบทวนการแก้ไขแบบของเขื่อนไซยะบุรี และการวิเคราะห์ตามแนวทางการลดผลกระทบของโครงการเขื่อน (Mekong River Commission’s Mitigation Guideline) ก็ยังชี้ว่า ผลกระทบสำคัญจากเขื่อนสามารถบรรเทาได้เพียงบางส่วนเท่านั้น และผลกระทบที่เหลืออยู่อาจจะต้องใช้เวลา 20-30 ปี
รายงานยังได้ระบุว่า ข้อมูลยังไม่เพียงพอที่จะประเมินผลอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประสิทธิภาพของมาตรการบรรเทาผลกระทบต่างๆ เพราะไม่มีการส่งข้อมูลเกี่ยวกับหลักการบริหารจัดการเขื่อน ซึ่งเพียรพรกล่าวว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดว่าผลกระทบจะรุนแรงแค่ไหน
ในปี พ.ศ. 2555 เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ฟ้องต่อศาลปกครอง ประเด็นข้อห่วงใยเรื่องผลกระทบข้ามพรมแดนของเขื่อนไซยะบุรี
ศาลปกครองชั้นต้นไม่รับพิจารณาคดี แต่ผู้ฟ้องคดีได้ร่วมกันอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ใน ปี พศ.2559 ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาคดี
(ภาพเขื่อนไซยะบุรี จากเวบไซต์ laoedaily)